โฆษกกรมสุขภาพจิต ชี้ ที่เด็กติดเกมส์คือปัญหาของครอบครัว

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต แนะ ควรสอนเด็กให้เข้าใจเรื่องเล่นเกมส์ แยกแยะ แบ่งเวลา ปัญหานี้ควรเริ่มแก้ไขจากครอบครัว

กรณีร้อนแรงในโลกโซเชียล เด็กชายถือมีดขู่ทำร้ายแม่ หลังเล่นเกมส์แล้วหัวร้อน

ซึ่งหลังจากที่วิดีโอถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีชาวเน็ตจำนวนมากร่วมแชร์และแสดงความคิดเห็น จนเกิดเป็นกระแสวิจารณ์ในโซเชียล คำวิจารณ์ส่วนใหญ่ มุ่งไปที่พฤติกรรมการเล่นเกมส์ของเด็กชายคนนี้

ภาพจากอีจัน

นพ. วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต เปิดเผยกับอีจันถึงเหตุการณ์นี้พร้อมแนะนำวิธีรับมือของผู้ปกครอง ว่า เด็กหลายๆคนที่ติดเกมส์มากๆ จะพัฒนาให้มีอาการก้าวร้าว รุนแรงมากขึ้น จากเนื้อหาที่เล่น ไม่ว่าเป็นทางช่องทางยูทูป หรือว่าเป็นคนที่เด็กติดต่อสื่อสารด้วย บางครั้งเด็กจะซึมซับความก้าวร้าวเข้าไปด้วย สิ่งแรกที่ควรทำหลังจากรู้ว่า เด็กติดเกมส์ คือ ถ้ามีการแสดงอารมณ์ถึงความรุนแรงมากขึ้น ควรพาไปพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

ภาพจากอีจัน

จากวิดีโอที่ปรากฏ ผู้ปกครองควรเริ่มตั้งแต่การควบคุมการเล่นเกมส์ของลูก จัดเวลาให้ดีๆ ถ้าเด็กยิ่งเล่นเยอะมากๆ โอกาสเสี่ยงในความรุนแรงก็เพิ่มขึ้น ควรกำหนดกติกาที่ชัดเจนตั้งแต่แรก ตั้งแต่ระยะเวลาในการเล่น ควรมีเวลาที่ชัดเจน เป็นวันละไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง เลิกคือเลิก ส่วนพฤติกรรมในการเล่น ถ้าเด็กบางคนไม่ยอมกินข้าว หรือนำอาหารมากินหน้าจอคอมพิวเตอร์ พูดคำหยาบคายมากและรุนแรงก้าวร้าวมากขึ้น จะต้องมีการจัดการ

ถ้าเนื้อหาในเกมส์มีความรุนแรงมาก จะต้องจัดการเรื่องการเล่นเกมส์ เพราะฉะนั้นถ้าเริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่แรก ว่าตัวเด็กเริ่มมีปัญหาแล้ว ควรเริ่มจัดการตั้งแต่แรก

ภาพจากอีจัน

นพ.วรตม์ เล่าต่ออีกว่า ไม่เชื่อว่าความรุนแรงไม่สามารถเพิ่มขึ้นมามากมหาศาลภายในระยะเวลาเดียว จะต้องมีสัญญาณอะไรที่ต่อกัน ดังนั้นการป้องกันง่ายกว่าการแก้ปัญหาเยอะ เราก็ควรจัดการเรื่องการเล่นเกมส์ เพราะมันจะส่งผลในเรื่องของความเครียด หรืออาจส่งผลให้มีการไปกระตุ้นตัวเร้าอื่นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ว่าไปกระตุ้นให้เด็กมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือเปล่า อีกอย่างหนึ่งที่เราควรพูดถึงก็คือ ปัญหาติดเกมส์ไม่ใช่ปัญหาที่เด็ก ปัญหาติดเกมส์คือปัญหาครอบครัว แต่ปัญหาติดเกมส์ถ้าแก้ที่เด็ก มักจะไม่ประสบความสำเร็จ ปัญหาติดเกมส์ต้องแก้ที่ครอบครัวที่รวมถึงตัวเด็กด้วย ครอบครัวต้องรู้วิธีแก้ วิธีจัดการที่ถูกต้อง และต้องระวังการที่บอกว่าเรื่องนี้เด็กเป็นตัวปัญหาคนเดียว

ภาพจากอีจัน

เด็กทุกคนสามารถเล่นเกมส์ได้ ตราบใดที่เป็นการพักผ่อน ไม่รบกวนชีวิตประจำวันหรือการเรียน ถ้าเกิดเรื่องเล่นเกมส์กระทบกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การเล่นเกมส์ควรต้องอยู่ในการควบคุมหรือลดปริมาณลงด้วย