ม.ขอนแก่น ร่วมกันทำขาเทียมม้าชิ้นแรกของประเทศไทย

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มข. ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มข. ร่วมกันทำขาเทียมให้ม้าชิ้นแรกของประเทศไทย พร้อมเตรียมต่อยอดทำวิลแชร์และขาเทียมสัตว์ชนิดอื่นๆ

วันนี้ (30 ม.ค. 63) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มข. ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มข. ร่วมกันทำขาเทียมสำหรับม้าชิ้นแรกของประเทศ เพื่อให้ม้าที่ขาพิการสามารถกลับมาเดินวิ่งได้อย่างปกติอีกครั้ง พร้อมเตรียมต่อยอดทำวิลแชร์และขาเทียมสัตว์ชนิดอื่นๆ

ที่อาคารม้าภายในคลินิกสัตว์ใหญ่ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ.สพญ.สุพรรณิกา พุทธชาลี อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มข. พร้อมด้วย ผศ.นพ.พลากร สุรกุลประภา หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มข. พาผู้สื่อข่าวไปพบกับ ปู่บอนไซ ม้าแคระ อายุ 23 ปี อดีตแชมป์ม้าหล่อระดับโลก ที่ปัจจุบันใช้ชีวิตเพียง 3 ขา แต่โชคดีที่ทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ มข.ได้เดินทางไปทัศนศึกษาที่ จ.สุพรรณบุรี และพบกับ ปู่บอนไซ ม้าแคระตัวนี้ และรับมาดูแลพร้อมประสานทางคณะแพทยศาสตร์ มข.ทำขาเทียมขึ้นชิ้นแรกของประเทศไทยให้กับปู่บอนไซ ม้าแคระตัวนี้ได้ใช้แทนขาที่เสียไป จนสามารถเดิน – วิ่งได้สะดวกขึ้น โดยมีคณะอาจารย์และนักศึกษาสัตวแพทยศาสตร์เป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

ผศ.สพญ.สุพรรณิกา พุทธชาลี อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มข. หรือ หมอเจี๊ยบ เปิดเผยถึงการรับปู่บอนไซ ม้าแคระวัย 23 ปีตัวนี้มาเลี้ยงให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า ปู่บอนไซ เคยอาศัยอยู่ที่ฟาร์มแห่งหนึ่ง ใน จ.สุพรรณบุรี แต่เกิดอุบัติเหตุขึ้นเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ทำให้ต้องทำการรักษาด้วยการตัดขา และใช้ชีวิต 3 ขามาตั้งแต่หลังผ่าตัด และด้วยที่ปู่บอนไซมีแค่ 3 ขา ทำให้ขาหลังซึ่งมีขาเดียวรับน้ำหนักจำนวนมาก จนเกิดการผิดรูปที่ขาหลังด้านขวา

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

ซึ่งทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ มข.ได้รับตัวปู่บอนไซมาดูแลเมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค.63 ที่ผ่านมา หลังจากที่คณะอาจารย์และนักศึกษาของคณะสัตวแพทยศาสตร์ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ จ.สุพรรณบุรี และบังเอิญพบกับปู่บอนไซซึ่งมี 3 ขา จึงได้สอบถามเจ้าของจนทราบเรื่องราวว่าเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฟันขึ้นจนต้องตัดขา และใช้ชีวิตด้วยขาทั้ง 3 ข้าง จนนานไปขาขวาด้านหลังต้องรับน้ำหนักจนผิดรูป และอักเสบสร้างความเจ็บปวดจนปู่บอนไซไม่เดินอีกเลย จึงได้ปรึกษากับเจ้าของ ขอให้พาไปดูแลที่ขอนแก่น เพราะสงสารที่ปู่บอนไซต้องใช้ชีวิตด้วยความเจ็บปวด และได้ปรึกษากับทางคุณหมอคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลองทำขาเทียมให้กับปู่บอนไซ

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

จนกระทั่งทำสำเร็จโดยฝีมือของทีมช่างหน่วยกายอุปกรณ์เสริมและเทียม ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ มข. ซึ่งครั้งแรกที่สวมใส่ให้กับปู่บอนไซนั้น ปู่บอนไซเตะขาไม่ยอมใส่ และวันที่ 2 ได้ลองสวมใส่ให้กับปู่บอนไซอีกครั้ง ซึ่งปู่บอนไซได้ยอมใส่แต่ยังไม่กล้าเดิน และวันที่ 3 ปู่บอนไซเริ่มเดิน และวิ่งตามลำดับ ปรากฏว่าเป็นขาเทียมม้าชิ้นแรกที่ประสบผลสำเร็จช่วยให้ปู่บอนไซมีขาที่ 4 ใช้ชีวิตตามปกติแล้ว แต่บางครั้งถ้าปู่บอนไซยืนกินหญ้านานๆก็จะเผลอลืมตัวคิดว่าตัวเองมี 3 ขาอยู่ ก็จะปล่อยขาซ้ายที่พิการ ทางผู้ดูแลจึงต้องคอยช่วยในช่วงแรกให้ปู่บอนไซจดจำได้ว่ามีขาเทียมมาใส่ให้ และในส่วนขาขวาด้านหลังที่ผิดรูปนั้น ทางคณะฯก็จะดูแลรักษาตามขั้นตอนจนสามารถกลับมาให้เป็นปกติให้ได้มากที่สุดต่อไป

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

นอกจากนี้ทางคณะแพทย์เองก็จะมีการต่อยอดด้วยการทำวีลแชร์ให้กับสัตว์ชนิดต่างๆได้ใช้ในการดำรงชีวิต และขาเทียมสำหรับสัตว์ใหญ่ชนิดอื่นๆต่อไป