วิจัยชี้ ‘เลี้ยงหมา’ ช่วยขจัดความเหงา-พัฒนาปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

งานวิจัยออสเตรเลียชี้ เลี้ยงหมาเพียง 3 เดือน ช่วยบรรเทาความเหงาสร้างสุขภาพจิตที่ดี พัฒนาปฏิสัมพันธ์ทางสังคมให้ดีขึ้น

วานนี้ 5 พ.ย. 2562 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า

งานวิจัยฉบับใหม่จากออสเตรเลีย ซึ่งศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างการเลี้ยงสัตว์และสุขภาพจิตที่ดี พบว่าการเลี้ยงสุนัขเพียง 3 เดือนสามารถบรรเทาความเหงาของมนุษย์ลงได้อย่างมีนัยสำคัญ

งานวิจัยซึ่งได้รับการเผยแพร่บนวารสารบีเอ็มซี พับลิก เฮลธ์ (BMC Public Health) ระบุว่าการทดลองเกี่ยวกับสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้เลี้ยงสุนัข หรือพอวส์ (PAWS) ของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ได้ติดตามและเก็บข้อมูลประชาชนในซิดนีย์เป็นเวลา 8 เดือน เพื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มคนที่เพิ่งเลี้ยงสุนัขกับกลุ่มคนที่ไม่มีความต้องการจะเลี้ยงสุนัข

ข้อมูลที่บรรดาผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นผู้รายงานด้วยตนเองแสดงให้เห็นว่า ความรู้สึกเหงาหรืออารมณ์ด้านลบ อาทิ ความเสียใจหรือความกลัว ของผู้ที่เลี้ยงสุนัขลดลงอย่างมาก

ภาพจากอีจัน

ลอเรน พอเวลล์ (Lauren Powell) จากศูนย์ชาร์ลส์ เพอร์คินส์ (Charles Perkins Centre) แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ผู้เขียนหลักของงานวิจัยกล่าวว่า “การวิจัยครั้งก่อนๆ แสดงให้เห็นว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับสุนัขเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ในหลายสถานการณ์ เช่น การใช้สุนัขบำบัดในบ้านพักคนชราหรือสถานที่พักฟื้น แต่มีงานวิจัยจำนวนน้อยที่ศึกษาผลกระทบของการมีปฏิสัมพันธ์กับสุนัขในทุกๆ วันของผู้เลี้ยงสุนัข”

“แม้เราจะไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าการเลี้ยงสุนัขส่งผลกระทบเชิงบวกต่ออารมณ์และความเหงาของผู้เข้าร่วมวิจัยอย่างไร แต่ผู้คนมากมายในงานวิจัยรายงานว่าพวกเขาได้ทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่ในย่านเดียวกันเพราะสุนัขตัวใหม่ของพวกเขา”

ภาพจากอีจัน

“และเราก็รู้ว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับสุนัขในระยะสั้นสามารถทำให้มนุษย์อารมณ์ดีขึ้น ดังนั้นการที่ผู้เลี้ยงสุนัขมีปฏิสัมพันธ์กับสุนัขจนเป็นปกติก็อาจทำให้มนุษย์มีพัฒนาการระยะยาวได้”

วิถีชีวิตอันเร่งรีบของสังคมเมืองยุคใหม่ทั่วโลกอาจทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวทางสังคมและรู้สึกสูญเสียความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ศาสตราจารย์เอ็มมานูเอล สตามาทาคิส (Emmanuel Stamatakis) คณะการแพทย์และสุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ซึ่งเป็นผู้เขียนอาวุโสของงานวิจัย จึงเชื่อว่าการศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างสัตว์เลี้ยงและสุขภาพจิตเป็นสิ่งสำคัญ “หากสุนัขสามารถช่วยให้เจ้าของเดินทางออกจากย่านพักอาศัยของตนและพบปะผู้คนเพิ่มขึ้นได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย”

การออกมาพบปะผู้คน “สำคัญอย่างยิ่งในกลุ่มคนอายุมากที่มีความเสี่ยงรู้สึกโดดเดี่ยวและเหงามากขึ้นเรื่อยๆ … อันเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง และโรคซึมเศร้า”

ภาพจากอีจัน

แม้การวิจัยจะมีผลลัพธ์ด้านบวกในแง่พัฒนาการทางอารมณ์ แต่นักวิจัยกล่าวเตือนว่าพวกเขาไม่พบว่าส่งผลต่อผู้เข้าร่วมวิจัยที่อยู่ในภาวะเศร้าโศกทางจิตวิทยา เช่น มีอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวล

ปัจจุบันทีมวิจัยกำลังทำการวิจัยคู่ขนาน ซึ่งพิจารณารูปแบบกิจกรรมทางกายภาพของผู้เลี้ยงสุนัข โดยเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เลี้ยงสุนัข

ขอบคุณข้อมูลจาก www.xinhuathai.com