นพ.ธีระ ชี้ฝีดาษลิง ตามรอย HIV มีการแพร่ระบาดคล้ายกัน

นพ.ธีระ ชี้ฝีดาษลิง มีการแพร่ระบาดตามรอย HIV ประเมินศึกฝีดาษลิงมีโอกาสยืดเยื้อสูง แม้การติดเชื้อไม่พุ่งพรวดแบบโควิด-19

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ย้ำเรื่องฝีดาษลิงจะเดินตามรอยเอชไอวี โดยอาชีพบริการ รวมถึงแหล่งบันเทิงเริงรมย์จะเป็นจุดอ่อนของไทย หากไม่ป้องกันให้ดี โดยระบุว่า

ย่างก้าวการระบาดของฝีดาษลิงมีความคล้ายคลึงกับเอชไอวีสมัยก่อน แต่ฝีดาษลิงนั้นมีลักษณะเฉพาะ (feature) ที่ทับซ้อน (overlap) กับโรคอื่นๆ ด้วย เช่น โควิด-19

ไม่ว่าจะในเรื่องกลุ่มประชากรเริ่มต้นที่มีการระบาดมาก หรือในแง่ของช่องทางการติดเชื้อแพร่เชื้อ

นอกจากฝีดาษลิงจะติดต่อผ่านการสัมผัสทางกายเป็นหลักแล้ว ในแถบแอฟริกายังมีการแพร่จากแม่สู่ลูกผ่านทางรก และยังมีโอกาสติดผ่านการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมและอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัวหรือที่จะจับต้องได้ หรือที่เรียกว่า วัตถุที่เป็นพาหะนำโรค(Fomites) และยังมีการตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสในสิ่งคัดหลั่งทางเดินหายใจ เลือด ปัสสาวะ และอสุจิอีกด้วย

หากประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ศึกฝีดาษลิงจึงมีโอกาสยืดเยื้อสูง แม้การติดเชื้อจะไม่พุ่งพรวดพราดแบบโควิด-19 ก็ตาม

ด้วยจุดอ่อนเชิงพฤติกรรมของมนุษย์ที่เราทราบกันดี เรื่องเพศ เรื่องการสัมผัสใกล้ชิด และการใช้สิ่งของร่วมกัน รวมถึงการรักษาความสะอาดของที่สาธารณะแล้ว เมื่อมีเคสฝีดาษลิงในชุมชนเกิดขึ้น โอกาสแพร่เชื้อติดเชื้อกันไปต่อเนื่องย่อมมีสูง

แหล่งที่ต้องระวังคือ สถานบันเทิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนกลางคืน แหล่งท่องเที่ยว รวมถึงสถานที่พักแรม ที่คนเยอะ แออัด รักษาความสะอาดไม่ดีพอ ซึ่งหลักการส่งต่อเชื้อน่าจะหนีไม่พ้นเรื่องการมีความสัมพันธ์ สัมผัสคลุกคลีใกล้ชิด และเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะชายกับหญิง ชายกับชาย หญิงกับหญิง หรือแบบกลุ่มก็ตาม

การใส่หน้ากากเวลาเดินทาง มีความจำเป็น ทั้งป้องกันฝีดาษลิงและโควิด-19

และสุดท้ายคือ การพกสเปรย์แอลกอฮอล์ ไปใช้ล้างมือหลังจับสิ่งของสาธารณะ รวมถึงพ่นฆ่าเชื้อตามสุขา และสถานที่พักแรมตอนที่ไปท่องเที่ยว ก็ถือว่ามีเหตุผลสมควรทำ กันไว้ดีกว่าแก้

ทั้งนี้ หากธรรมชาติการระบาดเป็นไปดังที่เรียนรู้จากอดีต การปะทุที่อาจเกิดขึ้นมา ก็จะใช้เวลาสักระยะ ซึ่งนานกว่าโควิด-19 และคล้ายเอชไอวี และมักจะออกมาในรูปแบบการติดเชื้อแล้วทำให้เชื้อแพร่กระจายไป (superspreading) ในพื้นที่เสี่ยงและกลุ่มประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยง หากระบบเฝ้าระวังไม่ดีพอ ก็อาจเจอปรากฏการณ์ดาวกระจาย ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนอย่างพวกเราคือ ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ

คลิปอีจันแนะนำ
มหากาพย์ฟาร์มเห็ด EP.3 ล่าเฮียเต่า