ทนายเจมส์ ส่ง “อิชช่า” ให้กรมวิทย์ตรวจหา ไซบูทรามีน มั่นใจที่ อย. ตรวจเป็นของปลอม

ขนมาเพียบ! ทนายเจมส์ ส่ง “อิชช่า” ให้กรมวิทย์ช่วยตรวจหาสาร ไซบูทรามีน มั่นใจที่ อย. ตรวจเจอเป็นของปลอม

จากกรณีที่ อย. ตรวจพบสารไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบรนด์ ITCHA (อิชช่า) ที่ เบนซ์ พรชิตา เป็นพรีเซ็นเตอร์ ซึ่งดาราสาวได้ออกมาตั้งโต๊ะแถลงรายละเอียดในประเด็นร้อนดังกล่าวว่า ที่จริงแล้วผลิตภัณฑ์ที่ทาง อย. ตรวจนั้นเป็นของปลอม

ล่าสุด (11 มิ.ย. 67) ที่กระทรวงสาธารณสุข ทนายเจมส์ หรือ นายนิติธร แก้วโต ทนายความของบริษัท ITCHA (อิชช่า) ได้นำตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จากล็อตการผลิตในเดือน ก.พ. – เม.ย. 67 ที่ได้จากโรงงานที่รับผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ และตัวอย่างสินค้าลอกเลียนแบบที่ได้มาจากการล่อซื้อ มาให้กับทางกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบสาร “ไซบูทรามีน” ซึ่งมีทางแบรนด์ และ นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เข้าห้องประชุมหารือร่วมกันราว 1 ชั่วโมง ก่อนออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน 

นายกองตรี ดร.ธนกฤต กล่าวว่า วันนี้ ทนายเจมส์ ได้นำสินค้าจากแบรนด์ดังกล่าวมาให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบ เรื่องการปนเปื้อนของสารไซบูทรามีน ซึ่งเมื่อมีการร้องขอให้ตรวจตัวอย่าง ก็จะมีการตรวจสอบและยืนยันผลการตรวจให้เฉพาะตัวอย่างที่มีการร้องขอให้ตรวจเท่านั้น  

ซึ่งการมายื่นหนังสือให้ตรวจสอบสินค้าในครั้งนี้ ทางทนายเจมส์และทางแบรนด์อิชช่า ได้นำตัวอย่างสินค้าลอกเลียนแบบ และสินค้าของทางบริษัทมาให้ตรวจว่ามีส่วนผสมของไซบูทรามีนหรือไม่ ตนจึงเชิญ นพ.พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ภก.สมศักดิ์ สุนทรพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักยาและวัตถุเสพติด มารับตัวอย่างดังกล่าวไปตรวจ โดยจะใช้เวลาตรวจอย่างน้อย 7-10 วัน 

ด้าน นพ.พิเชฐ กล่าวว่า ในเรื่องการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ควบคุมน้ำหนัก มักจะพบวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่เป็นสารต้องห้าม คือ ไซบูทรามีน เนื่องจากสารชนิดนี้จะไปกดประสาททำให้ไม่หิว และมีผลข้างเคียงต่อการทำงานของหัวใจ ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการใช้สารดังกล่าว 

การตรวจของกรมวิทย์ จะมีการยืนยันผลตรวจเฉพาะตัวอย่างนั้น อย่างในวันนี้ทางบริษัทได้นำตัวอย่างสินค้ามา เป็นเลขที่อะไร ล็อตการผลิตใด เมื่อผลตรวจออกมาก็จะรับรองเฉพาะตัวอย่างชิ้นนั้น แต่จะไม่ได้รับรองสินค้าทั้งโรงงาน ทั้งล็อต หรือทั้งที่วางขายทั้งหมด 

ขณะที่ ทนายเจมส์ เผยว่า สินค้าที่นำมาส่งตรวจเป็นล็อตการผลิตของเดือน 2 เดือน 3 และเดือน 4 ซึ่งนำมาจากโรงงาน เพราะบริษัทไม่ได้เก็บสต๊อก แต่โรงงานจัดส่งให้ และยังมีผลิตภัณฑ์ที่ลอกเลียนแบบมา  ซึ่งของบริษัทที่นำส่ง ขาดเดือน ม.ค. เนื่องจากหมดไปแล้ว เพราะยอดสั่งจองเยอะมาก จนยอดขาดตลาด ทำให้มีของปลอม และพบว่ามีการใช้ล็อตเลขการผลิตเดียวกันหมด พอเราตรวจเจอเดือน มี.ค. เลยมีการประกาศว่า ล็อตการผลิตวันที่ 10 ม.ค. 67 เป็นของปลอม ซึ่งมีการประกาศตั้งแต่เดือน มี.ค. และมีการแจ้งความไปหลายครั้ง เพราะล่อซื้อหลายครั้ง  

ทางบริษัทก็เรียกสินค้าและเปลี่ยนแพคเกจใหม่แล้ว รวมถึงได้ยกเลิกเลขการผลิตของเดือนมกราคมไปแล้ว ดังนั้น หากเจอผลิตภัณฑ์เลขล็อตเดือนมกราคมขอให้แจ้งจับได้ทันที  

ส่วนการนำผลิตภัณฑ์มาตรวจสารครั้งนี้ เพราะมั่นใจว่าของบริษัททำถูกต้อง เนื่องจากโรงงานที่ผลิตทำหลายแบรนด์ หากทำไม่ดีก็กระทบหมด 

เมื่อถามว่าหลังจากมมีเหตุการณ์นี้ ได้คุยกับ อย. หรือไม่ว่าสินค้าที่ตรวจมาจากไหน ทนายเจมส์ กล่าวว่า ยังไม่ได้คุย แต่ต้องขอบคุณ อย. เพราะเราทราบว่ามีของปลอม และประกาศแจ้งเตือนตลอด แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า แต่พอ อย. ประกาศ พวกของปลอมปิดหมด 

ส่วนสินค้าที่ อย. นำส่งตรวจ เป็นปลอมแน่หรือไม่นั้น ทนายเจมส์ กล่าวว่า ปลอมแน่ เพราะดูจากกล่อง แพคเกจ ก็ไม่ใช่ของบริษัทแต่อย่างใด