ยุคทองของการศึกษาคณะสงฆ์ไทย จัดสอบพระบาลีสนามหลวง

ยุคทองของการศึกษาคณะสงฆ์ไทย จัดสอบพระบาลีสนามหลวง ทำความรู้จักประวัติการศึกษาภาษาบาลีคณะสงฆ์ไทย

ยุคทองของการศึกษาคณะสงฆ์ไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับอุปถัมภ์การสอบพระบาลีสนามหลวงไว้ในพระอุปถัมภ์ทั้งหมด นับเป็นยุคทองของการศึกษาคณะสงฆ์ไทย

เรียนรู้ประวัติการศึกษาภาษาบาลี

“บาลี” เป็นชื่อของภาษาที่ใช้จารึกรักษาไว้ซึ่งพระพุทธพจน์ กล่าวคือ พระไตรปิฎก มีพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม รวม 84,000 พระธรรมขันธ์ ดังพระบาลีอธิบาย ไว้ว่า “พุทฺธวจนํ ปาเลตีติ ปาลี (ภาสา) ภาษาใด รักษาไว้ ซึ่งพระพุทธพจน์ เหตุนั้น ภาษานั้น ชื่อว่า “บาลี”

ภาษาบาลีแท้จริงก็คือ “ภาษามคธ” มีต้นกำเนิดมาจาก ชมพูทวีป(อินเดีย) ในครั้งพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงใช้ภาษามคธในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ภายหลังที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ก็ได้มีการสังคายนาพระธรรมวินัยเกิดขึ้นครั้งแรก ปรารภเหตุที่พระสุภัททวุฑฒบรรพชิตกล่าวจาบจ้วงพระธรรมวินัย มีพระมหากัสสปะเป็นประธานสงฆ์ และเป็นผู้สอบถาม พระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์ เป็นผู้วิสัชนาพระสูตรและพระอภิธรรม

ต่อมาจนถึงการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3 ณ อโศการาม เมืองปาฏลีบุตร ราว พ.ศ.234 ได้มีการส่งสมณทูต ไปเผยแพร่พระพุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิ (ไทย ลาว กัมพูชา เมียนมาร์) นำโดยพระโสณะและพระอุตตระ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาครั้งนั้นก็ยังใช้การถ่ายทอดด้วยวิธี “มุขปาฐะ” ท่องจำด้วยปากเปล่า

จนกระทั่งราวปี พ.ศ.400 เพราะความเสื่อมถอยแห่ง กำลังความทรงจำ จึงได้มีการจารึกพระไตรปิฎกเป็นตัว อักษรลงในใบลานครั้งแรก ณ อาโลกเลณสถาน ประเทศศรีลังกา เป็นภาษาสีหล พระเถระที่สำคัญการศึกษา ภาษาบาลีในประเทศไทยก็คือ “พระพุทธโฆสะเถระ” ได้แปลปริวัตรพระไตรปิฎกจากภาษาสีหล เป็นภาษา มคธ (คือรากฐานภาษาบาลีที่ใช้เป็นหลักสูตรการเรียน พระปริยัติธรรมของประเทศไทยในยุคปัจจุบัน) ประเทศไทย เริ่มมีการเรียนการสอนภาษาบาลีสมัยทวารวดี มีหลักฐานการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมในสมัยอยุธยา

ในสมัยล้านนา การศึกษาภาษาบาลีถือว่ารุ่งเรืองมาก มีการแต่งคัมภีร์อรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกา เพื่ออธิบายพระไตรปิฎกเป็นจำนวนมาก คัมภีร์ที่แต่งในยุคนั้นก็ยัง ใช้เป็นหลักสูตรในการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบันด้วย

ตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา การศึกษาภาษาบาลีก็มีระบบมากขึ้น โดยจัดการสอบเป็นชั้น ๆ ไป มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ มีการอุทิศพระราชมณเฑียร เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียน มีการยกย่องและถวายนิตยภัตรแด่พระสงฆ์ผู้สอบได้มีความเชี่ยวชาญในภาษาบาลี แม้กระทั่งพระมหากษัตริย์บางพระองค์ก็ทรงเชี่ยวชาญในภาษาบาลี  ตลอดมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะใน รัชกาลที่ 2 ทรงโปรดให้สมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดพระเชตุพน ขยายหลักสูตรเปรียญตรี – โท – เอก สืบ เนื่องจากกรุงศรีอยุธยา เป็นเปรียญ 9 ประโยค

