เปิดใจ “ปวีณา หงสกุล” ชีวิต งาน และน้องชายผู้เดินตามรอยแม่พระ

อีจัน ไลฟ์ ทอล์ก สัปดาห์นี้ พาไปเจาะชีวิตสองพี่น้องตระกูลหงสกุล ปวีณา หงสกุล และเอกภาพ หงสกุล ผู้มีความสามารถทั้งบู๊ทั้งบุ๋น

อีจัน Life Talk ปวีณา หงสกุล : ชีวิต งาน และน้องชายผู้เดินตามรอยแม่พระ

อีจันไลฟ์ทอล์กสัปดาห์นี้ เจาะชีวิตสองพี่น้องตระกูลหงสกุล ผู้มีความสามารถทั้งบู๊ทั้งบุ๋น

คุณปวีณา หงสกุล แห่งมูลนิธิปวีณาเพื่อเด็กและสตรี ผู้ที่ใคร ๆ ต่างเรียกว่า “แม่พระของคนยาก” แม้จะอยู่ในวัยเกิน 70 แต่ความกระฉับกระเฉงกระตือรือร้นที่จะช่วยผู้คนมิได้ลดลงเลย หากกลับเชี่ยวชาญตัดสินใจฉับไวขึ้น

โดยมีน้องชายคนสุดท้องเป็นดังผู้ช่วย เลขา ทีมงาน และเดินตามรอยที่จะทำงานช่วยเหลือผู้คนอย่างไม่ลดละ

กว่าจะถึงวันนี้ของคุณปิ๊ก บนเส้นทางการทำงานที่ยืนยันว่า “ไม่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบ” เริ่มต้นด้วยการศึกษาที่คนในยุคก่อนนิยมส่งบุตรธิดาไปมาเลเซีย เพราะใกล้บ้านแต่ได้เรียนภาษาอังกฤษ

พ่อแม่ส่งไปเรียนที่ปีนังค่ะ เรียนคอมเมิร์ช กลับมาปั๊ป เราก็ตั้งใจจะเรียนต่ออเมริกา อยากทำงานสถานทูต เปิดหนังสือพิมพ์ของฝรั่งเค้ารับสมัคร ก็เลยไปสมัครแล้วก็ได้เข้าไป แล้วทำงานอยู่หกเดือน ก็ไปเรียนต่อ ความใฝ่ฝันของตัวเองคืออยากเป็นผู้จัดการธนาคาร พอกลับมาปั๊บก็ไปสมัคร การสมัครก็ต้องรอนะคะ หลังจากนั้นคือเป็นคนที่อยู่ว่างไม่ได้ ไม่ชอบที่จะนั่งรอนอนรอ ก็ไปเปิดหนังสือพิมพ์ฝรั่งอีกค่ะ เขารับสมัคร assistant sales manager (ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขาย) บริษัทแมกกาซีนของไทย แล้วก็มีสาขาที่สิงคโปร์ ก็ไป เขารับเราเลย เป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขาย

จังหวะนี้ ธนาคารที่สมัครงานไว้ ตอบรับ

“เราทำงานได้ประมาณสี่เดือน ก็ไปลาออก เจ้าของก็ไม่ยอมให้ออก บอกว่าขึ้นเงินเดือนเป็นหมื่นนึง สมัยก่อนก็เยอะนะ ตอนแรกได้หกพันบาท แล้วก็บอกว่าขึ้นให้หมื่นนึง และให้เป็นเซลล์เมเนเจอร์เลย แล้วคุมที่สิงคโปร์ด้วย แล้วก็ให้รถอีกคัน เราก็ต้องขอบคุณนะ จริงๆ อยู่กับเขาก็สบาย คือเราได้ไปประชุมกับพวกผู้จัดการต่าง ๆ สายการบินต่าง ๆ อะไรอย่างนี้ค่ะ เป็นงานอินเตอร์ ซึ่งมันก็เข้ากับเราที่เราไปเรียนเมืองนอกมานะ ภาษาเราก็ได้ คุยกับคนก็ได้

แต่สิ่งที่ใฝ่ฝันมาตลอดชีวิตคือการทำงานธนาคาร  ก็เลยไปทำงานธนาคาร ได้สองพันห้าร้อยบาท แล้วก็เป็นพนักงานชั้นกลางเท่านั้น ทำงานธนาคารไปเรื่อย ๆ สองปีก็มีการสอบ  ก็ได้ผูู้ช่วยผู้จัดการสาขาลาดพร้าว อีกสามปีก็มาเป็นผู้จัดการ

แต่การเป็นผู้จัดการธนาคารก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบนะ เราก็ต้องไปหาเงิน ไปตามเรือกสวนไร่นานะ ไปเยี่ยมเขา ไปกินข้าวกับเขา ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เราเข้าไปสัมผัสประชาชน โดยปริยาย

เป็นลูกคุณพ่อ ไปเรียนเมืองนอก ไม่ได้สัมผัสชีวิตธรรมดา พอมาทำงานผู้จัดการธนาคาร เราก็ได้สัมผัส เขาเห็นเราเป็นเทวดา ขอน้ำขอไฟ ไปเผาศพ ทำทุกอย่าง ได้เห็นความยากจน บางครั้งไม่ยากจนก็อาบน้ำคลองใช้ตะเกียง แต่พอเขาขายที่ได้เป็นร้อย ๆ ล้าน เขาก็ต้องทำนิติกรรมสัญญาละ เราก็ต้องเอาเงินมาฝากให้เขา  ..ร้อยล้านห้าสิบล้านเนี่ยเราก็ต้องไปรับเงินให้เขา แต่ทรัสต์อื่นที่ให้ดอกเบี้ยเยอะเขาก็ไม่ไป เขาจะมาอยู่กับเราซึ่งเราก็ภูมิใจ ตอนหลังก็คือสาขานี้ดังมาก เป็นท็อปเท็นมีเงินฝากมากอ่ะ.ผู้จัดการสาขาอื่นต้องมาดูหน้าคนไหนปวีณาเอาเงินไปหมดเลยนะ ”

คุณปิ๊กรำลึกความหลังอย่างอารมณ์ดี ทบทวนให้เราฟังถึงการทำงานที่เหนื่อยยาก ออกพื้นที่พบผู้คน ให้ความช่วยเหลืออย่างจริงใจ จะกระทั่งในวันที่ชาวนาขายที่ได้ 100 ล้าน 50 ล้านบาท แม้จะมีบรรษัทเงินทุนที่ให้ดอกเบี้ยสูง ชาวบ้านที่เคยได้รับความช่วยเหลือก็หอบเงินมาฝากธนาคารกรุงศรีอยุธยาสาขาที่ปวีณา หงสกุล เป็นผู้จัดการ

“เพราะว่าเราจะอยู่ดึก ๆ ดื่น ๆ ปวีณาไปอยู่ที่ไหน ลูกน้องทำงานหนักกันหมดทุกคน เหมือนอย่างมาทำมูลนิธิฯ นี่ละค่ะ ตอนทำงานที่ธนาคาร ลูกน้องก็อยู่กันสามทุ่มสี่ทุ่ม ” 

สิบปีของการทำงานธนาคาร  เป็นจุดเริ่มต้นการเป็นนักการเมือง

“ก็ได้รับการทาบทามจากท่านสมัคร สุนทรเวชนะคะ หัวหน้าพรรคประชากรไทย ผ่านทางพี่อาภัสรา ตอนนั้นไม่แน่ใจ เราก็ยังมีลูกเล็ก แต่คุณพ่อสอนว่า จะทำอะไรก็ตาม เราทำต้องทำดีที่สุด เช่นธนาคารก็ต้องทำให้ดีที่สุด คุณพ่อ พี่สาวก็เห็นด้วย เรื่องการเมือง คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ทำธนาคารได้ช่วยเหลือสังคม การเป็น สส. ทางนิติบัญญัติ กฏหมาย ต้องดูแลคนในพื้นที่ที่ได้รับการเลือกตั้ง ก็ต้องช่วยสังคมเหมือนกัน

