อาการป่วยทางจิต ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ครอบครัวคือสิ่งสำคัญ

จิตแพทย์ชี้ ติดเกมส์ไม่ใช่แค่ภาวะ หากขาดการยับยั้ง ไม่ต่างจากติดยาเสพติด ถึงขั้นป่วยจิตเวช

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวที่ทำให้สังคมฮือฮา เกี่ยวกับเด็กที่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงถึงขั้นใช้อาวุธขู่ทำร้ายแม่ และกรณีวัยรุ่นคนหนึ่งที่พูดจาและท้าทายคู่กรณีหลังไม่พอใจที่หยุดรถกระทันหัน ด้วยคำหยาบคายและหมิ่นประมาท จนสังคมแห่โจมตีหนุ่มคนดังกล่าวลามปามไปถึงครอบครัวเป็นเรื่องที่น่าตกใจ

ทั้ง 2 กรณี แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมด้านอารมณ์ ที่ไม่สามารถควบคุมตัวเอง การแสดงออกที่ทำลายความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง ขณะเดียวกันทางครอบครัว ก็นำหลักฐานมายืนยันว่า พวกเขามีอาการป่วย มีภาวะซึมเศร้าและไฮเปอร์ จนทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น

ภาพจากอีจัน

โดยสังคมตั้งคำถามว่า เพราะทำผิดจึงนำอาการป่วยมาลบผิดหรือเปล่า ใช้อาการป่วยเป็นเกราะป้องกันความผิด หรือเพราะป่วยจริงๆ

ผู้ป่วยทางจิต หลายคนเข้าใจแต่ยังไม่เข้าถึง

วันนี้จันมีโอกาสได้พูดคุยกับ หมอตาล แพทย์หญิงสลักจิต แสงสิน นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ โดยหมอตาลบอกกับจันว่า อาการป่วยทางจิตเป็นส่วนหนึ่งของโรคจิตเวช ทางการแพทย์เรียกว่า Psychotic Disorders ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชกลุ่มหนึ่ง ที่มีอาการการสูญเสียการรับรู้ความเป็นจริง

คนที่ป่วยทางจิตจะมีอาการแรกเริ่มคือหูแว่ว ประสาทหลอน เหมือนมีคนมาคอยบังคับอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาการจะรุนแรงถึงขั้นทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตายได้

ภาพจากอีจัน

หมอตาลได้ยกเคสเด็กติดเกมส์ จนถึงขั้นทำลายข้าวของและขู่ทำร้ายแม่ ที่ทางครอบครัวออกมาชี้แจงว่า น้องเป็นเด็กไฮเปอร์ ต้องกินยาควบคุมอารมณ์เป็นประจำ หมอตาลอธิบายว่า กลุ่มเด็กที่เป็นไฮเปอร์ส่วนใหญ่เกิดจากเด็กที่มีสมาธิสั้น ไม่ชอบการรอคอย หรือทำอะไรนานๆ ถ้าไม่ถึงขั้นทำให้เสียการเรียน หรือเสียสุขภาพทั้งตัวเองและผู้อื่น ยังถือว่าไม่จัดอยู่ในกลุ่มอาการทางจิต แต่หากถึงขั้นเกิด ทำให้เสียการเรียน และถึงขั้นทำลายความสัมพันธ์คนรอบข้าง เด็กเหล่านี้อยู่ในชั้นอาการทางจิต ต้องกินยาในการควบคุมอารมณ์

ภาพจากอีจัน

ซึ่งส่วนใหญ่เด็กไฮเปอร์จะไม่แสดงอาการรุนแรง หากไม่มีโรคอื่นร่วมด้วย นั่นคือโรคติดเกมส์ ติดเกมส์ไม่ใช่ภาวะ เพราะหากเล่นจนทำให้เกิดการควบคุมตัวเองไม่ได้ นั่นคือโรค ส่วนใหญ่เด็กมีอาการติดเกมส์เกิดจาก เพราะพวกเขาจะไม่ชอบการรอคอย หรือการต้องมาทำอะไรซ้ำๆ แต่เกมส์คือสิ่งที่ทำให้เขาได้ปลดปล่อย และเอาชนะอารมณ์ของตัวเองได้

หากไม่มีการยับยั้ง การเล่นเกมส์นานๆ ไม่ต่างจากการติดสารเสพติด เพราะจะทำให้เสียสุขภาพ ประสาทหลอน จนถึงขั้นทำลายทุกอย่าง แม้กระทั่งตัวเองและคนในครอบครัว

การรักษาอาการของโรคเหล่านี้ การกินยา คืออีกหนึ่งทางที่ทำให้อารมณ์ยืดหยุ่นขึ้น รับแรงกดดันได้มากขึ้น อดทนรอได้เยอะขึ้น แต่ไม่ใช้การรักษาให้หายขาดหรือดับอารมณ์จากร้อนให้กลายเป็นเย็นได้

คุณหมอบอกอีกว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของการรักษาผู้ป่วยทางจิต คือ คนรอบข้าง ที่ต้องเข้าถึงและเข้าใจ อย่ามองเขาคือผู้ป่วยทางจิต เพราะไม่มีใครอยากป่วยเป็นโรคนี้ ต้องหมั่นสั่งเกตว่าเขามีปัญหาหรือมีความเครียดอยู่หรือไม่ หากมี ให้ค่อยๆ ตะล่อมถาม ถึงสาเหตุ และเมื่อรู้ที่มาของปัญหาให้คอยปลอบหรือให้กำลังใจ สิ่งสำคัญอย่าตัดปัญหา หรือใช้คำพูดว่า “ก็อย่าไปคิดสิ” หรือ “เรื่องแค่นี้เอง” เพราะปัญหาที่เรามองกับที่เขามีอยู่ มันไม่เท่ากัน ยิ่งจะทำให้เขามองว่าตัวเองแย่และอ่อนแอหนักกว่าเดิม

ภาพจากอีจัน

ทางที่จะทำให้เขารู้สึกดีขึ้นคือ รับฟังและคอยให้กำลังใจ หากิจกรรมที่ทำให้เขาละจากเรื่องที่ทำให้เขาจดจ่ออยู่ คอยให้สิ่งที่เขาคิดกว่า เขาทำไม่ได้หรือไม่มั่นใจ ให้เขากลับมามีความมั่นใจอีกครั้ง
ใช้ประสบการณ์และความคุ้นเคย มาทำให้เขาหลุดออกจากอาการเหล่านี้ ก่อนหน้านี้เขาเคยทำอะไรที่ทำให้เขามีความสุข ที่ไม่ใช่การเล่นเกมส์ ก่อนหน้านี้ความสุขเกิดขึ้นได้ยังไง ให้กลับไปนำมาใช้อีกครั้ง อย่ารีบร้อน ทุกอย่างต้องใช้เวลา คนรอบข้างคือยาที่ดีที่สุดของผู้ป่วย