“กิจการร่วมค้า” จ่ายเยียวยา เหยื่อตึก สตง. ถล่ม 21 ราย

กิจการร่วมค้า ประสาน ก.ยุติธรรม จ่ายเงินเยียวยาด้านมนุษยธรรม “เหยื่อตึก สตง. ถล่ม” จากเหตุแผ่นดินไหว รวม 21 ราย – เคาะจ่ายผู้เสียชีวิตรายละ 1 ล้านบาท – ผู้บาดเจ็บรายละ 2 แสนบาท

วันนี้ (9 พ.ค. 68) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมประธานในการจ่ายเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวทำให้อาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) พังถล่ม จ านวน 21 ราย โดยมี นายสุนทร พยัคฆ์เลขาธิการสภาทนายความ , นายสงคราม สกุลพราหมณ์ อุปนายกฝ่ายบริหารสภาทนายความ , พ.ต.ท.อมร หงษ์ศรีทอง ผู้อำนวยการกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กรมสอบสวนคดีพิเศษ , น.ส.ดวงดาว เกียรติพิศาลสกุล รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และผู้แทนจากกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ร่วมเป็นสักขีพยานในการจ่ายเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมครั้งแรก 

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ตามที่กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ซึ่งประกอบไปด้วยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประสานผ่านมายังกระทรวงยุติธรรม และสภาทนายความ ถึงความประสงค์ของกิจการร่วมค้า ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเบื้องต้นแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ แม้จะยังไม่มีผลสรุปสาเหตุการพังถล่มของอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) อย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการก่อสร้างอาคาร สตง. และคณะพนักงานสอบสวน โดยขอให้สภาทนายความและหน่วยงานต่าง ๆ เป็นคนกลางร่วมกันพิจารณาหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของกิจการร่วมค้า ให้แก่ผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ  

สภาทนายความ จึงได้มีคำสั่งสภาทนายความที่ 145/2568 ลงวันที่ 7 พ.ค.2568 ในการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการจ่ายเงินแก่ผู้เสียหาย กรณีตึกอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินท(สตง.) ถล่ม เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มี.ค.2568 อันประกอบไปด้วยผู้แทนจากสภาทนายความ  , กรมสอบสวนคดีพิเศษ , กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ,  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี โดยคณะกรรมการพิจารณาการจ่ายเงินแก่ผู้เสียหายฯ ได้เร่งการพิจารณาการจ่ายเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบในคราวแรกนี้ จำนวนรวมทั้งสิ้น 21 ราย ประกอบไปด้วยผู้เสียชีวิต 12 ราย

โดยผู้แทนทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกจะได้รับเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมรายละ 1,000,000 บาท และผู้ได้รับบาดเจ็บ 9 ราย จะได้รับเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมรายละ 200,000 บาท สำหรับบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมรายอื่นที่ประสงค์จะเข้าขอรับเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมดังกล่าว สามารถแสดงความจำนงและดำเนินการจัดส่งเอกสารหลักฐานประกอบต่าง ๆ มายังสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อที่คณะกรรมการพิจารณาการจ่ายเงินแก่ผู้เสียหายฯ จะได้เร่งพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้อย่างถูกต้องต่อไป