เปิดคำร้องนายชัยวัฒน์และพวก ขอความเป็นธรรมคดีบิลลี่ ต่ออัยการสูงสุด

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ยื่นหนังสือร้องเรียนต่ออัยการสูงสุด ขอความเป็นธรรมในคดีบิลลี่

(13 ม.ค.63) นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้เดินทางมาที่สำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมกับนายพรชัย พฤกษ์พิชัยเลิศ ทนายความ เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่ออัยการสูงสุด ขอความเป็นธรรมในคดีบิลลี่ โดยมีการร้องขอว่า

คดีนี้เป็นที่ทราบโดยทั่วกันการหายตัวไปของนายพอจะลี รักษ์จงเจริญ หรือบิลลี่ เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 ในช่วงตั้งแต่เวลาดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน คดีนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ไม่ใช่เพียงแต่ในประเทศ แต่ยังเป็นที่สนใจของโลกโดยเฉพาะองค์การสหประชาชาติที่ดูแล ทางด้านการปกป้องสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา มีการเคลื่อนไหวรวมตัวกันขององค์กรต่างๆไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศที่ทำงานทางด้านสิทธิมนุษยชน พยายามออกข่าวในลักษณะที่ชี้นำสังคมไปว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 ที่ได้ควบคุมตัวบิลลี่เป็นคนฆ่าและเผาทำลายศพนายบิลลี่ องค์กรต่างๆจะพยายามกดดันให้รัฐบาลไทยค้นหาหรือสืบเสาะแสวงหาผู้กระทำความผิด ไม่ว่าโดยวิธีการใดโดยเฉพาะองค์กรที่เรียกว่าคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ออกแถลงการณ์ร่วม โดยนายเฟรเดอริก รอว์สกี ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ICJ ย้ำว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษควรเพิ่มความพยายามมากขึ้นเพื่อระบุตัวผู้ที่กระทำ การสังหารนายบิลลี่และนำตัวผู้ต้องหาเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม

การแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นการกดดันรัฐบาลไทยและกรมสอบสวนคดีพิเศษให้ดำเนินคดีกับคนที่เกี่ยวข้องและชี้นำให้มีการ ตั้งข้อหาตามความผิดอาญาที่ร้ายแรงซึ่งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับกลุ่มบุคคลในวันที่นายบิลลี่หายตัวไปนั้น ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ว่าต้องเป็นผู้ต้องหาทั้ง 4 การชี้นำเช่นนี้ย่อมไม่เป็นธรรมและเป็นสาเหตุให้มีการแสวงหาพยานหลักฐานไม่ว่าโดยวิธีการใดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของกรมสอบสวนคดีพิเศษ

การสอบสวนของพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องหาทั้ง 4 และไม่ได้ทำการสอบสวนให้เป็นไปตามกฎหมาย ในทางตรงกันข้ามกลับโยงแต่จะหาพยานหลักฐานมาเพื่อกล่าวหาผู้ต้องหาทั้ง 4 ว่าเป็นผู้กระทำผิด โดยพยายามอ้างอิงสำนวนการสอบสวนของพ.ต.ท.ไตรวิทย์ น้ำทองไท กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 7 และสำนวนการสอบสวนของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) เท่านั้น ด้วยวิธีการเเสวง หาพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น

การสอบปากคำนักศึกษาฝึกงานทั้ง 2 คนต้องทำการสอบหลายรอบจนได้คำตอบตามที่ต้องการจึงให้หยุดสอบทั้งที่นักศึกษาฝึกงานทั้ง 2 คนได้เบิกความไว้ชัดเจนที่ศาลจังหวัดเพชรบุรีก่อนหน้านั้นแล้วหรือแม้แต่พยานปากนายเกษมฯ หัวหน้าด่านมะเร็วก็ทำนองเดียวกันแล้วมาแถลงข่าวว่า พยานทั้งหมดกลับคำให้การหมดแล้ว

ก่อนหน้าที่จะมีการออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 4 ได้มีนายตำรวจสังกัดตำรวจภูธรภาค 7 ชื่อดาบตำรวจพงษ์ศาวดี หรือเท่ง ไทยกูล ผู้บังคับหมู่กองกำกับการสืบสวนสอบสวน 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 7 ได้มีการโทรศัพท์สนทนาพูดคุยกับนางรัตน์ดาวรรณ บุษราคัม ภรรยาของนายบุญแทน บุศราคัม ผู้ต้องหาที่ 2 อดีตเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในทำนองว่าให้นายบุญแทน ไปเป็นพยานปรักปรำนายชัยวัฒน์ จะได้ไม่ต้องถูกดำเนินคดี ซึ่งในระหว่างที่กันตัวเป็นพยานนี้จะมีการคุ้มครองพยานและให้เงินเดือนนายบุญแทน จนกว่าคดีจะถึงที่สุดแล้วในช่วงหนึ่งยังพูดทำนองว่ามีข่าวหรือว่าหัวหน้าชัยวัฒน์เคยขู่ฆ่านายบุญแทน เพราะเป็นพยานปากสำคัญ

การกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ และตำรวจภูธรภาค 7 ร่วมกันแสวงหาพยานหลักฐาน โดยใช้วิธีการขู่เข็ญ ชักจูง นายบุญแทน ซึ่งเป็นผู้ต้องหาเพื่อให้นายบุญแทนไปให้การในชั้นสอบสวนในทำนองว่า วันดังกล่าวผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ได้ร่วมกันฆ่านายบิลลี่ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้เตรียมการเรียบเรียงคำไว้ให้นายบุญแทน เรียบร้อยแล้ว ว่านายบิลลี่ถูกฆ่าด้วยวิธีการใด และถูกฆ่าที่ไหน จากนั้นได้นำเศษกระดูกทั้งหมดมาทิ้งไว้ที่สะพานแขวนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

ทั้งนี้หากนายบุญแทนยินยอม หรือว่ากลัวตอนที่ดาบเท่ง เกลี้ยกล่อม ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นอย่างมากเพราะนายบุญแทนเป็นกลุ่มบุคคลที่อยู่กับผู้ต้องหาทั้งหมดและเป็นประจักษ์พยานที่สำคัญมีน้ำหนักและรับฟังได้ เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้ต้องหาทั้ง 3 ที่เหลือ และนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาสอดรับกับการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ค้นพบเศษกระดูกที่กล่าวอ้าง พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษยังได้มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหลายแขนงตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน 2562 โดยชี้นำสังคมและประชาชนให้เห็นว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 คนเป็นผู้กระทำความผิดในคดีนี้

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน