ประชาชน ร่วมตักบาตรพระร้อย วัดชินวราราม สืบสานประเพณีเก่าแก่ริมฝั่งเจ้าพระยา

สัมผัสเสน่ห์ประเพณีเก่าแก่ริมฝั่งเจ้าพระยา ตักบาตรพระร้อยทางเรือวัดชินวราราม ประชาชนแห่ร่วมคึกคัก

21 ต.ค. 2562 ที่วัดชินวรารามวรวิหาร (พระอารามหลวง) อ.เมือง จ.ปทุมธานี หน่วยงานราชการ รวมถึงประชาชน ได้เข้าร่วมประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ ประเพณีเก่าแก่ของวัดที่อยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งแม่น้ำ

ซึ่งการตักบาตรพระร้อย เป็นประเพณีตักบาตรทางน้ำในช่วงเทศกาลออกพรรษา ที่ชาวปทุมธานี โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายมอญ ปฏิบัติกันมานานนับร้อยปี เพราะจังหวัดปทุมธานีมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านทำให้เกิดลำคลองหลายสายขึ้น ใช้เป็นเส้นทางการคมนาคม การชลประทาน การอุปโภคบริโภค อีกทั้งบ้านเรือนประชาชนแต่เดิมจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำลำคลองเป็นส่วนใหญ่ โดยในช่วงออกพรรษาเป็นช่วงน้ำหลาก บรรยากาศชุ่มชื่น การสัญจรไปมาทางเรือสะดวก

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ดังนั้น การตักบาตรพระสงฆ์จึงใช้เรือในการบิณฑบาตบริเวณท่าน้ำหน้าบ้านประชาชน สำหรับความเป็นมา และพิธีปฏิบัติในประเพณีเก่าแก่นี้ หากวัดใดที่จะจัดพิธีตักบาตรพระร้อย ต้องแจ้งกำหนดวันเสียก่อน ซึ่งประเพณีจะเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ ไปจนถึงวันแรม 13 ค่ำ เดือน 11 วนเวียนกันไปในแต่ละวัด พอถึงวันงานทางวัดจะนิมนต์พระเพื่อร่วมพิธีแต่เช้ามืด จากนั้นจึงจัดลำดับโดยการแจกหมายเลขก่อนหลัง เสร็จแล้ววัดเจ้าภาพจึงถวายภัตตาหารเช้าแก่พระที่ร่วมพิธี และการตักบาตรพระร้อยจะเริ่มประมาณ 8 โมงเช้า นำโดยเรือพระพุทธวัดเจ้าภาพ ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้เรือกระแชง ภายในเรือจะตั้งพระพุทธรูป โต๊ะหมู่บูชา ดอกไม้ธูปเทียน จากนั้นจึงเป็นเรือพระสงฆ์เรียงตามลำดับหมายเลขที่ได้รับ
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
เอกลักษณ์ของประเพณีคือการทำบุญตักบาตรจะประกอบขึ้นในเรือ ชาวบ้านจอดเรือจับเข้ากันเป็นพวง จัดเตรียมอาหารมาใส่บาตรพ่อพายท้าย แม่พายหัว ลูกนั่งกลางลำเรือ ส่วนพระภิกษุสงฆ์ลงเรือนั่งเป็นประธาน มีศิษย์วัดนั่งหัวเรือท้ายเรือคอยสาวเรือไปตามพวงหรือรับอาหารบิณฑบาต
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ทั้งนี้การตักบาตรพระร้อยในปัจจุบันส่วนใหญ่จะพบเห็นในลักษณะที่พระสงฆ์รับบาตรอยู่ในเรือ ส่วนชาวบ้านนั่งรออยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ลำคลอง หรือบนแพ บนโป๊ะ เป็นส่วนใหญ่ มีส่วนน้อยที่รอตักบาตรอยู่ในเรือ ซึ่งประชาชนที่มาตักบาตรพระร้อยจะมีทั้งคนในพื้นที่ละแวกวัด คนในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีที่ทราบกำหนดวันตักบาตร และคนจากจังหวัดใกล้เคียง
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
แม้วิธีปฏิบัติจะแปรเปลี่ยนไปบ้างตามยุคสมัย แต่ภาพความศรัทธาสามัคคียังคงดำรงสะท้อนออกมาจากผู้คนนับร้อย ผู้เฒ่าผู้แก่ หนุ่มสาว ยืนเรียงเป็นทิวแถว ขบวนเรือประดับแม่น้ำอย่างมีชีวิต อีกทั้งอาหารคาวหวาน หมี่กรอบ ผัดเผ็ด ผลไม้ ส้ม องุ่น กล้วยหอม ขนมถ้วยฟู ข้าวต้มหมัด ข้าวเม่าทอด ขนมตาล ขนมสอดไส้ แต่ละบ้านจัดเตรียมแยกไว้เป็นอย่างๆ เพื่อทำบุญตักบาตรในรุ่งเช้า หลังตักบาตรเสร็จแล้ว กลางวันปิดทองพระประธานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีการละเล่นรำพาข้าวสารและทอดผ้าป่า โดยประเพณีตักบาตรพระร้อย ชาวบ้านต่างมาด้วยใจที่เปี่ยมศรัทธา ริมน้ำเจ้าพระยาจึงเนื่องแน่นด้วยผู้คนซึ่งร่วมกันสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมที่ยึดถือปฏิบัติกันมานับร้อยปีให้ดำรงอยู่ต่อไป