อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เร่งหาสาเหตุ ไทรอยด์เป็นพิษในเรือนจำ

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ลงตรวจเรือนจำ จ.พิษณุโลก เร่งหาสาเหตุ ไทรอยด์เป็นพิษในเรือนจำ หลังผู้ต้องขังเสียชีวิต 4 ราย

วันนี้ (6 ม.ค. 63) พันตำรวจเอกณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางมาตรวจเรือนจำ จ.พิษณุโลก เพื่อประชุม และวางแผนปฏิบัติการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 7 วัน

ภาพจากอีจัน
พันตำรวจเอกณรัชต์ เศวตนันทน์ เล่าว่า ได้เข้าไปตรวจสอบสถานการณ์ ขณะนี้อาจจะเร็วเกินไปสำหรับการสรุปว่าสาเหตุเกิดจากอะไร แต่จากหลักฐานของกรมควบคุมโรค และสาธารณสุข จ.พิษณุโลก ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตในเรือนจำมีภาวะโปรแตสเซี่ยมต่ำ ซึ่งน่าจะเกิดจากการบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อนของไทรอยด์ ทำให้ไทรอยด์ทำงานผิดปกติทำให้เกิดภาวะโปรแตสเซียมต่ำ มือเท้าอ่อนแรง บางรายถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งตั้งแต่ 29 ธ.ค.62 ถึง 4 ม.ค.63 มีผู้ต้องขังเสียชีวิตแล้วจำนวน 4 คน โดยกรมราชทัณฑ์ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ระดมกำลังแพทย์และพยาบาล เข้าช่วยเหลือ คัดกรองเบื้องต้นด้วยการจับชีพจร โดยผู้ต้องขังที่มีชีพจรเกินกว่า 100 ครั้งต่อนาที สามารถแยกออกมาได้จำนวน 610 คน และส่งตัวเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลทันทีประมาณ 50 คน ได้แก่ รพ.ค่ายสมเด็จพระนเรศวร จำนวน 25 คน รพ.วังทอง จำนวน 4-5 คน และ รพ.พุทธชินราชประมาณ 5 คน รวมแล้วนอนรักษาตัวที่ รพ.ประมาณ 50 คน

ซึ่งในวันพรุ่งนี้ 7 ม.ค. 63 กระทรวงสาธารณสุข จะมีการเจาะเลือดผู้ต้องขังทั้งหมด 3,000 กว่าราย เพื่อเก็บตัวอย่างไปวิเคราะห์ และคัดกรองโรคในห้องแล็ป โดยใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์จึงจะทราบผล

ภาพจากอีจัน
พันตำรวจเอกณรัชต์ เล่าต่อว่า เรือนจำ จ.พิษณุโลก มีผู้ต้องขัง 3,000 กว่าราย แต่ไม่มีแพทย์เลย มีเพียงพยาบาล 2 คน และเจ้าหน้าที่ 120 คน ซึ่งถือว่าเป็นภาระค่อนข้างหนัก โดยวันนี้ ได้ทำความเข้าใจกับผู้ต้องขัง แนะนำให้ผู้ต้องขังสังเกตอาการของตนเอง เพื่อตรวจสอบเบื้องต้น

ส่วนเรื่องการตรวจอาหารเพื่อหาสาเหตุของโรคนั้น ต้องรอผลตรวจอีกครั้ง ซึ่งตนก็ยังไม่ปักใจเชื่อว่า อาหารที่ส่งไปให้ตรวจในแล็ปนั้น เป็นตัวอย่างชิ้นเนื้อที่ปนเปื้อนจริงหรือไม่ กรมราชทัณฑ์ ได้ให้ผู้ตรวจราชการของกรม มาเก็บข้อมูลไปตรวจสอบด้วย ถ้าหากผลออกมาแล้วเกิดจากอาหารปนเปื้อน จะพิจารณาข้อบกพร่องทางวินัย ส่วนเรื่องทางปกครอง ขอเวลาประมวลอาจจะใช้มาตรการทางการปกครองในการย้ายสับเปลี่ยน

ทั้งนี้ พันตำรวจเอกณรัชต์ ยังเล่าถึงการแก้ปัญหาส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาอย่างทันท่วงทีว่า เป็นเรื่องที่ตนตำหนิไป เพราะทั้ง 4 รายที่เสียชีวิต เสียชีวิตในเรือนนอน ซึ่งโดยหลักแล้ว ถ้ามีการตื่นตัว มีอาสาสมัครสาธารณสุขในเรือนจำ ผู้ช่วยงานเจ้าหน้าที่ที่ไว้วางใจน่าจะสังเกตอาการได้ เพราะในช่วงกลางคืนกำลังเราค่อนข้างน้อย ผู้ต้องขังก็แยกนอนห้องละ 50-100 คน

