แพทยสมาคมฯ แถลงการณ์ คัดค้าน บุหรี่ไฟฟ้า ถูกกฎหมาย

แพทยสมาคมฯ แถลงการณ์ คัดค้าน บุหรี่ไฟฟ้า ถูกกฎหมาย เนื่องจาก รมว.ดีอีเอส เตรียมดัน บุหรี่ไฟฟ้า ให้ถูกกฎหมาย จนเป็นกระแสในสื่อสังคมออนไลน์

จากกระแส รมว.ดีอีเอส เตรียมดัน บุหรี่ไฟฟ้า ให้ถูกกฎหมาย ซึ่งสื่อสังคมออนไลน์ต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมา ล่าสุดมีความคืบหน้าจากแพทยสมาคมฯ ได้ออกแถลงการณ์ คัดค้านบุหรี่ไฟฟ้า ถูกกฎหมาย โดยระบุข้อมูล ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ต่างๆ ความยาวมากกว่า 3 หน้ากระดาษ

อีจันโพลล์ สำรวจความเห็น สังคมคิดยังไง บุหรี่ไฟฟ้า ควรถูก กฎหมาย ?
แถลงการณ์ของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
วันที่ 5 ตุลาคม 2564

โดยข้อความต้นฉบับในแถลงการณ์ แพทยสมาคมฯ ระบุว่า

ตามที่ได้มีข่าวในสื่อมวลชนจำนวนมากว่า ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์) ได้เสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันอังคารที่ 28 กันยายน 2564 ให้พิจารณาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมาย สามารถจำหน่ายได้โดยทั่วไป โดยอ้างเหตุผลว่า อ.ย. สหรัฐ (US FDA) อนุญาตให้ IQOS เป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิด Modifed Risk Tobacco Products (MRTP) และมีจำหน่ายสแล้วใน 67 ประเทศ และเสนอให้มีการพิจารณาผลิตบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น

แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับคณะแพทย์จากราชวิทยาลัย 14 แห่ง เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ และสมาพันธ์เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ ขอเรียนชี้แจ้งข้อมูลต่อประชาชน สื่อมวลชน คณะรัฐมนตรี และโดยเฉพาะท่านนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ (นายชัยวุฒิ ธนาคมนุสรณ์) ด้วยข้อมูลอันเป็นที่ประจักษ์ ดังนี้

1.บุหรี่ไฟฟ้า (E Cigarette) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่สินค้าปกติที่อุตสาหกรรมผู้ผลิตยาสูบ ผลิตขึ้นมาเพื่อเสริมการตลาด และทดแทนบุหรี่มวนจากใบยาสูบเดิมที่กำลังได้รับการพิสูจน์ว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำลายสุขภาพอย่างชัดเจนด้วยผลการวิจัยที่ดำเนินการอยู่ทั่วโลก

2.บุหรี่ไฟฟ้า เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเอาสารสกัด นิโคติน (Nicotine) จากใบยาสูบมาผสมในน้ำ โดยมีตัวทำลายเพื่อให้น้ำมันที่ใช้สกัดสามารถกระจายอยู่ในน้ำได้และเติมกลิ่นจากสารสกัดดอกไม้และผลไม้ ทำให้มีกลิ่นหอม เพิ่มความนิยม

3.นิโคติน (Nicotine) เป็นสารเสพติด (Potent Addictive) และมีผลทำให้เกิดการอักเสบและตีบตันของหลอดเลือดในระบบการไหลเวียนและหัวใจ (Cardio vascular System)

4.ในน้ำยาที่ใช้ควบคู่กับบุหรี่ไฟฟ้า (E juice หรือ E liquid) และกระบวนการเผาไหม้จากขดลวดให้ความร้อนมีสารก่อมะเร็งหลายชนิดเกิดขึ้นด้วย

5.สารนิโคติน (Nicotine) เป็นสารเสพติดที่ทำให้ผู้ใช้เสพติดและจะมีโอกาสเลิกได้ยากมาก และเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ ที่ต้องการการรักษาที่มีราคาแพงและเรื้อรัง ทำลายสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน และผู้ใช้ผลิตภัณฑ์นี้ รวมทั้งผู้ใกล้ชิดที่จะได้รับไอสารพิษนี้ร่วมด้วย

6.จำนวนความเข้มข้นของสารนิโคติน (Nicotine) ในน้ำยาที่ใช้ยาสูบ (E juice หรือ E liquid) มีแตกต่างกันและยากต่อการควบคุม ยิ่งเข้มข้นมาก การติดยายิ่งรุนแรง และโรคที่เกิดจากสารนิโคตินนี้ ก็จะมีความรุนแรงไปด้วย

7.อุตสาหกรรมผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้า มีการดำเนินการทางการตลาดเพื่อขยายผลการจำหน่ายในหลายรูปแบบ เช่น

7.1 ให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เช่น ให้ข้อมูลว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถใช้ทดแทน และทำให้สามารถเลิกบุหรี่มวนได้ แต่ไม่ได้กล่าวต่อให้ครบว่า แล้วเมื่อเปลี่ยนมาติดบุหรี่ไฟฟ้าแล้วจะเลิกอย่างไร?