ก่อน พ.ศ.2469 การสอบพระปริยัติธรรมแผนกบาลี จะต้องสอบในพระบรมมหาราชวัง ต่อหน้าคณะกรรมการ ด้วยการจับสลากแล้วแปลสอบด้วยปากเปล่า พระภิกษุ สามเณรสามารถสอบแปลปากเปล่าได้ตามลำดับชั้น หรือ สอบแปลรวดเดียวจนถึงชั้นเปรียญ 9 ประโยคก็ได้ ผลการสอบรู้ได้ทันทีในวันที่สอบ ผู้ที่สอบได้จะได้รับพระราชทานรางวัลนับเป็นเกียรติแก่ผู้ที่สอบได้เป็นอย่างยิ่ง

นับแต่ปี พ.ศ.2469 เป็นต้นมา ได้จัดการสอบบาลี  โดยใช้วิธีสอบ “แบบข้อเขียน” แทนสอบแบบปากเปล่า(มุขปาฐะ)  การสอบข้อเขียน ระยะต้น ๆ ผู้ที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญ 3-9 ประโยค จะ ได้เข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตร พัดยศ และผ้าไตร ในพระบรมมหาราชวัง พระภิกษุที่สอบได้ตั้งแต่เปรียญ 3 ประโยคขึ้นไป จะใช้คำนำหน้าว่า “พระมหา” สามเณรจะใช้คำนำหน้าว่า “เปรียญ” (ปัจจุบันใช้ต่อท้ายนามสกุล โดยวงเล็บไว้) การเข้ารับพระราชทานนี้ เรียกว่า “ทรงตั้งพระเปรียญ”

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ.2488 เนื่องจากมีพระภิกษุ สามเณรเข้าสอบเปรียญธรรมมากขึ้น พระมหากษัตริย์ ทรงมอบหมายพระราชภาระทรงตั้งพระเปรียญถวาย สมเด็จพระสังฆราชทรงดำเนินการแทนพระองค์ แต่ยังคงมีพระราชพิธีทรงตั้งพระเปรียญเฉพาะ เปรียญ 6 ประโยค และ เปรียญ 9 ประโยค (ใช้อักษรย่อเป็น ป.ธ. เช่น เปรียญ 9 ประโยค เป็นประโยค ป.ธ.9 เป็นต้น) มาจนถึงทุกวันนี้ ยุคทองของการศึกษาคณะสงฆ์ไทยที่ปรากฏชัดที่สุด เป็นระบบมากที่สุด และปัจจุบันยังยึดถือสืบเนื่องกันมาก็คือ พ.ศ.2510 เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินธรมหาเถร ป.ธ.9) แม่กองบาลีสนามหลวง ได้จัดรูปแบบการเรียนการสอนและการสอบใหม่ โดยจัดให้มีการสอบประโยค 1-2 เพิ่มขึ้นมาอีก 1 ชั้น อันเป็นชั้นต้นใน การปูพื้นฐานเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจการแปลพระบาลีใน ชั้นสูง ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

การศึกษาของภาษาบาลีของคณะ สงฆ์ไทยนั้น อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ “สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง” การสอบบาลีในแต่ละประโยคชั้นปัจจุบัน จัดการสอบดัง ต่อไปนี้

– ชั้นประโยค 1-2 ถึง ชั้นประโยค ป.ธ.4 สอบในส่วน ภูมิภาค คือ จัดสอบในจังหวัดนั้น ๆ มีจำนวน 84 สนามสอบ (สนามสอบเป็นไป ตามที่แม่กองบาลีสนามหลวงกำหนด)

–ชั้นประโยค ป.ธ.5-6 สอบในส่วนกลาง คือ สอบใน พระอารามหลวง สังกัดกรุงเทพมหานคร มีหลายสนามสอบ

1) ประโยค ป.ธ.5 มี 7 สนามสอบ คือ วัดสามพระยา วัดชนะสงคราม วัดจักรวรรดิราชาวาส  วัดมหาธาตุ วัดพระเชตุพน วัดปากน้ำ วัดราชโอรสาราม

ส่วนบาลีศึกษา บ.ศ.5 มีสนามสอบเดียว คือ วัดสามพระยา

2) ประโยค ป.ธ.6 มี 4 สนามสอบ คือ วัดเบญจมบพิตร วัดปากน้ำ วัดพระเชตุพน วัดสระเกศ

ส่วนบาลีศึกษา บ.ศ.6 มีสนามสอบเดียว คือ วัดปากน้ำ

–ชั้นประโยค ป.ธ.7-8-9 สอบในส่วนกลาง มีสนาม สอบแห่งเดียวในประเทศไทยคือ “วัดสามพระยา” มาจนถึงปัจจุบันนี้  และบาลีศึกษา บ.ศ.7-8-9 ก็สอบที่สนามสอบวัดสามพระยา แห่งเดียว เช่นกัน

การสอบบาลีสนามหลวงนั้น ทุกประโยคชั้นที่เข้าสอบจะกำหนดตามวันสอบตามรายวิชา บางประโยคชั้น ใช้เวลาสอบ 2 วัน บางประโยคชั้น ใช้เวลาสอบ 3 วัน  เพื่อความเข้าใจแก่ชาวพุทธที่ไม่เคยทราบระบบการสอบบาลีสนามหลวง  พึงทราบรายละเอียดดังต่อไปนี้

-ประโยคบาลีชั้นที่สอบ 2 วัน มีอยู่ 5 ชั้น ได้แก่ ชั้นประโยค 1-2, ประโยค ป.ธ.4-5-6-7

1) ประโยค 1-2 สอบ 2 วิชา คือ

วันที่ 1 สอบวิชา แปลมคธเป็นไทย

วันที่ 2 สอบวิชา บาลีไวยากรณ์

2) ประโยค ป.ธ.4-5-5-6-7 สอบ 2 วิชา คือ

วันที่ 1 สอบวิชา แปลไทยเป็นมคธ หรือ เรียกว่า “วิชากลับ” เป็นวิชาที่ออกข้อสอบจากภาษาไทย(จากหลักสูตร) เขียนให้เป็นภาษาบาลี

วันที่ 2 สอบวิชา แปลมคธเป็นไทย หรือ เรียกว่า “วิชาแปล” เป็นวิชาที่ออกข้อสอบเป็นภาษาบาลี(จากหลักสูตร) เขียนแปลให้เป็นภาษาไทย

-ประโยคบาลีชั้นที่สอบ 3 วัน มีอยู่ 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นประโยค ป.ธ.3, ประโยค ป.ธ.8-9

1) ประโยค ป.ธ.3 สอบ 4 วิชา/3วัน คือ

วันที่ 1 สอบวิชา แปลมคธเป็นไทย

วันที่ 2 สอบวิชา สัมพันธ์ไทย (บอกชื่อ/ประเภทของศัพท์บาลีในรูปแบบโครงสร้างของประโยค หรือเรียกกันในภาษาพระว่า “วาจก”)

วันที่ 3 สอบ 2 วิชา คือ  วิชาที่ 1 สอบวิชา บาลีไวยากรณ์, วิชาที่ 2 สอบวิชา บุรพภาค (เขียนแบบฟอร์มจดหมายราชการที่ถูกต้อง)

2) ประโยค ป.ธ.8 สอบ 3 วิชา คือ

วันที่ 1 สอบวิชา แต่งฉันท์ภาษามคธ (แต่งคาถาให้เป็นภาษาบาลี)

วันที่ 2 สอบวิชา แปลไทยเป็นมคธ

วันที่ 3 สอบวิชา แปลมคธเป็นไทย

3) ประโยค ป.ธ.9 สอบ 3 วิชา คือ

วันที่1 สอบวิชา แต่งไทยเป็นมคธ (แต่งถอดบทความภาษาไทยให้เป็นภาษาบาลี)

วันที่ 2 สอบวิชา แปลไทยเป็นมคธ

วันที่ 3 สอบวิชา แปลมคธเป็นไทย

สรุปว่า  ชั้นประโยค 1-2 ถึง ชั้นประโยค ป.ธ.4 สอบที่สนามสอบส่วนภูมิภาค  ส่วนชั้น ประโยค ป.ธ.5-6-7-8-9 นั้น ต้องสอบที่สนามสอบส่วนกลาง กรุงเทพมหานครเท่านั้น.

(ขอกราบขอบพระคุณ พระมหาวีระยุทธ ขันสิงห์ ป.ธ.9 วัดพระเชตุพน เรียบเรียง)

แม่กองบาลีสนามหลวง ปัจจุบัน คือ พระพรหมโมลี ป.ธ.9 นาคหลวง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ และกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินธฺโร) เป็นพระอุปัชฌาย์

ความเจริญรุ่งเรืองของการเรียนการสอนพระบาลีในสมัยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์        (ฟื้น ชุตินธฺโร) ในสมัยก่อนท่านมรณภาพในปี พ.ศ.2539 มีการเรียกขาน กล่าวถึงวัดสามพระยาวรวิหารว่า คือ “ยุคทองแห่งบาลี” และสำนักเรียนวัดสามพระยาคือ ตักศิลาแห่งบาลี ซึ่งต่อมา เจ้าอาวาสที่สืบต่อจากสมเด็จฟื้นคือ พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธฺมโม) ป.ธ.9 Ph.D ได้สืบต่อการส่งเสริมพระปริยัติธรรมด้วยการสนับสนุนพระภิกษุ – สามเณร  มาจำพรรษาที่วัดสามพระยา

ทุกสำนักเรียนสามารถส่งพระภิกษุ สามเณรมาอบรม มาเรียนได้ และส่งสอบในชื่อสำนักเรียนนั้น โดยไม่ต้องส่งในนามสำนักเรียนวัดสามพระยา จนทำให้เป็นยุคที่ตั้งแต่ พ.ศ.2539 ท่านจึงมีลูกศิษย์มาผ่านการเรียน การสอน การอบรมจากสำนักเรียนวัดสามพระยา แทบจะกล่าวได้ ว่า พระอาทิตย์ขึ้นที่วัดสามพระยา อีกทั้งหลวงพ่อให้ ความเอาใจใส่เป็นธุระ ไม่ว่าจะกลับจากกิจนิมนต์ หรือใน การประชุมใดๆ ตามฐานะตำแหน่ง แต่ท่านไม่เคยทิ้งห้องเรียน กลับค่ำก็ต้องขึ้นสอน มีเมตตาต่อสามเณรใน วัดเป็นอย่างยิ่ง ดูแลความเป็นอยู่อย่างเอาใจใส่ อีกทั้ง เป็นผู้เคร่งครัดในพระวินัยสงฆ์ พระสงฆ์ ต้องลงอุโบสถ ทั้งเช้า – เย็น มิได้ขาด

ส่วนกิจกรรมด้านวิปัสสนาธุระก่อเกิด สนับสนุนพระปริยัติและปฏิบัติวิปัสสนา หอฉัน ในปัจจุบัน คือ สถานที่จัดเจริญวิปัสสนาโดยสม่ำเสมอ ยามว่างจากช่วงอบรมใหญ่ประจำปี สถานที่ก่อสร้างไว้ หลายๆ ตึก ต่างใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรมมิได้ว่างเว้น พระมหาเปรียญสูงทั้งหลายในวัดสามพระยา คือ พระอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทั้งปริยัติ และปฏิบัติ วัดสามพระยาค่อนข้างมีกิจกรรมรองรับมากมาย จนต้องสร้างขยายปรับปรุงอาคารพักสงฆ์ เพื่อรองรับพระภิกษุที่มาอบรมตลอดปี สร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นตึก 4 ชั้น 84 ห้อง มีห้องน้ำในตัวทุกห้อง ปรับปรุงอาคาร ศาลาอบรมสงฆ์ เป็นที่รองรับการประชุม ติดแอร์และอุปกรณ์การประชุมสมบูรณ์  สามารถรองรับผู้เข้าสอบได้ราว 1,000 รูป/คน มีส่วนต่อขยายสำหรับใช้ในการสอบ แม่ชี และฆราวาส สร้างอาคารตึกร่มธรรม 5 ชั้น เพื่อใช้เป็นที่พักสงฆ์ เพื่อ รองรับพระภิกษุ ที่มาพักเพื่อรอการสอบ เปรียญ 7-8-9 ช่วงสอบบาลีสนามหลวงจำนวน 1,000 กว่ารูป/คน

ในปี พ.ศ.2564 เป็นปีที่ประเทศไทยพบวิกฤตการณ์โรค ระบาดโคโรนา 2019 (Covid-19) ที่รุนแรงที่สุด มีผลกระทบต่อศรัทธาสาธุชนที่จะต้องมาช่วยกันสนับสนุนการสอบพระบาลีสนามหลวง ทุกช่วงชั้นประโยค แม้ทางแม่กองบาลีสนามหลวงจะขยับขยายการสอบออกเป็นหลายๆ ระลอกไม่ให้ผิดธรรมเนียมปฏิบัติ แต่ในแง่ชาวพุทธแล้วกำลังอยู่ในช่วงแห่งความเดือดร้อน จากพิษภัยโรคร้ายและเศรษฐกิจส่วนตนย่ำแย่กันโดยทั่ว