ตอนนั้นเองที่คุณเอกภาพ น้องชายคนเล็กที่ยังเยาว์ ได้มามีส่วนเกี่ยวข้องกับงานของพี่สาว

“น้องเอ๊ดนี่คือน้องคนสุดท้องค่ะ คุณพ่อเราคือนาวาอากาศเอก (พิเศษ) เพิ่ม หงสกุลนะคะ ก็คือเราเป็นลูก เขาก็ เป็นน้องคนเล็กคนที่หก แล้วค่อนข้างจะห่างกันหน่อย เป็นน้องที่สนิทมากที่สุดค่ะ”

ตอนนั้นคุณพ่อก็ได้ให้มาช่วยพี่ปวีณาหาเสียงครับ ลงพื้นที่หาเสียง ผมอายุสิบเจ็ด ปี 2531 คือพี่ปิ๊กจะเป็นคนมีความมุ่งมั่น ทำอะไรต้องทำให้สำเร็จ อบรมเราว่าเราเกิดมาครั้งหนึ่งต้องเป็นคนดี กตัญญูและต้องตอบแทนสังคม พี่ปิ๊กก็เป็นตัวอย่างที่ดีให้ผมเองและลูกน้องทุกคน

 

คุณปิ๊กเล่าถึงการลงสนามการเมืองครั้งแรกว่า “ตอนนั้นประชาชนก็ไม่ได้รู้จักปวีณา แต่รู้จักพี่อาภัสรา หงสกุลนะคะ รู้จักนาวาอากาศเอก(พิเศษ) เพิ่ม หงสกุล เพราะว่าในพื้นที่นั้น สายไหม ดอนเมือง การไฟฟ้านครหลวงยังไม่ไปถึงนะคะ คนในละแวกปริมณฑลนั้นจะต้องใช้ไฟฟ้าของกองทัพอากาศ แล้วคุณพ่อก็เป็นหัวหน้ากองไฟฟ้าค่ะเพราะมีลูกน้องเยอะ เราลง ส.ส. สมัยแรกก็มีลูกน้องเยอะ ท่านสมัครก็คนรู้จัก เราก็ได้อานิสงก์ตรงนี้ด้วย แต่ว่าเราเดินแล้วเราสูู้นะคะ เดินไปหาประชน หกโมงเช้าจนถึงสองสามทุ่มไม่ได้หยุดเลย

นั่นคือการหาเสียงเลือกตั้งในยุคที่ไม่มีสื่อโซเชียล แม้แต่โทรทัศน์ก็มีรายการข่าวเพียงวันละชั่วโมงเดียว ไม่ได้มีการนำเสนอมากมายเช่นปัจจุบัน การพบถึงตัวประชาชนทุกบ้านจึงเป็นการหาเสียงที่ได้ผลที่สุด

คุณปวีณา หงสกุล ได้เข้าไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ยุคที่มี ส.ส.หญิงเพียง 10 คน ต่อ ส.ส.ชาย 390 คน แต่กลับมีแรงฮึด รวบรวมพลังของส.ส.หญิงทั้งหมดเป็นกลุ่มก้อน ทำงานร่วมกันตั้งแต่ปี 2535 โดยไม่คำนึงถึงการเป็นพรรครัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้าน

ช่วงแรกของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปวีณา หงสกุลตั้งปณิธานจะทำงานเพื่อผู้หญิง ครั้งหนึ่งได้ไปเยี่ยมบ้านเกร็ดตระการ ปากเกร็ด ด้วยความคิดว่าจะพบแต่สาว ๆ ที่ได้รับความช่วยเหลือมาจากการถูกบังคับค้าประเวณี แต่กลับได้พบเด็กหญิงอายุเพียง 11 ปี ที่มีชะตากรรมดังกล่าว หลังจากปาดน้ำตารับฟังเรื่องราวขมขื่นแล้ว คุณปวีณาก็บอกกับตัวเองว่า ต้องเร่งทำงานอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

ปี 2538 ปวีณา หงสกุล ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการเร่งรัดและประสานการปฏิบัติงานเยาวชนและภาครัฐและเอกชน สำนักนายกรัฐมนตรี โดยได้จัดตั้ง “ชุดเฉพาะกิจ” ขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกละเมิดสิทธิและถูกทารุณกรรมในรูปแบบต่างๆ อย่างจริงจังและต่อเนื่องบังเกิดผลเป็นรูปธรรม

“เรามีชุดเฉพาะกิจและรับเรื่องราวร้องทุกข์ที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นครั้งแรก เรารับร้องทุกเรื่อง มีตำรวจมาร่วมกับเรานะคะ ภาครัฐเนี่ยเราเอาทุกหน่วยงานมาเลย ตอนนั้นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ยังไม่เกิด ยังเป็นกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เราก็เอาหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมจับมือกัน เป็นชุดเฉพาะกิจลุยกันแบบวันนี้แหละค่ะ ประสบความสำเร็จมาก

ครั้งแรกเลยเข้าไปก็เป็นเคสเด็กอายุ 13 ปี วันนึงพ่อแม่เขาค้าขายลำบาก สองทุ่มก็กลับไปเล่าไปคุยกันว่าขายของไม่ได้ ไม่มีอะไรจะให้ลูกไปเรียน เด็กเขาก็แอบฟัง วันรุ่งขึ้นลูกชวนเพื่อนออกจากบ้านไปหางานทำ ก็มาที่หัวลำโพงค่ะ เจอหญิงชราหลอกว่าจะพาไปทำงาน ปรากฏให้แท็กซี่พาไปขายซ่องเลย เด็กไปสองคน คนนึงถูกปล่อยมา หาว่าติงต๊องขายไม่ได้ แต่ปรากฏว่าเด็กเขาไม่ติงต๊องค่ะ เขามาบอกพ่อแม่ เล่าว่าลูกแม่น่ะโดนขายซ่องนะ พ่อแม่ก็ร้องไห้มาหาเรา

เราพาตำรวจไปค่ะ ก็ให้ตำรวจไปล่อซื้อ เจ้าของซ่องเป็นนายดาบตำรวจค่ะ จับเข้าคุกไป ..ทราบว่าต่อมาก็ติด HIV ตายในคุก ”

ชุดเฉพาะกิจดังกล่าว เกิดขึ้นด้วยยุคสมัยแห่งการเมือง แต่ด้วยความตั้งใจจะทำงานเพื่อเด็กและสตรีโดยไม่ยึดติดกับวาระทางการเมือง มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์กรสาธารณประโยชน์) จึงถือกำเนิดถึงในปี 2542

จากวันนั้นจนวันนี้ คุณปวีณา กล่าวว่า มีจำนวนผู้รับความช่วยเหลือไปกว่า 160,000 ราย  ปีละกว่า7,000 ราย และที่เห็นเป็นข่าวมีจำนวนไม่ถึง 1 % ของทั้งหมด โดยมีคุณเอกภาพ หงสกุล น้องชายคนสุดท้องติดตามเป็นผู้ช่วยตลอดมา ตั้งแต่เริ่มลงทำงานการเมือง จนทำงานมูลนิธิฯ

รวมเวลาที่สองพี่น้องทำงานด้วยกันมาก็กว่า 30 ปี

คุณเอกภาพเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นการมาทำงาน “ผมอยู่กับพี่ปิ๊กตั้งแต่ถือกระเป๋า ไปนั่งจดข้อมูลต่าง ๆ ของการทำพื้นที่ ก็ทำให้เราซึมซับในเรื่องของการช่วยเหลือประชาชน พอปี 2549 ก็มีโอกาสไปเป็นสมาชิกสภาเขตสายไหมของพรรคไทยรักไทย แล้วก็เป็นประธานสภาเขตด้วยครับ เราก็เดินตามรอยของพี่ในการบริหารในการดูแลพี่น้องประชาชนในเขตสายไหม ในเรื่องของสารทุกข์สุขดิบ ปัญหาต่างๆ ที่จะนำมาแก้ไข”

ไม่ว่าจะเป็นความยากจน น้ำท่วม ทีมของปวีณาออกไปขอรถทหารนำอาหารไปแจก บางครั้งแจกหมดไม่เหลือแม้แต่ข้าวเหนียวหมูที่เก็บไว้คนละก้อนตั้งใจจะไว้กินตอนตีหนึ่ง คุณปิ๊กก็ให้คนอื่นหมด ซึ่งยังมีอีกหลายครั้งที่คุณปวีณาออกไปช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน แล้วสร้างเรื่องยุ่งย้อนกลับมาให้ทีมงาน

“ออกไปเจอคนลำบาก โอยหลังคามุงสังกะสีมันผุ ตายละ ฝนสาด ต้องซ่อมต้องเปลี่ยน ใช้เงินเท่าไรสามพันเหรอ เอ้าเปิดกระเป๋าควักให้ เดินไปอีก เจออีก ให้เขาไปเรื่อย จนในที่สุด จะจ่ายอีก ไม่มีสตางค์เหลือเลย ทีนี้ก็วุ่นสิ ถามหาคนนั้นคนนี้ แล้วก็ไปยืมสตางค์คนรถค่ะ ”

“ผมก็โดนครับ โดนกันหมด ”

“เพราะถ้าพี่ปวีณาไปไหน เอ็ดต้องไปด้วยทุกครั้ง เขาจะเป็นเรื่องของฝ่ายปฏิบัติการรับเรื่องร้องทุกข์ทั้งหมด ตอนนี้กำลังทำในเรื่องค้ามนุษย์ หลักๆเลยก็ประสานกับราชการ ประสานกับตำรวจเกาะติดงานค่ะ”

นาตาเลียฟังสองพี่น้องเล่าเรื่องการทำงานอย่างเข้าขากัน พี่สั่ง น้องทำ พี่เดิน น้องช่วย พี่ลุย น้องลุย ไม่มีวันพัก จนต้องถามว่า ที่ผ่านมา เจอพี่ปิ๊กโหดใส่ไหมคะ ก็ได้รับคำตอบเป็นเสียงหัวเราะ

“บ่อยฮะ เพราะว่าสิงที่พี่ปิ๊กดุเนี่ย เขาก็เหมือนสอน สอนเรื่องการทำงาน กับสังคม กับองค์กร สิ่งที่เราต้องเรียนรู้และเราจะต้องเอาเป็นประสบการณ์ในภายภาคหน้า”

“ใช่ค่ะ ไม่ใช่จะเฉพาะน้องนะคะ สอนเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ทุกคนเลย”

ตัวอย่างเรื่องที่ดุมากก็เช่น ..

