ซากอยู่ไม่ไกลจากจุดยิงยาสลบ

ยุติภารกิจค้นหายีราฟ หลังพบซากในคูน้ำหน้าโรงแรมห่างจากจุดยิงยาสลบเพียง 300 เมตร

ความคืบหน้ากรณีค้นหายีราฟของสวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ยุติลงแล้วเมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (30 มกราคม 63) หลังพบซากยีราฟอายุประมาณ 4 ปี จมอยู่คูน้ำหน้าโรงแรมซันไรส์ ลากูน ริมถนนสาย 304 ต.เสม็ดเหนือ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่เศร้าสลดเพราะประชาชนทั้งประเทศรวมถึงสื่อต่างชาติก็ให้ความสนใจกับเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น แม้หลายคนจะเอาใจช่วยให้เจ้ายีราฟปลอดภัยแต่สุดท้ายเราก็ได้รับข่าวร้าย ยีราฟนอนขึ้นอืดกลายเป็นซาก

ภาพจากอีจัน
บริเวณจุดเกิดเหตุพบว่า เจ้ายีราฟตัวนี้พยายามตะเกียกตะกายขึ้นมาจากน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด คาดว่าต้นบัวในน้ำพันขาเอาไว้ทำให้ขึ้นมาไม่ได้ เพราะความลึกของน้ำประมาณ 2 เมตร จุดที่พบซากอยู่ไม่ไกลจากจุดที่ยิงยาสลบห่างออกมาเพียง 300 เมตร แต่อยู่อีกฝั่งของถนน
ภาพจากอีจัน
ภารกิจการกู้ซากยีราฟใช้เวลาประมาณ 30 นาที ท่ามกลางชาวบ้านหลายร้อยชีวิตที่มายืนดูด้วยความสงสารเจ้ายีราฟ ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครทีมกู้ภัยฉะเชิงเทรา ทีมชมรมร่มบินพนมสารคามพยายามช่วยกันตามหามาตลอด 3 วัน
ภาพจากอีจัน

นี่คือภาพสุดท้ายที่ทีมข่าวเราบันทึกได้ หลังจากยีราฟ ถูกยิงยาสลบไปได้ประมาณ 15 นาที ก่อนที่มันจะหายไปในความมืดและเบาะแสจากพลเมืองดีว่ามันวิ่งข้ามถนนมาแล้ว แต่ทีมค้นหาได้เข้ามาในบริเวณนี้แล้วแต่ไม่พบ บวกกับในช่วงเวลานั้นเต็มไปด้วยความมืด จึงไม่ทราบว่ายีราฟกำลังตกอยู่ในอันตราย

ภาพจากอีจัน
นายดวง คิ้วคชา ผู้จัดการสำนักงานวิจัยและอภิบาลสัตว์ ซาฟารีเวิลด์ ระบุว่า โดยปกตินิสัยของยีราฟเป็นสัตว์ที่ไม่ชอบน้ำอยู่แล้วและว่ายน้ำไม่เป็น สาเหตุที่ยีราฟตกลงไปในน้ำอาจเป็นเพราะความมืดทำให้ยีราฟมองไม่เห็น จึงพลัดตกลงไป รวมถึงเป็นช่วงเวลาที่ยาสลบออกฤทธิ์ เพราะจากข้อมูลพบว่า ทีมสัตวแพทย์ยิงยาสลบช่วงเวลาประมาณ 5 ทุ่ม ของวันที่ 28 มกราคม พลเมืองดีพบเห็นว่ายีราฟวิ่งข้ามถนนมาอีกฝั่งตอนประมาณเวลาเที่ยงคืน 38 นาที นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ยาสลบออกฤทธิ์ เพราะยาสลบจะออกฤทธิ์ไปแล้วประมาณ 1 ถึง 2 ชั่วโมง หลังยิงยาสลบ
ภาพจากอีจัน
หลังจากนี้ทีมสัตวแพทย์ จะนำซากของยีราฟไปผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตายอย่างละเอียดอีกครั้ง ซึ่งสถานที่ที่จะใช้ผ่าพิสูจน์ก็คือสถานที่เพาะพันธุ์ยีราฟในพื้นจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นของบริษัทซาฟารีเวิล์ด และต้องแจ้งกลับไปที่ประเทศต้นทางของยีราฟคือประเทศแอฟริกา เพราะยีราฟเป็นสัตว์ที่อยู่ในสนธิสัญญาไซเตส (CITES) หรืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ อนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่ใกล้สูญพันธุ์ ส่วนราคาของยีราฟตัวนี้ทางบริษัทซาฟารีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) ไม่ได้เปิดเผยเพราะเป็นความลับทางธุรกิจ

อ่านข่าวเพิ่มเติม