ตัวแทนลิขสิทธิ์โต้ไม่ได้เรียกเงิน ยันไม่มีการล่อให้กระทำความผิด

ตัวแทนลิขสิทธิ์โต้กลับ ไม่ได้เรียกเงินจำนวน 50,000 บาท ยืนยันไม่มีการล่อให้กระทำความผิด อ้างครอบครัวเด็กสาวเข้าใจคลาดเคลื่อน

ความคืบหน้ากรณีเด็กสาววัย 15 ปี ประดิษฐ์กระทงลวดลายการ์ตูน และถูกตัวแทนลิขสิทธิ์บริษัทการ์ตูนชื่อดังล่อซื้อจับกุมฐานละเมิดลิขสิทธิ์ เรียกค่าเสียหายจำนวน 5 หมื่นบาท จบลงด้วยการไกล่เกลี่ยจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 5,000 บาท ซึ่งหลังจากเกิดเรื่อง ทางบริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ ของบริษัท San-X ประเทศญี่ปุ่น ออกมาชี้แจงว่าไม่ได้มอบหมายให้ผู้ใดทำการจับลิขสิทธิ์ผิดกฎหมายแต่อย่างใด ตามข่าวที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งตอนนี้ทางบริษัทฯ ได้ทำการปรึกษาฝ่ายกฎหมายและมอบหมายให้ทนายความดำเนินการสืบหาความจริง

อ่านข่าว

ล่าสุด นายประจักษ์ โพธิผล อายุ 56 ปี ผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท พอส์ อิงค์ จำกัด และ บริษัท ซาน เอ็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรม ประเภทงานจิตกรรม ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เปิดเผยว่า น้องที่ใช้เฟซบุ๊กชื่อ อายจ๋า ได้โพสต์รูปกระทงที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ลงในเฟซบุ๊ก ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา และมีคนสั่งซื้อก่อนที่ทีมงานจะเห็น

ภาพจากอีจัน

ตนจึงติดต่อไปในช่วงต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา โดยทางบริษัทมีทีมงานที่คอยติดตามผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ในโซเชียลอยู่แล้ว จึงได้เดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์ และได้มีการติดต่อให้ส่งมอบของในตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งพบว่าเด็กสาวคนดังกล่าวถือถุงกระทงมาส่งให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมตัวแทนลิขสิทธิ์จึงได้แสดงตัวเข้าจับกุมพร้อมของกลาง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ในเหตุการณ์ตลอดเวลา

ภาพจากอีจัน

หลังจากนั้นญาติได้มีการขอเจรจาซึ่งตนเองก็ให้เจรจาเนื่องจากว่าผู้ที่ถูกจับกุมยังเป็นเยาวชนอยู่ และขยันทำมาหากิน แต่ผิดก็คือผิด และสามารถถอนแจ้งความร้องทุกข์ได้ โดยที่พ่อแม่เสนอเป็นค่าละเมิดลิขสิทธิ์ให้ 5,000 บาท ในส่วนที่ถูกกล่าวหาว่าตัวแทนบริษัทเรียกเงินจำนวน 50,000 บาท ตนแค่แจ้งให้ครอบครัวของเด็กสาวทราบเท่านั้นว่า ตาม พ.ร.บ ลิขสิทธิ์ มีโทษปรับตั้งแต่ 50,000 บาทถึง 400,000 บาท จำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 2 ปี ซึ่งพยายามอธิบายเรื่องของกฎหมายให้ฟัง แต่กลับถูกครอบครัวของเด็กสาวตีความในทางที่ผิด และเข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่ใช่

ภาพจากอีจัน

ด้านนายนัน ที่มีกระแสโพสต์ภาพลงในโซเชียลนั้น เป็นเจ้าหน้าที่ที่คอยสอดส่องผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัท และส่งข้อมูลมาให้ตนเอง ส่วนการที่เจ้าหน้าที่ของบริษัทล่อให้น้องออกแบบรูปกระทงเป็นตัวการ์ตูนดัง แล้วมาล่อซื้อจับกุมนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยน้องเยาวชนมีการโพสต์ภาพรูปกระทงที่มีการละเมิดอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว

ภาพจากอีจัน

ส่วนประเด็นที่ถูกโจมตีวันนั้นประชาชนฟังข่าวอยู่ข้างเดียว จึงทำให้เจ้าหน้าที่ถูกโจมตีอย่างหนัก ถ้าพูดถึงบริษัทก็ได้รับความเสียหายเช่นกันเพราะทำซ้ำดัดแปลงโดยไม่ซื้อสิทธิ์ แต่อยากให้สังคมเข้าใจว่าน้องทำผิดจริง และก็มีผู้ใหญ่เข้ามาเจรจาให้ถอนคำร้องทุกข์ ทางตนเองก็ถอนคำร้องทุกข์ให้ถือเป็นการให้โอกาสเด็ก หลังจากมีกระแสสังคมต่อว่าทางทีมงานลิขสิทธิ์อย่างหนักก็รู้สึกเสียใจเกี่ยวกับการทำงาน และปกป้องสิทธิ์ของผู้เสียหาย หากเราไม่ปกป้องสิทธิ์ผู้กระทำหรือผู้ผลิตก็จะส่งผลให้เดือดร้อนเพราะบริษัทเป็นผู้ลงทุน ส่วนที่มีข่าวลือว่าทางบริษัทจะนำเงินจำนวน 5,000 บาทคืนน้องนั้นไม่เป็นความจริง หากเรานำเงินไปคืนก็เท่าว่าเราเป็นผู้ผิดเสียเอง