เคลียร์ไม่จบ ! อัจฉริยะ พาครอบครัวช่อลัดดา สาวถูกน้ำกรดสาด ร้องกระทรวงสาธารณสุข เอาผิดแพทย์ รพ.พระราม 2

อัจฉริยะไม่ยอม ! พาครอบครัวเหยื่อถูกสาดน้ำกรด ร้องกระทรวงสาธารณสุข หลังเคลียร์กับ รพ.พระราม 2 ไม่จบ

วันนี้ (12 พ.ย. 61) นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม พาครอบครัว นางช่อลัดดา ที่ถูกราดน้ำกรดเสียชีวิต มาร้องกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้ตรวจสอบ โรงพยาบาลพระราม 2 ว่ามีบุคลากรที่มีคุณภาพหรือไม่ตามหลักจรรยาบรรณควรคำนึงถึงอาการคนไข้เป็นสำคัญ เพื่อรักษาให้คนไข้ปลอดภัยที่สุดก่อนหรือไม่ ทั้งร้องนายกแพทยสภา เอาผิดแพทย์ ร้องสภาพยาบาล เอาผิดพยาบาลด้วย โดยนายอัจฉริยะยังบอกอีกว่า ขอให้เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนแก่ โรงพยาบาลเอกชน ขอให้คำนึงถึงชีวิตคนไข้ก่อนเงินเป็นสำคัญ

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน


ด้าน นพ.ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นผู้มารับเรื่องร้องเรียน กล่าวว่า การเอาผิดโรงพยาบาลขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากหลายข้อร่วมกัน ซึ่งต้องแยกเป็นข้อๆ เพื่อดูว่ามีความประมาทของบุคลากรทางการแพทย์ตรงไหน อย่างไร ส่วนเรื่องการแจ้งสิทธิ์ UCEP(รักษานอกโรงพยาบาลในสิทธิ์ประกันสังคมภายใน 72 ชั่วโมง) หรือการแจ้งการรักษาขึ้นอยู่กับแต่ละสภานพยาบาลจะดำเนินการ ซึ่งตามหลักแล้วไม่ว่าอย่างไรแพทย์หรือผู้รักษาก็ต้องคำนึงอาการของคนไข้เป็นหลัก และทำการรักษาคนไข้ให้ปลอดภัยพ้นขีดอันตรายให้มากที่สุดก่อน หลังจากนั้นเรื่องค่าใช้จ่ายหรือการรักษาต่อก็ว่ากันไปตามประสงค์ของคนไข้ ตนยืนยันว่าหลังรับเรื่องนี้แล้วจะเร่งตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อให้เรื่องนี้ได้ขอยุติที่เป็นผลดีต่อไป

เมื่อถามถึงเรื่องแผลที่โดนน้ำร้อนลวกกับแผลที่โดนน้ำกรดว่าแตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร นพ.ประภาส เผยว่า ทั้ง 2 แผลจะมีลักษณะคือผิวจะไหม้แดงเหมือนกัน เพียงแต่ถ้าเป็นน้ำกรดแผลจะลึกกว่าเพราะกินไปถึงชั้นผิดหนัง ซึ่งมันก็มีทั้งมองเห็นได้แบบชัดเจนกับแยกยาก โดยระดับความรุนแรงของแผลน้ำกรดนั้นมี 3 ระดับ ซึ่งต้องไปดูรายละเอียดด้วยว่าทำไมผู้ตายโดนน้ำกรดแป๊บเดียวจึงเสียชีวิต และในส่วนของการมองบาดแผลนั้นในทางการแพทย์ต้องมันเป็นเรื่องของประสบการณ์ ยกตัวอย่างเช่น ไส้ติ่ง ก็มีดอกาสที่จะวินิจฉัยผิด หรือวินิจฉัยล่าช้า ซึ่งความท้าทายของวงการแพทยืคือทำอย่างไรที่จะทำให้การวินิจฉัยนั้นแม่นยำที่สุด ดีที่สุด

ภาพจากอีจัน



ส่วนการใช้สิทธิ์รักษาตามประกันสังคม นพ.ประภาส บอกว่า แพทย์ พยาบาล ควรให้การรักษาดูแลคนไข้ให้ดีที่สุดตามมาตรฐานของวิชาชีพตัวเองก่อน ส่วนขั้นตอนการเก็บเงินเป้นเรื่องของโรงพยาบาลว่าจะเก็บเงินกับกองทุน 30 บาท หรือประกันสังคม และถ้าคนไข้อยู่ในขั้นปลอดภัยแล้วจะคุยว่าจะรักษาต่อหรือจะรักษาต่อที่อื่นก็แล้วแต่คนไข้ ซึ่งหากประชาชนมีสิทธิ์ก็สามารถใช้สิทธิ์ที่มีอยู่เพียงแต่หลักสำคัญคือคนไข้ต้องอยู่ในภาวะที่ปลอดภัยก่อน

ซึ่งการประเมินว่าคนไข้อยู่ในภาวะฉุกเฉินหรือไม่เป็นหน้าที่ของแพทย์เจ้าของไข้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนั้นเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงกันบ่อยครั้ง แต่สิ่งที่สำคัญคือแพทย์ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของคนไข้เป็นหลัก

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน