สาวโวย! ไปซื้อของ ไม่รับถุง กลับถูกหาว่าเป็นขโมย

สาวโพสต์โวย ถูกพนักงานรองเท้าแบรนด์ดัง เข้าใจผิดคิดว่าขโมยของ เพียงเพราะไม่รับถุง หวังใจอยากลดโลกร้อน

วันที่ 17 พ.ย. 62 ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Hongpapat Hongsachum” ได้ออกมาแชร์ประสบการณ์ หลังเธอไปซื้อของที่ห้างแห่งหนึ่ง ย่านศรีสมาน จ.นนทบุรี ด้วยอยากช่วยลดโลกร้อน ก็เลยไม่รับถุง แต่กลับถูกพนักงานของร้านรองเท้าแบรนด์หนึ่ง กล่าวหาว่า เธอขโมยของ

ภาพจากอีจัน

เธอโพสต์ภาพพนักงานในร้านดังกล่าว พร้อมระบุข้อความเล่าว่า “ เราซื้อกระเป๋าจากบูธด้านหน้าของห้างแห่งหนึ่ง ซื้อแล้วพนักงานแคชเชียร์ถามว่า ใส่ถุงไหม นี่ก็หวังดีต่อโลกร้อน ไม่ใส่ถุงค่ะ จ่ายเงินเสร็จ เราอยากได้รองเท้าผ้าใบใหม่ เลยเดินไปดูรองเท้าที่ช็อปด้านในห้าง
จู่ๆ พนักงานช็อปเดินมาดึงกระเป๋าในมือเรา แล้วขอดึงแท็กบาร์โค๊ดเรา เราตกใจและงงมาก
พนักงาน : ไม่ทราบว่าคุณผู้หญิงชำระเงินกระเป๋านี้หรือยังคะ
เม : ชำระแล้วค่ะ
พนักงาน : ไม่ทราบว่าคุณผู้หญิง ซื้อกระเป๋าใบนี้มาจากไหนคะ
เม : บูธด้านหน้าค่ะ ทำไมคะ
พนักงาน : ขออนุญาตเอาแท็กกระเป๋า ไปเช็คนะคะ แล้วก็เอาแท็กกระเป๋าเราไปเช็กกับแคชเชียร์ด้านหน้า

ภาพจากอีจัน

นี่ก็งงกับเหตุการณ์ แต่ก็เดินตามนางไป
เม : สรุปมีปัญหาอะไรหรือป่าวคะ
พนักงาน : ปกติถ้าลูกค้าซื้อของจากเรา เราจะใส่ถุงหิ้วให้ทุกครั้ง แต่นี่พนักงานไม่ได้ใส่ถุงหิ้วให้ เราจึงต้องขอเช็กบาร์โค้ดค่ะ รบกวนขอสลิปกระเป๋าใบนี้จากคุณลูกค้าด้วยนะคะ (ด้วยน้ำเสียงข่มเรา)
เม: เห้ยยยคุณ ถ้าคุณพูดแบบนี้เท่ากับบอกว่าเราขโมยของคุณ 100% เลยนะ แล้วคุณมีสิทธิ์อะไรมาดึงแท็กกระเป๋าจากในมือเรา
พนักงาน : ไม่ได้บอกว่าคุณลูกค้าขโมยค่ะ แต่เราทำตามหน้าที่ เรามีสิทธิ์ในการเช็คสินค้าค่ะ
เม : แต่คุณไม่มีสิทธิ์มาดึงแท็กสินค้าจากมือเราแบบนี้นะ แล้วถ้าเราพิสูจน์ได้ว่าเราไม่ได้ขโมยสินค้าคุณ ใครรับผิดชอบ ?

พนักงานเงียบ ไม่มีใครตอบ ตอนแรกยืนล้อมเรา พอเราถามหาความรับผิดชอบ วงแตกเลย ระหว่างนั้นเราก็โทรให้น้องชาย วิ่งเอาสลิปที่ซื้อไปมาให้ที่บูธ พนักงานก็ก้มดูสลิป แล้วพูดว่า ขอโทษค่ะ ด้วยน้ำเสียงไม่ได้รู้สึกผิดอะไรแม้แต่นิดเดียว
เราเลยจัดการตักเตือนพนักงานคนนี้ไปหนึ่งกระบวน ว่าถ้าเกิดข้อผิดพลาดการทำงานแบบนี้ให้คุณไปเรียบเรียงความผิดพลาดนี้จากพนักงานของคุณก่อน ไม่ใช่ มาดึงแท็กกระเป๋าจากมือลูกค้า และมาขอตรวจขอเช็กด้วยน้ำเสียงและท่าทางที่จงใจบอกว่าลูกค้าขโมยแบบนี้ แล้วผลสุดท้ายเราไม่ได้เอาไป แต่กลับไม่มีใครรับผิดชอบอะไรได้เลยสักคน
ความรู้สึกเราตอนนั้นเราเสียหน้า เสียความรู้สึกมาก ที่ต้องมานั่งกลางวงพนักงานล้อมรอบ เสมือนว่าเราเป็นขโมย…

“เราเข้าใจว่าจากการแต่งตัวไปเดินห้างใกล้บ้านของเรา เสื้อยืด กางเกงขาสั้น รองเท้าแตะ หน้าผมไม่แต่ง บวกกับเราซื้อของ ถือของโดยที่ไม่ได้ใส่ถุงของสินค้า อาจทำให้พนักงานสันนิษฐานผิด แต่ก็คงไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือเป็นเรื่องของ"มารยาท"
“ตอนนี้ยังไม่ได้คอมเพลนนาง แต่กลับมานั่งที่บ้านแล้วชั่งใจตัวเองดูก่อนว่าจะคอมเพลนพนักงานคนนี้ดีไหม ขอบคุณทุกความคิดเห็น ตอนนี้เมกำลังจะส่งเรื่องให้ศูนย์บริการลูกค้า จัดการต่อถึงปัญหาตรงนี้แล้วค่ะ”

กรณีนี้ ทนายนิติธร หอมโต เปิดเผยกับอีจันว่า ในด้านกฎหมาย ต้องดูที่สถานการณ์ตอนนั้นว่าร้ายแรงแค่ไหน เพราะถ้าหากทำให้ลูกค้าโดนเข้าใจผิดว่าเป็นขโมย พนักงานอาจจะเข้าข่ายหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 โดยบัญญัติว่า ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยต้องโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ภาพจากอีจัน

ทั้งนี้ ทนายนิติธร ยังเสนอถึงการแก้ปัญหา หากเกิดกรณีดังกล่าว ว่า การซื้อของทุกครั้ง ลูกค้าควรเก็บใบเสร็จไว้ เพื่อแสดงว่าได้จ่ายเงินเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าร้านค้าใดที่ไม่มีใบเสร็จให้ ก็ขอให้ลูกค้าถ่ายรูปการจ่ายเงินเก็บไว้เป็นหลักฐาน แต่สำหรับร้านค้าและห้างร้านต่างๆ ควรมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ไม่กระทบต่อสิทธิลูกค้ามาก เช่น ฝังชิปไว้ที่ของ หรือทำสัญลักษณ์อื่นๆ เพื่อเป็นการยืนยันว่า ลูกค้าได้จ่ายเงินเรียบร้อยแล้ว