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณราวกับหยดน้ำอมฤตจากฟากฟ้าสุราลัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ล้นเกล้ารัฐกาลที่ 10 ทรงรับอุปถัมภ์การสอบพระบาลีสนามหลวงไว้ในพระอุปถัมภ์ทั้งหมด ตั้งแต่ชั้นประโยค 1-2 ถึง ประโยค ป.ธ.3-4 ในส่วนภูมิภาค ชั้นประโยค ป.ธ.5-6-7-8-9 ในสนามสอบส่วนกลางในกรุงเทพมหานคร พระราชทานอุปกรณ์เครื่องเขียนแก่ผู้เข้าสอบ พระราชทานของที่ระลึกแก่กรรมการคุมสอบ พระราชทานภัตตาหารพระราชทานแก่พระ ภิกษุ ผู้เข้าสอบ กรรมการคุมสอบ และอาหาร พระราชทานแก่จิตอาสาที่มาช่วยงาน และยังพระราชทานมาจนถึงวันสอบครั้งที่ 2

วันสอบ ตั้งแต่วันที่ 11-15 กุมภาพันธ์ 2567 ที่สนามสอบส่วนกลาง มีผู้แทนพระองค์ไปในพิธีการเปิดการสอบวันแรกทุกพระอารามหลวงที่เป็นสนามสอบ กำหนดการสอบบาลีสนามหลวงประจำปี พ.ศ.2567 มีผู้แทนพระองค์ไปเป็นประธานในพิธีเปิดสอบ 5 สนามสอบด้วยกัน ประกอบด้วย

– พล.อ.ต.สุพิชัย สุนทรบุระ ที่ วัดสามพระยา สนามสอบประโยค ป.ธ.7-8-9

– พล.อ.ต.วีระพันธ์ ภูวจินดา ที่ วัดปากน้ำ สนามสอบประโยค ป.ธ.6

– พล.ท.ปณต แสงเทียน ที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สนามสอบประโยค ป.ธ.7

– พล.ท.กฤษดา สาลิกา ที่ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม สนามสอบประโยค ป.ธ.6

– ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ วัดสระเกศ สนามสอบประโยค ป.ธ.6

และจะเริ่มสอบ ประโยค 1-2 ถึงชั้นประโยค ป.ธ.5 ใน วันที่ 5-7 มีนาคม 2567 พร้อมกันทั่วประเทศ  สนามสอบชั้นประโยค ป.ธ.5 ทั้งหมด 7 สนามสอบ จะเป็นสนามสอบส่วนกลาง ผู้เข้าสอบชั้นนี้จะต้องเดินทางมา“สอบที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น”   โดยแยกจัดสอบตามสนามสอบต่าง  ๆ เช่น สนามสอบวัดสามพระยา และพระอารามหลวงอื่นๆ ในกรุงเทพมหานครตามที่สำนักแม่กองบาลีสนามหลวงกำหนด

ส่วนชั้นประโยค 1-2 ถึงชั้นประโยค ป.ธ.4 สอบในส่วนกลาง 18 สนามสอบ ในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศกระจายออกไปทุกภูมิภาค

ในการพระราชทานภัตตาหารนั้นได้รับมอบหมายจาก สำนักพระราชวังให้สมาคมภัตตาคารไทยดำเนินจัดการให้ผู้ประกอบการร้านอาหารในจังหวัดนั้นๆ เป็นผู้จัดทำ ภัตตาหารพระราชทาน ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ทรงรับการอุปถัมภ์ไว้โดยการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ตรงที่กองงานในพระองค์ 904

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูง เป็นขวัญและกำลังใจ แก่คณะสงฆ์ทั่วประเทศ ที่จะเห็นได้ว่าทุกสำนักเรียนมีความตื่นตัวในการเรียนการสอบมากขึ้นในทุกๆ ปี   ชาวพุทธเองย่อมปลื้มใจที่บุตรชายตั้งใจเรียน สังเกตได้จากวันทรงตั้งเปรียญธรรม ที่สนามหลวง มีครอบครัวเหมารถมาแสดงความยินดีกันเหมือนกับวันรับปริญญาทางโลก ซึ่งในวันนั้นผู้ที่ทรงตั้งเปรียญ 9 ประโยค จะมีรถหลวงรับจากพระบรมมหาราชวังไปส่งทุกรูป ทุกวัด ครอบครัวที่มาแสดงความยินดี มีพระมหากรุณาธิคุณให้จัดเลี้ยงอาหาร เช้า เที่ยง เย็น ดูแลด้วยความใส่ใจเป็นอย่างดี

นับว่ายุคนี้เป็นยุคทองแห่งวงการพระบาลีในรัชสมัยปัจจุบันอย่างแท้จริง สมดังที่ทรงพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ “เราจะสืบสาน รักษา ต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

เขียนโดย ฐนิวรรณ กุลมงคล เมื่อปี 2567