อัยการแจง ข้อพิพากษา 5 คดีเก่า “คิด เดอะริปเปอร์” ทำไมไม่ถูกจำคุกตลอดชีวิต

อัยการชี้ข้อกฎหมายไม่ให้ศาลลดโทษ “สมคิด เดอะริปเปอร์” ฆาตกรต่อเนื่อง

จากข้อสงสัย กรณี คิด เดอะริปเปอร์ ผู้ก่อเหตุอุกฉกรรณ์ สะเทือนขวัญ ฆ่าคนตายต่อเนื่อง 5 ศพ ในเวลาห่างกันเพียง 5 เดือน ทำไม เขาถึงถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำเร็ว จนกลับมาก่อเหตุซ้ำฆ่าสาวใหญ่ จ.ขอนแก่น ตายด้วยวิธีเดิม หลังจากถูกปล่อยตัวเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น

ภาพจากอีจัน

โดยวันนี้ (17 ธ.ค.62) นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้แถลงข่าวถึงข้อสงสัยของประชาชนว่า

นายสมคิด ก่อเหตุฆ่าเหยื่อมา 5 คดี ซึ่งอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลให้ลงโทษแล้ว

คดีทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อปี 2548 คดีแรก ก่อเหตุเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 48 เขาฆาตกรรมชิงทรัพย์ น.ส.วารุณี พิมพะบุตร อายุ 25 ปี นักร้องคาเฟ่ในห้องพัก โรงแรม ต.มุกดาหาร อ.เมือง จ.มุกดาหาร

คดีที่ 2 เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 48 ฆ่า น.ส.ผ่องพรรณ ทรัพย์ชัย อาชีพหมอนวดแผนโบราณในโรงแรมที่ ต.สวนดอก อ.เมือง จ.ลำปาง

คดีที่ 3 เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 48 ฆ่าชิงทรัพย์ นางพัชรีย์ อมตนิรันดร์ นักร้องคาเฟ่ ในห้องพักโรงแรม ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง

คดีที่ 4 เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 48 ฆ่า น.ส.พรตะวัน ปังคะบุตร หมอนวดแผนโบราณ ที่โรงแรมใน อ.เมืองอุดรธานี

และ คดีที่ 5 เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 48 ฆ่าชิงทรัพย์ น.ส.สมปอง พิมพรภิรมย์ อาชีพหมอนวดแผน ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์

ภาพจากอีจัน

จะเห็นว่าในเดือนมิถุนายน 2548 เพียงเดือนเดียว นายสมคิดก่อเหตุฆ่าเหยื่อ 4 ศพ ซึ่งเมื่อคดีทั้งหมดพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลไปทั้งหมด 5 คดี

ซึ่งผลการพิจารณาคดีของศาลตั้งแต่ชั้นต้นจนถึงชั้นฎีกา ศาลพิพากษาประหารชีวิต
แต่เนื่องจากนายสมคิด ให้การรับสารภาพตั้งแต่ชั้นสอบสวน การพิจารณาเป็นประโยชน์ศาลลดโทษให้ เหลือจำคุกตลอดชีวิตทั้ง 5 คดี

ภาพจากอีจัน

นายประยุทธ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นข้อกฎหมายที่ว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาประหารชีวิตแล้ว สามารถประหารชีวิตได้เพียงครั้งเดียว แต่สุดท้ายเมื่อศาลลดโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิตทั้ง 5 คดี ซึ่งโทษจำคุกตลอดชีวิตตามกฎหมายสามารถจำคุกได้ 50 ปี แต่ตามกฎหมายไม่ใช้การนำตัวเลข 50 ปี มาคูณ 5 ซึ่งจะทำให้โทษเป็น 250 ปี แต่กฎหมายให้ลงโทษได้สูงสุด 50 ปีเท่านั้น นับตั้งแต่วันที่นายสมคิด ถูกจำคุกครั้งแรกคือวันที่ 29 มิ.ย.2548 และก็ได้รับการลดหย่อนโทษในขั้นตอนของกรมราชทัณฑ์ กระทั่งถูกปล่อยตัวไปเมื่อช่วงเดือน พ.ค.2562 เมื่อปล่อยตัวก็กลับไปก่อเหตุซ้ำอีกตามที่เป็นข่าว

ภาพจากอีจัน

นายประยุทธ กล่าวยืนยันว่า คดีที่ผ่านมานั้นทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้ดำเนินคดีทุกคดีตามพยานหลักฐานและข้อกฎหมายครบถ้วน ส่วนคดีที่ นายสมคิด ก่อเหตุขึ้นใหม่อีกนั้น ทางอัยการจะมีแนวทางในการดำเนินคดีเพื่อให้ความมั่นใจกับสังคมและประชาชน โดยในการพิจารณายื่นฟ้องทางอัยการจะต้องดูประวัติการกระทำผิด รวมถึงพฤติการณ์เพื่อบรรยายในคำฟ้อง รวมถึงการนำสืบให้ศาลเห็นพฤติการณ์ของจำเลย

หากจะต้องมีการดำเนินการฟ้องขอให้ลงโทษเด็ดขาดรุนแรง อัยการก็จะทำหน้าที่ตรงนั้นอย่างสุดความสามารถ เพราะพฤติกรรมการกระทำผิดในลักษณะฆาตกรต่อเนื่องถือว่าเป็นภัยอันตรายต่อสังคม

ภาพจากอีจัน

โดยตามกฎหมายแล้วหากมีการกระทำผิดภายในระยะเวลา 5 ปีหลังพ้นโทษ อัยการสามารถฟ้องขอให้ศาลเพิ่มโทษ 1 ใน 3 ได้ แต่หากเป็นข้อเท็จจริงว่าคดีใหม่นี้เป็นคดีฆ่าโดยไตร่ตรองหรือฆ่าชิงทรัพย์ โทษสูงสุดจะประหารชีวิต ก็จะไม่สามารถเพิ่มโทษได้อีก

เมื่อถามว่าในตอนยื่นฟ้องหากจำเลยรับสารภาพจะขอให้ศาลลงโทษสถานหนัก โดยไม่มีการลดโทษได้หรือไม่

นายประยุทธ กล่าวว่า เราจะไม่ก้าวล่วงการใช้ดุลยพินิจลงโทษของศาล แต่ก็มีหลักกฎหมายอยู่ว่า ถ้าการรับสารภาพของจำเลยหรือผู้ต้องหาไม่ว่าจะเป็นชั้นสอบสวน หรือชั้นพิจารณา เป็นประโยชน์ ศาลก็จะลดโทษให้ แต่ก็มีกฎหมายอีกจุดหนึ่ง ซึ่งตนเชื่อว่าอัยการก็จะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าการที่จำเลยรับสารภาพนั้นไม่ใช่การสำนึกผิด แต่เป็นเพราะจำนนต่อหลักฐาน ให้ศาลเห็นว่า การกระทำที่ฆาตกรรมต่อเนื่องมา 5 คดี ไม่ได้ทำให้เข็ดหลาบ ที่ผ่านมาการทำหน้าที่ของอัยการถ้าเรานำสืบให้ศาลเห็นว่ารับสารภาพเพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน ศาลก็จะไม่ยกประโยชน์ แต่ทั้งนี้ต้องดูข้อเท็จจริงในสำนวนคดีด้วย

ภาพจากอีจัน

เมื่อถามว่าคดีที่ผ่านมาศาลสั่งลงโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ในความเป็นจริงจำเลยติดคุกจริงเพียง 10 ปีเศษ และยังกลับมาก่อคดีซ้ำอีก เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมตั้งคำถาม แต่คนที่ให้คำตอบได้ดีที่สุดคือกรมราชทัณฑ์ แต่ขั้นตอนปฏิบัติต่างๆของกรมราชทัณฑ์ก็มีกฎหมายรองรับอยู่ อย่างไรก็ตามถ้าหากกฎหมายที่ใช้อยู่นั้นเอื้อต่อผู้ต้องขังมากไป สังคมไม่ได้รับความปลอดภัยมากไปหรือไม่ ก็ต้องกลับพิจารณาที่ตัวบทกฎหมาย ส่วนจะต้องแก้ไขกฎหมายหรือไม่ จะต้องวิเคราะห์กันหลายมุมและหลายองค์กรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมราชทัณฑ์ อัยการ ศาล นักอาชญาวิทยาตลอดจนนักวิชาการ ว่าถึงเวลาที่จะต้องแก้กฎหมายหรือไม่ เพียงใด

อ่านข่าวเพิ่มเติม