อ.เจษฎาเตือน ปูพิษ อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

ปูหายาก สีเเดงส้ม มีพิษเเรง หากกินอันตรายถึงชีวิต

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้เกี่ยวกับปู หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ปูนั้นก็มีพิษเช่นกัน
โดยอาจารย์เจษฎ์ อธิบายไว้ว่า
"ตัวนี้เป็นปูพิษครับ อยู่ในกลุ่มปูใบ้"
หลายคนน่าจะไม่เคยทราบว่า "ปู" นั้นมีหลายชนิดที่มีพิษ อันตรายถึงตายได้ อย่างเช่นปูในรูปนี้

ภาพจากอีจัน
ปูสวยๆ ตัวนี้มีชื่อว่า Mosaic reef crab หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lophozozymus pictor อยู่ในวงศ์ Xanthidae (พวกปูใบ้) โดยมักพบตามแนวปะการัง ใกล้ชายฝั่ง ขนาดตัวประมาณ 8-10 เซนติเมตร มักมีสีแดงถึงส้ม พร้อมลวดลายจุดสีขาวคล้ายกระเบื้องโมเสกบนกระดอง มีก้ามสั้นที่มีปลายสีดำ ปัจจุบันถือว่าเป็นปูชนิดที่หาได้ค่อนข้างยาก ปรกติเวลาเราคิดถึงสัตว์ทะเลที่มีพิษ ก็มักจะคิดถึงปลาปักเป้า หรือแมงดาไฟกัน แต่ก็มีปูอยู่หลายชนิดที่มีพิษสะสมในตัว และทำให้ถึงแก่ความตายได้ถ้ากินเข้าไป ปูพิษที่ว่านั้น มักจะเป็นปูในวงศ์ปูใบ้ เช่น ปูใบ้แดง (Artergatis intergerrimus) ปูใบ้ลาย (Lophozozymus pictor) ปูตาเกียง (Eriphia smithi) ปูใบ้ตาแดง (Eriphia sebana) เป็นต้น … ขณะที่ปูใบ้อีกหลายชนิด ก็สามารถนำมากินได้โดยไม่มีพิษ (จึงทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ถ้าเลือกกินผิดชนิด) ปูใบ้ชนิดที่มีพิษนั้น มีทั้งพิษที่เกิดจากสารกลุ่มนิวโรท็อกซิน ที่ทำลายประสาท เช่น สาร ซาซิทอกซิน (saxitoxin) โดยปูใบ้ได้กินแพลงค์ตอนพิษกลุ่มไดโนแฟลกเจเลทเข้าไป และสะสมพิษเหล่านี้ไว้ในตัว รวมทั้งมีพิษกลุ่มเตโตรโดท็อกซิน ชนิดเดียวกับที่พบในปลาปักเป้า โดยอาจจะสร้างจากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของปูใบ้ สารพิษพวกนี้ ส่วนใหญ่จะทนความร้อนสูง ดังนั้น ถึงนำไปประกอบอาหารด้วยการนึ่ง อบ หรือปิ้งย่าง ก็ไม่สามารถทำลายพิษลงได้ ถ้าได้รับเข้าไปอาจจะเกิดอาการบวมที่ริมฝีปาก ลิ้น ลำคอ และใบหน้า ถ่ายท้อง ปวดท้อง และช็อค รวมถึงเป็นอัมพาต และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น แม้แต่อาหารที่ดูธรรมดาๆ มาก อย่าง "ปู" ก็ต้องเลือกกินให้ถูกต้อง ไม่เอาชนิดที่มีพิษมากิน
ภาพจากอีจัน