จากการที่ตนตรวจสอบภาพวงจรปิด ก็ไม่พบว่า เป็นการทำร้าย หรือ ฆาตกรรม และผู้เสียชีวิต ก็ไม่ได้มีอาการทุรนทุราย หรือ ร้องโวยวายแต่อย่างใด เพียงแต่พลิกตัวไปมา ถีบผ้าห่มออกเท่านั้น ซึ่งพบอีกทีก็เสียชีวิตแล้ว

ส่วนมาตรการการในเพิ่มแพทย์ และพยาบาลในเรือนจำ เป็นเรื่องที่ยึดโยงกับอัตรากำลัง เราได้รับเพิ่มตามลำดับ แต่จำนวนประชากรผู้ต้องขังค่อนข้างมาก ถ้าวัดตามความเหมาะสมที่เจ้าหน้าที่ดูแลได้ ผู้ต้องขังจะอยู่ที่ประมาณ 120,000 คน

แต่ขณะนี้ จำนวนผู้ต้องขังพุ่งไป 370,000 คน ซึ่งอัตราเจ้าหน้าที่ที่ได้รับอนุมัติ ก็ยังไม่เพียงพอ
ในปีนี้สำนักงบประมาณได้อนุมัติให้สร้างโรงพยาบาลราชทัณฑ์แห่งที่สอง ก็จะได้แพทย์และบุคลากรเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงไม่เพียงพออยู่ดี

สำหรับการจัดอาหารเข้าเรือนจำนั้น เราเคยมีหนังสือแจ้งไปยังรัฐวิสาหกิจ กรณีส่งวัตถุดิบไม่ตรงสเปก เช่น ทัณฑสถานหญิงพิษณุโลก กรมราชทัณฑ์ก็ทำหนังสือแจ้งไปหนังหน่วยงานที่ส่งสินค้าเข้ามา ว่าปริมาณสินค้า ไม่ตรงตามสเปก ถ้าไม่แก้ไขก็จะทำการเปลี่ยนผู้ส่ง และกรมราชทัณฑ์ก็จะตรวจสอบ ผู้ตรวจรับด้วยเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ผู้ตรวจราชการกรมได้เข้ามาตรวจสอบในเรือนจำพิษณุโลกแล้ว อยู่ขณะรอผลสรุป

ด้าน นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เล่าถึงการเสียชีวิตของผู้ต้องขัง 4 ราย ที่เรือนจำ จ.หวัดพิษณุโลก และมีอาการป่วยอีกจำนวนมาก

เบื้องต้นแพทย์ระบุว่ามีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูงสาเหตุน่าจะมาจากอาหาร โดยเบื้องต้นได้ประชุมหารือร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของสังกัดกระทรวงมหาดไทยกระทรวงยุติธรรมกองทัพบก และกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ได้จัดทำแผนปฏิบัติการควบคุม และป้องกันสถานการณ์โรคที่เกิดขึ้นในเรือนจำ เพื่อควบคุมไม่ให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น

ส่วนมาตรการต่อไปจะต้องบำบัดรักษาผู้ที่เจ็บป่วยให้หายเป็นปกติ โดยกำหนดมาตรการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ตรวจเลือดคัดกรอง จ่ายยา มาตรการด้านอาหาร งดเนื้อสัตว์ เสริมโปรตีนและอื่น ๆ มาตรการด้านจิตวิทยาสร้างความมั่นใจแก่ผู้ต้องขัง ประชาชน และด้านความมั่นคง ให้เกิดความเชื่อมั่นในความสงบเรียบร้อย ซึ่งจะสามารถควบคุมสถานการณ์ให้ยุติได้ภายใน 7 วัน

ด้าน นายธรรมนูญ ทองสุข ปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก ได้จัดส่ง เข้าตรวจสอบสถานที่ ร้านที่เป็นตัวแทนองค์การคลังสินค้าส่งวัตถุดิบประกอบอาหารให้เรือนจำ จ.พิษณุโลก แล้ว และเก็บวัตถุดิบประกอบอาหารของเรือนจำพิษณุโลก ซึ่งเบื้องต้นพบว่า มีเอกสารการเคลื่อนย้ายซากสัตว์ (ร.4) ถูกต้อง ขณะที่การเก็บตัวอย่างเนื้อจากสถานที่เก็บวัตถุดิบประกอบอาหารของเรือนจำพิษณุโลกเพื่อตรวจหาสารตกค้างและเชื้อโรคที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนอีกด้วย