“เช่นเราจะเซนทีฟในเรื่องโทรศัพท์มาก ดังครั้งหนึ่ง ไม่รับไม่ได้เลย โทรศัพท์ดังปั๊ปคือต้องรับ ถ้าไม่รับเนี่ยเกิดเรื่องแน่ ต้องเรียกประชุมทุกคน ทำไมไม่รับโทรศัพท์ โทรศัพท์เนี่ย มีความสำคัญกับเขามาก ถ้าเกิดเรารับไม่ทัน เขาอาจจะตายก็ได้ คนที่เขาก็จะโทรมาน่ะ เขาก็ต้องคิดแล้วคิดอีกนะคะ ว่าเขาจะโทร  ไม่ใช่อยู่เฉยๆ จะโทรมา  เมื่อเรารับแล้วก็ต้องช่วยเขาด้วย ไม่ใช่ว่าปฏิเสธ เพราะว่าการที่เราตั้งมูลนิธิปวีณาเพื่อเด็กและสตรี เราตั้งวัตถุประสงค์ขึ้นมาคือเพื่อจะช่วยเหลือเขาใช่ไหม ชีวิตจิตใจของเราต้องอยู่กับการกุศลจริง ๆ ต้องช่วยเหลือเขาจริง ๆ ถ้าใครไม่พร้อมไม่ต้องมาเข้ามาทำ ไม่งั้นก็ปิดมูลนิธิเลย พูดขนาดนี้ค่ะ”

ทั้งการทำงานมูลนิธิฯ การทำงานในสภาผู้แทนราษฎร ล้วนเป็นงานยาก หนัก และต้องใช้ใจเป็นอย่างมาก

“ประชุมสภาเสร็จ กลับมาสามทุ่มนั่งทำงานต่อที่มูลนิธิปวีณาฯค่ะ ทำไปจนเที่ยงคืนตีหนึ่ง .. วันหนึ่งก็ไปตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง”

แม้วันนี้มะเร็งจะหายแล้วทั้งสองรอบ แต่หัวใจพี่ปิ๊กก็ไม่แข็งแรงเหมือนเก่า สิ่งที่ยังแข็งแรงจริงคือพลังใจและความมุ่งมั่นทำงานไม่เปลี่ยนแปลง การคุยกับอีจัน Life Talk วันนี้ จึงเหมือนการเตรียมพร้อมส่งต่องานให้ทายาท โดยที่ตนเองก็ยังคงทำงานไม่หยุด 

“ซึ่งตลอดมา น้องก็พยายามจะเรียนรู้ อีกหน่อยเอ็ดเขาก็จะเป็นตัวแทนของมูลนิธิปวีณาที่จะรับไปทำ เราสอนเขามาตลอด เขาเรียนรู้ เข้าใจ ทำงานดี ซื่อสัตย์ จริงจัง รับผิดชอบ ความรับผิดชอบสำคัญมาก ไม่ใช่เพราะเขาเป็นน้อง แต่เป็นเพราะตัวเขาเอง การทำมูลนิธิฯ ไม่ใช่ง่าย ๆ มันต้องอาศัยประสบการณ์ การเรียนรู้ คนที่จะทำได้ต้องรักงาน ติดตาม จริง ๆ เราก็ไม่ได้ให้เขาโรยด้วยกลีบกุหลาย น้องก็ต้องมาทำทุกอย่าง ถือกระเป๋า ขับรถให้ด้วย เหมือนตอนเราเป็นพนักงานธนาคาร ก็ต้องไปตอกบัตร รับเรื่องราวร้องทุกข์ คนที่ทำงานปั๊บเป็นเจ้านายเลย ไม่มีความสำเร็จหรอกค่ะ มันต้องรากฐานแข็งแกร่ง เราจะรู้ว่าการทำงานที่ยากลำบากมันเป็นอย่างไร”

ฟังรายละเอียดเรื่องชีวิต งาน มะเร็ง และการส่งต่อความมุ่งมั่นมูลนิธิปวีณา หงสกุล เพื่อเด็กและสตรี ในรายการอีจัน Life Talk ทาง Youtube Channel แล้วคุณจะเห็นพ้องตรงกันกับเรา ว่าผู้หญิงคนนี้ช่างมหัศจรรย์

งานไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบก็จริง แต่อีจันอยากมอบกุหลาบช่อโตให้คุณปวีณา หงสกุล ณ ที่นี้ค่ะ

คลิปอีจัน แนะนำ
ปวีณา หงสกุล เตรียมวางมือ ส่งไม้ต่อให้น้องชาย เอกภาพ