เย้! สิทธิบัตรทองกลุ่ม LGBTQ+ ผ่าตัดแปลงเพศฟรี! รพ.จุฬา เบิกจ่ายแล้ว

สปสช. ให้กลุ่ม LGBTQ+ สิทธิบัตรทอง ‘ผ่าตัดแปลงเพศ’ ได้อยู่แล้ว ล่าสุด รพ.จุฬาฯ เบิกจ่ายแปลงเพศ 1 ราย เร่งหารือออกแพ็คเกจให้ชัด

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ผ่าตัดแปลงเพศในกลุ่ม LGBTQ+ ว่า การผ่าตัดเปลี่ยนเพศได้รับการรวมเข้าในสิทธิประโยชน์ของระบบประกันสุขภาพแห่งชาติของไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 โดยไม่มีข้อยกเว้น ในปี พ.ศ.2565 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ประกาศว่า การเสริมความงามที่ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์จะไม่ได้รับการครอบคลุม

สำหรับกรณีที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ การผ่าตัดเปลี่ยนเพศนั้นสามารถทำได้และมีสิทธิในการเบิกค่าใช้จ่าย แต่ในอดีต โรงพยาบาลมักจะเบิกค่าใช้จ่ายเฉพาะกรณีของการผ่าตัดเปลี่ยนเพศสำหรับผู้ที่เพศกำกวมตั้งแต่กำเนิด ประมาณ 100 กว่ารายต่อปี และไม่เคยเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ จนกระทั่งปีที่แล้ว โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้เบิกค่าใช้จ่ายในกรณีนี้เป็นครั้งแรก สำหรับ 1 ราย

“ปัญหาการผ่าตัดเปลี่ยนเพศสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ ไม่ได้อยู่ที่เรื่องสิทธิประโยชน์ แต่เป็นเพราะไม่เคยมีการพูดคุยอย่างชัดเจนว่า อะไรทำได้หรือไม่ได้ และโรงพยาบาลก็ไม่เคยดำเนินการหรือเบิกค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้ สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติก็ไม่ทราบว่าควรดำเนินการอย่างไร ดังนั้น จึงมีการนัดหารือกับภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาทั้งแพคเกจการรักษา ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาและการฟื้นฟู ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการใช้ฮอร์โมนและการผ่าตัดเปลี่ยนเพศ โดยบางฮอร์โมนอาจไม่ได้รวมอยู่ในบัญชียาหลัก ดังนั้น จำเป็นต้องทบทวนรายละเอียดเพิ่มเติม” นพ.จเด็จ กล่าว

ทั้งนี้ นพ.จเด็จ ชี้แจงว่า ข้อบ่งชี้สำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนเพศจำเป็นต้องมีการประเมินจากแพทย์หรือจิตแพทย์ เพื่อยืนยันว่าบุคคลนั้นมีความจำเป็นทางการแพทย์ที่จะต้องข้ามเพศจริงๆ ในอดีต การข้ามเพศถูกมองว่าเป็นความผิดปกติ (Disorder) แต่ในปัจจุบัน การข้ามเพศไม่ได้ถูกมองว่าเป็นความผิดปกติ แต่เป็นเรื่องของเพศสภาพที่ไม่ตรงกับจิตใจและร่างกายของบุคคลนั้น

หากแพทย์ประเมินว่า การไม่ดำเนินการอาจทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตหรือคุณภาพชีวิต ก็จะพิจารณาดำเนินการตามความจำเป็น ดังนั้น การทำหรือไม่ทำขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ที่มองว่าเป็นข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และไทยมีระบบสนับสนุนการเบิกค่าใช้จ่ายตามระบบ DRG อยู่แล้ว

“การผ่าตัดเปลี่ยนเพศที่ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์มักจะถูกมองว่าเป็นการเสริมความงาม แต่มีการตีความอย่างชัดเจนขึ้นว่าหากมีความจำเป็นทางการแพทย์ การผ่าตัดดังกล่าวจะรวมอยู่ในสิทธิประโยชน์ การตัดสินใจที่จะดำเนินการผ่าตัดขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ทำการรักษา มีการป้องกันไม่ให้มีการทำการผ่าตัดแบบสุ่มสี่สุ่มห้า และต้องมีการตัดสินใจอย่างรอบคอบ ข้อกำหนดใหม่ที่ชัดเจนนี้ทำให้การทำงานต่อไปสามารถดำเนินได้ตามหลักเกณฑ์ และมีความมั่นใจในระเบียบใหม่ที่ได้ประกาศเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ โดยระบุว่ากรณีที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้” นพ.จเด็จ กล่าว

นอกจากนี้ นพ.จเด็จ ได้กล่าวถึงระบบเบิกจ่ายในการผ่าตัดแปลงเพศว่า แม้จะมีระบบนี้รองรับ แต่ยังไม่แน่ใจว่าเงินที่ได้รับจะเพียงพอหรือไม่ เพราะค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดแปลงเพศมักจะสูง ซึ่งอาจไม่ถึงแสนบาท แต่นอกจากการผ่าตัดแปลงเพศแล้วยังรวมถึงหัตถการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสิทธิประโยชน์ควรจะครอบคลุมทั้งหมด ต้องมีการพูดคุยเกี่ยวกับราคาที่เหมาะสม

ปัจจุบัน ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมเพศวิทยาคลินิกและเวชศาสตร์ทางเพศ ได้จัดทำคู่มือและไกด์ไลน์ ที่ระบุหัตถการต่างๆ ประมาณ 8-9 อย่าง เช่น การตัดกราม ผ่าตัดใบหน้า ผ่าตัดหน้าอก ผ่าตัดอวัยวะเพศ ซึ่งแต่ละหัตถการจะถูกเบิกตามระบบ DRG แยกกัน ไม่รวมเป็นหนึ่งก้อน ทีมงานกำลังพัฒนาแพคเกจที่ครอบคลุมทั้งหมดสำหรับทรานส์เจนเดอร์ โดยรวมทั้งสิ่งที่มีอยู่แล้วและเสริมด้วยสิ่งที่ยังไม่มี เพื่อประกาศเป็นแพคเกจเฉพาะสำหรับกลุ่มนี้ คาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือน

นพ.จเด็จ ชี้แจงว่า สิทธิในการผ่าตัดเปลี่ยนเพศจะถูกจำกัดเฉพาะในสิทธิบัตรทอง โดยระบุว่าแต่ละคนมีสิทธิของตนเอง อย่างไรก็ตาม เรื่องของการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคนั้นจะถูกครอบคลุมในทุกสิทธิ เช่น การใช้ฮอร์โมนจะถูกครอบคลุมในทุกสิทธิ และจะมีการจัดทำเป็นแพคเกจเพื่อความชัดเจน การใช้งบประมาณในการส่งเสริมและป้องกันโรค (PP) อาจจะถูกใช้สำหรับยาฮอร์โมน เนื่องจากเป็นการใช้ยาในขณะที่ยังไม่ป่วย

ส่วนเกณฑ์ในการพิจารณาเบิกจ่ายสิทธิ จำเป็นต้องมีการหารือกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพิจารณาว่าใครควรได้รับการกำหนดว่าเป็นทรานส์เจนเดอร์และต้องใช้ยาฮอร์โมนประเภทไหน โดยจะต้องมีเกณฑ์ในการตัดสินใจว่าจะใช้ยาตัวใดและใครจะเป็นผู้ตัดสินใจ ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีการตัดสินใจร่วมกัน อย่างการคุมกำเนิดที่ผู้คนสามารถซื้อเองได้โดยไม่ต้องปรึกษาแพทย์ ซึ่งเรื่องนี้ต้องพิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้ง

“การมอบสิทธิในการใช้ยาฮอร์โมนมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการใช้ยาอย่างผิดวิธีหรือผิดประเภท ซึ่งเกิดจากความกังวลใจเกี่ยวกับการใช้ยาด้วยตนเองที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่างๆ เช่น การใช้ยาไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีรายงานว่าบางคนใช้ยาตามคำแนะนำที่ได้ยินมา เช่น วิธีการใช้หรือสูตรการใช้ที่แตกต่างกัน หากมีการให้ความรู้ทางวิชาการจากแพทย์ที่เชี่ยวชาญ จะช่วยยกระดับคุณภาพการให้บริการในด้านนี้ ปัจจุบันมีการใช้ยาฮอร์โมนด้วยตนเองอยู่แล้ว การจัดการและปรับปรุงสิทธิและระเบียบการใช้ยานี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน” นพ.จเด็จ กล่าว