ต้องรู้! 6 อาการวิกฤต มีสิทธิ์เข้ารักษาทุก รพ.ฟรี! ทั้ง รพ.รัฐ – รพ.เอกชน

6 อาการวิกฤต มีสิทธิ์เข้ารักษาทุก รพ.ฟรี! ทั้ง รพ.รัฐ – รพ.เอกชน ตามสิทธิ์ UCEP

ปีใหม่นี้ พี่น้องประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนากันคึกคัก

ถ้าหากเกิดเจ็บป่วย หรืออุบัติแหตุ ซึ่งเข้าข่าย 6 อาการภาวะฉุกเฉินวิกฤต ประกอบด้วย

1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ

2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง

3. เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง

4. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม

5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุดและ 6. มีอาการอื่นร่วม ที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมอง ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่งที่อยู่ใกล้สุด

นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า 6 อาการภาวะฉุกเฉินวิกฤต เป็นไปตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิ์ทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ของรัฐบาล โดยยื่นเพียงบัตรประชาชนใบเดียวและแจ้งใช้สิทธิ UCEP เข้ารับการรักษาได้ในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

ปัจจุบัน สปสช.มีระเบียบการเบิกจ่ายในส่วนของ UCEP ภาครัฐด้วย เพิ่มเติมจากอดีตที่มีการเบิกจ่ายสิทธิ UCEP ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นั่นหมายความว่าโรงพยาบาลรัฐที่รับการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติถึงแก่ชีวิตด้วยสิทธิ UCEP ก็จะเบิกจ่ายได้เช่นเดียวกับโรงพยาบาลเอกชนที่รักษาผู้ป่วยตามสิทธิ UCEP

สำหรับสิทธิ UCEP นั้นผู้ป่วยจะได้รับการรักษาจนพ้นวิกฤตและสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย โดยเมื่อพ้น 72 ชั่วโมง จะส่งรักษาต่อที่หน่วยบริการประจำ โดยให้สถานพยาบาลที่ให้การรักษาเบิกค่าใช้จ่ายค่ารักษาจาก สปสช. ตามอัตราที่กำหนด กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร. สายด่วน 1669 ได้ทั่วประเทศ

กรณีป่วยฉุกเฉินแต่ ‘ไม่วิกฤตถึงแก่ชีวิต’ สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐที่ใกล้ที่สุด โดยยื่นเพียงบัตรประชาชนใบเดียวและแจ้งใช้สิทธิบัตรทองหรือสิทธิ 30 บาท

เดินทางปลอดภัยนะคะ แต่ถ้าเจ็บป่วยฉุกเฉินก็โทรหาสายด่วน 1669 ได้ทั่วประเทศ