พระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธรูปเก่าแก่ แห่งวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ 

พระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง แห่งวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กราบขอพร พระสัพพัญญู พระผู้รอบรู้

การกราบไหว้ขอพรพระเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับพุทธศาสนิกชนมาอย่างยาวนาน หลายคนเลือกที่จะเดินทางไปตามวัดดังที่อยู่ต่างจังหวัด เพื่อขอพรเรื่องต่างๆ ให้สมหวังดังตั้งใจ แต่จริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องเดินทางไกล เพราะในกรุงเทพมหานคร ก็มีวัดเก่าแก่อย่างวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ที่มี พระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง สีทองอร่าม และมีความปราณีตงดงามประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ 

พระศรีสรรเพชญ์ เป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตักกว้าง 5.16 เมตร วัสดุก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง เป็นพระพุทธรูปที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท วังหน้าในรัชกาลที่ 1 ทรงให้ความเคารพศรัทธาสูงสุด ตั้งประดิษฐาน เป็นพระประธานใหญ่ในพระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ 

สำหรับคำว่า สรรเพชญ นั้นมาจากภาษาสันสกฤตว่า สรฺวชฺ (อ่านว่า สัร-วะ-ชญะ) ตรงกับภาษาบาลีว่า สพฺพญฺญู แปลว่า ผู้รอบรู้ ผู้รู้ทุกสิ่ง ซึ่งในภาษาสันสกฤตนั้นคำว่า สรฺวชฺ เป็นคำเรียกพระพุทธเจ้า พระศิวะ พระอรหันต์ในศาสนาเชน และเจ้าลัทธิอื่น ๆ ด้วย   

แต่ในพระพุทธศาสนาคำว่า สรรเพชญ เป็นคำที่ใช้กับพระพุทธเจ้าเท่านั้น เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้มีสรรเพชญดาญาณ แม้พระอรหันตสาวกผู้มีดวงประทีปแห่งปัญญามองเห็นความเกิดดับว่าเป็นเรื่องธรรมดาของโลก และสามารถขจัดกิเลสได้หมดสิ้นแล้วก็ตาม ก็ยังไม่บังเกิดภาวะสรรเพชญดาญาณ หรือความเป็นผู้รู้ทุกสิ่งได้ดังเช่นพระพุทธเจ้า  

ดังนั้นจึงเห็นได้อยู่เสมอที่พระอรหันต์ทูลขอให้พระองค์ทรงเล่ามูลเหตุของปรากฏการณ์ที่ตนไม่ทราบ หรือขอให้ทรงอภิปรายปรากฏการณ์ที่เกินกำลังความรู้ของตน พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ไม่แตกต่างกันในเรื่องของความรู้ของตน แต่แตกต่างกันตรงที่พระพุทธเจ้าเป็นผู้เดียวในพระพุทธศาสนาที่มีสรรเพชญดาญาณ คือ ความรู้แห่งความเป็นผู้รู้ทุกสิ่ง  

สำหรับ พระศรีสรรเพชญ์ นั้น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาเทพรังสรรค์ปั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 3 โปรดให้พระยาชำนิรจนาซ่อม และได้รับการบูรณะปิดทองทั้งองค์ เนื่องจากถูกอสุนีบาต หรือฟ้าผ่า เมื่อ พ.ศ. 2445 และได้ทำการบูรณะปิดทองใหม่อีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ. 2467  

รอบพระประธานมีรูปพระอรหันต์ 8 องค์ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงสร้าง มีนามจารึกที่ฐานทุกองค์ ได้รับการบูรณะปิดทองใหม่พร้อมกับพระประธาน เรียกว่าพระอรหันต์ 8 ทิศ ซึ่งท่านเจ้าคุณพระวันรัต (เฮง เขมจารี) ได้ประพันธ์เป็นคาถาสวดมนต์สำหรับนมัสการ เรียกว่า พุทธมังคลคาถา โดยรอบฐานชุกชีด้านล่าง เป็นรูปเหมือนอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุฯ  

นอกจากนี้มีเครื่องราชูปโภคบางชิ้นที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงพระราชอุทิศถวายพระอาราม ได้แก่ รูปช้าง 1 เชือก รูปม้า 1 ตัว บรรทุกพานและโถขนาดใหญ่ไว้บนหลัง กล่าวกันว่าเดิมเป็นที่ตั้งของสำรับทรงบาตรสองข้างที่ประทับ 

พระศรีสรรเพชญ์ ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่มีความเก่าแก่ และมีความศักดิ์เป็นอย่างมาก หลายคนมักนิยมไปกราบไหว้ขอพรให้ประสบความสำเร็จในเรื่องต่างๆ หรือให้ผ่านพ้นปัญหาอุปสรรคไปได้