7.2 โฆษณาสินค้าด้วยการสร้างรูปแบบอุปกรณ์ ทั้งรูปร่าง สีสัน และกลิ่น ให้เป็นที่ดึงดูด เป็นแฟชั่น เป็นการชักนำเยาวชน เข้าเป็นลูกค้า

7.3 ทำการโฆษณาสินค้าในสื่อ Online ที่เย้ายวนให้มีการใช้ในเยาวชน

8.มีข้อมูลที่ชัดเจนจากประเทศที่อนุญาตให้มีการสูบแบบถูกกฎหมาย เช่น สหรัฐอเมริกาว่าเยาวชนมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งในระดับมัธยมต้น และมัธยมปลาย โดยที่เยาวชนเหล่านี้ไม่ใช่นักสูบหน้าเก่า (ผู้เคยสูบบุหรี่มวนมาก่อน) แต่ล้วนเป็นนักสูบหน้าใหม่ อันเป็นผลจากการให้ข้อมูลและการประชาสัมพันธ์ ที่มอมเมาเยาวชนทั้งสิ้น นอกจากนั้นในกลุ่มนี้ยังพบว่า ส่วนหนึ่งกลายเป็นผู้ที่มีการสูบควบกันทั้ง 2 อย่าง (Dual Smokers) ในที่สุด

9.ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า มิใช่ผู้ที่สูบบุหรี่มวนอยู่เดิม และต้องการเลิกสูบเท่านั้น แต่ยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่ได้รับอิทธิพลจากการตลาดและการที่สามารถเข้าถึง และหาซื้อได้ของบุหรี่ไฟฟ้า และทำให้กลายเป็นผู้ติดยาเสพติดนโคติน (Nicotine) จากบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนที่มักได้รับการยั่วยุได้ง่าย

10.บุหรี่ไฟฟ้าไม่เพียงแต่สร้างผลเสียต่อประเทศชาติในทางเศรษฐกิจ (ประชาชนต้องหาซื้อ หรือเจ็บป่วยขาดความสามารถในการทำงาน) แล้วยังสร้างผลร้ายต่อการรักษาสุขภาพของประชาชน และรัฐฯ ต้องมีค่ารักษาพยาบาลจากโรคอันเกิดจากพิษภัยของนิโคติน (Nicotine) ในบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าด้วย

11.ประเทศไทยได้มีการลงนามในความร่วมมือกับอีก 181 ประเทศ ในข้อตกลงความร่วมมือ FTCT ของ WHO ไว้แล้วที่จะร่วมมือกันลดจำนวนคนสูบบุหรี่

แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และองค์กรร่วมข้างต้น ขอขอบพระคุณท่านนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ที่ท่านมีวิสัยทัศน์ในการปกป้องสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน โดยไม่เปิดโอกาสให้มีการพิจารณาเรื่องที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เสนอ และขอเรียนเพิ่มเติมว่า คณะแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุขและสุขภาพ มีความภาคภูมิใจที่ประเทศไทย โดยคณะรัฐมนตรีได้กรุณาพิจารณาและผ่านกฎหมาย พรบ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยากสูบ พ.ศ.2560 กฎกระทรวงพาณิชย์ และประกาศต่าง ๆ มาบังคับใช้ เพื่อปกป้องให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ส่วนในกรณีที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ (นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์) อ้างถึงว่ามี 67 ประเทศ อนุญาตให้มีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าได้นั้น เราขอให้ท่านได้กลับไปทบทวนคำอนุญาตของประเทศเหล่านั้นว่า แต่ละประเทศล้วนมีข้อแม้

และข้อบ่งชี้ในการใช้ทั้งสิ้น มิใช่ขายได้อย่างอิสระ และยังมีประเทศอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่อนุญาต (Ban) ให้มีการจำหน่าย ด้วยเหตุผลว่าเขาต้องการปกป้องสุขภาพของประชาชนของเขาด้วยกระบวนการ ป้องกัน ดีกว่าแก้

ดังนั้นแพทยสมาคมฯ และองค์กรร่วม จึงขอคัดค้านอย่างเต็มที่
ในการที่จะมีการพิจารณาให้มีการยกเลิกประกาศของกระทรวงพาณิชย์ในการห้ามนำเข้า และจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย และขอเชิญชวนให้มีการต่อต้านการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เป็นกำลังใจในการช่วยกันพัฒนาประเทศชาติต่อไป

ส่วนการเลิกสูบบุหรี่นั้นไม่จำเป็นต้องพึ่งหรืออาศัยบุหรี่ไฟฟ้า หากต้องการเลิกสูบจริง ๆ ทางเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และเครือข่ายต่าง ๆ มีวิธีการและกำลังดำเนินการช่วยเหลืออยู่อย่างเต็มกำลัง ทั้งให้คำปรึกษา และการจัดหายาเลิกบุหรี่ให้ ท่านสามารถปรึกษาได้ที่สายด่วนเลิกบุหรี่ โทรศัพท์ 1600 (โทร.ฟรีทุกเครือข่าย) คลินิกฟ้าใส 544 แห่งทั่วประเทศ และที่หน่วยบริการทางการแพทย์ทุกแห่ง ที่ต้องรีบทำก่อนคือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และต้องให้ความกระจ่างที่ชัดเจนกับประชาชน ทั้งที่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอยู่แล้ว หรือยังไม่สูบ ตระหนักว่า สิ่งที่ร่างกายต้องการจากลมหายใจเข้าปอด คือ อากาศบริสุทธิ์ เท่านั้น