สุราษฎร์ฯ จ่ายเงินประกันราคายางวันแรก

หลังรัฐบาลอนุมัติเงินช่วยเหลือประกันรายได้ชาวสวนยาง เกษตรกรชาวสวนยางหลายจังหวัด แห่รับเงินวันแรกหลังราคายางตกต่ำมา 5 ปี

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นไปอย่างคึกคักกับการจ่ายเงินให้เกษตรกรชาวสวนยาง ในโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางพารา ซึ่งมีการจ่ายเงินเป็นวันแรก นายพยุงศักดิ์ โภคภิรมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะให้การช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา ในสถานการณ์ราคายางตกต่ำ

ขณะนี้ทางการยางแห่งประเทศไทย สำนักงานสุราษฎร์ธานีได้จัดส่งรายชื่อเกษตรกรชาวสวนยางพารามายัง ธ.ก.ส. ที่ได้รับการประกันรายได้ชาวสวนยางพาราที่จะให้การช่วยเหลือแล้ว กว่า 9 หมื่นรายชื่อ รายละไม่เกิน 25 ไร่ สำหรับในวันนี้ทางสำนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จะมอบเงินให้กับเกษตรกรจำนวน 1,379 ราย คิดเป็นเงิน 6,686,359 บาท แยกเป็น

ยางแผ่นดิบ ราคากลางอ้างอิง 38.97 บาทต่อกิโลกรัม ประกันรายได้ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนต่าง 21.03 บาท หรือไร่ละ 841.20 บาท

น้ำยางสด ราคาคาอ้างอิง 37.72 บาท ประกันราคาที่ 57 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนต่าง 19.28 บาท หรือไร่ละ 771.20 บาท

น้ำยางก้นถ้วย ราคากลางอ้างอิง 16.19 บาท ต่อกิโลกรัม ประกันราคาที่ 23 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนต่าง 6.81 บาท หรือไร่ละ 544.80 บาท

ในรอบแรกทาง ธ.ก.ส. จะดำเนินการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท.ก่อนเดือนสิงหาคม 2562 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 62 นี้ ส่วนที่เหลือจะดำเนินการให้ครบตามบัญชีรายชื่อต่อไป

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

สำหรับจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีพื้นที่ปลูกยางพารากว่า 3 ล้านไร่ และผลผลิตแล้วกว่า 2 ล้านไร่เศษ

ภาพจากอีจัน

นางสาวจิลลา ทองสุข เกษตรกรชาวสวนยางพารา จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า จากกรณีรัฐได้เข้ามาให้การช่วยเหลือเกษตรกรในส่วนของการประกันรายได้ชาวสวนยางในรอบแรกนั้น ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ดีแต่เป็นการช่วยเหลือเพียงเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งจริงๆแล้วเกษตรกรเองต้องการให้รัฐยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือระยะยาว

โดยการประกันราคาอยู่ที่ยางแผ่นดิบกิโลกรัมละไม่น้อยกว่า 60 บาท น้ำยางไม่น้อยกว่า 57 บาท และยางก้นถ้วยไม่น้อยกว่า 23 บาท ประมาณ 2-3 ปี จึงจะทำให้เกษตรกรสามารถที่จะเลี้ยงดูตัวเองได้ เพราะที่ผ่านมาราคายางพาราตกต่ำมานานถึง 4-5 ปี มาแล้ว บางรายได้มีการปรับเปลี่ยนจากยางพาราไปเป็นพืชชนิดอื่น บางรายก็โค่นเพื่อตัดไม้ขายเนื่องจากรายได้จากสวนยางพาราไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพของเกษตรกร

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน