ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่าน สว. วาระแรกฉลุย 147 เสียง  

วุฒิสภามีมติเห็นชอบ ผ่านร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมวาระแรก 147 เสียง เตรียมตั้ง กมธ.ศึกษาต่อ

หลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมได้ผ่านการลงมติจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในลำดับต่อไปก็จะเป็นคิวของสมาชิกวุฒิสภาที่จะนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้เข้าสู่ที่ประชุม  

โดยวันนี้ 2 เม.ย. 67 ที่รัฐสภา พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … หรือ สมรสเท่าเทียม ที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 136 กำหนดให้วุฒิสภาต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วันนับตั้งแต่ที่รับจากสภา เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 67

และก่อนการพิจารณา ตัวแทนของ สว. ได้รายงานผลการศึกษาจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) คณะต่างๆ เช่น กรรมาธิการการกฎหมาย, กรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ได้ทำการศึกษาไว้ล่วงหน้าว่า ในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมการปกครอง รวมถึงกำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายละเอียด ซึ่งกำหนดกรอบระยะไว้ ทั้งนี้ในรายละเอียดจำเป็นต้องแก้ไข พ.ร.บ.ครอบครัว ที่ต้องใช้เวลา และเสนอต่อสภา หากขยายเวลาได้จะมีความรอบคอบมากขึ้น 

การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว อาจกระทบต่อผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์และอิสลามที่ยึดปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนา ดังนั้นควรกำหนดหลักเกณฑ์และระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ต้องรับหน้าที่จดทะเบียนสมรสบุคคลเพศเดียวกัน ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามหลักศาสนาและชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่ไม่รับจดทะเบียนเพศเดียวกันถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 

ทั้งนี้ หลังจากการอภิปรายต่างๆเสร็จสิ้น สมาชิกวุฒิสภา ได้ให้สมาชิกทำการลงมติ ซึ่งผลปรากฎว่า สมาชิกวุฒิสภาลงมติเห็นด้วย 147 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง และงดออกเสียง 7 เสียง พร้อมกันนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาจำนวน 27 คน ซึ่งประกอบด้วยสัดส่วนของ สว. ครม. และภาคประชาชน แปรญัตติ ภายใน 7 วัน ส่วนการพิจารณาวาระสองของวุฒิสภานั้น จะเกิดขึ้นในการประชุมสมัยหน้า เดือนกรกฎาคม