พิธีทรงตั้งเปรียญธรรม ประวัติพิธีเก่าแก่ของพระพุทธศาสนาไทย

เปิดประวัติพิธีทรงตั้งเปรียญธรรม พิธีการเก่าแก่ทางพระพุทธศาสนา ที่สืบทอดจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน คือพิธีอะไร และจัดขึ้นเมื่อใด

ด้วยกองบาลีสนามหลวงได้ทำการประกาศผลสอบเปรียญธรรม 6 ประโยค และ 9 ประโยค ประจำปี 2567 ได้ 76 รูป เป็นพระ 62 รูป สามเณร 14 รูป โดยในปีนี้ พระสงฆ์และสามเณร จากสำนักเรียนบาลี วัดโมลีโลกยาราม สอบได้มากถึง 25 รูป ขณะที่สามเณรสอบได้เปรียญเอกหรือนาคหลวง อายุแค่ 17 ปี ซึ่งทำสถิติอายุน้อยที่สุดนับตั้งแต่มีการสอบภาษาบาลีของคณะสงฆ์ไทย 

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินทรงตั้งเปรียญธรรม 9 และ 6 ประโยค ในวันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง 

สำหรับการสอบเปรียญธรรมนั้น เปรียบเสมือนการสอบวัดความรู้การศึกษาภาษาบาลีระดับสูงสุดและเก่าแก่ที่สุดของคณะสงฆ์ไทย นอกจากนี้ยังเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา และช่วยรักษาภาษาบาลีให้อยู่สืบไป ซึ่งหลังจากการสอบเสร็จสิ้น ก็จะมีพิธีตั้งเปรียญธรรม ซึ่งพิธีดังกล่าวนี้เป็นราชประเพณีที่พระเจ้าแผ่นดิน ทรงตั้งเปรียญธรรมถวายพระภิกษุสามเณร ที่มีความรู้ความสามารถสอบไล่ได้ตามหลักสูตรการสอบบาลีสนามหลวง ทั้งนี้ สำหรับพิธีทรงตั้งเปรียญธรรมนั้น มีมาตั้งแต่อดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีประวัติดังนี้ 

การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เรียก “คันถธุระ” คู่กันกับการศึกษาพระปฏิบัติธรรม เรียก “วิปัสสนาธุระ” ทั้ง 2 ระบบ มุ่งฝึกและพัฒนาจิตให้เข้าถึงสภาวะวิมุตติ หลุดพ้นจากทุกข์ เป็นสาระสำคัญ พระสงฆ์นิกายเถรวาทได้ยึดแนวปฏิบัติเรื่อยมา ในประเทศนับถือพุทธนิกายเถรวาท เริ่มต้นจากศรีลังกา จนถึงมอญ พม่า สยาม เขมร ลาว ในสยามประเทศ การศึกษาภาษาบาลี รุ่งเรืองเฟื่องฟูในสมัยสุโขทัย ล้านนา จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น รัชกาลที่ 1-5 ทรงรับพระราชภาระในการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตอนปลาย ทรงปฏิรูประบบราชการ และทรงขอให้คณะสงฆ์จัดการศึกษาแทน แต่ยังคงอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์เรื่อยมา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงมอบหมายพระราชภารกิจให้คณะสงฆ์นำโดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จัดให้พระภิกษุสามเณรได้ศึกษาเล่าเรียนตามกำลังสติปัญญาสืบเนื่องมาจวบจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 5 พระภิกษุสามเณรผู้เข้าสอบจะต้องแปลคัมภีร์บาลีที่กำหนดเป็นหลักสูตรต่อหน้าคณะกรรมการภายในพระบรมมหาราชวัง ต่อหน้าพระที่นั่งด้วยการจับสลากทีละรูป โดยแปลด้วยปากเปล่า  เรียกกันติดปากมาจนถึงทุกวันนี้ว่า “สมัยแปลด้วยปาก” หรือ มุขปาฐะ (มุ-ขะ-ปา-ถะ) ก็คือสอบด้วยการแปลปากเปล่าคล้ายสอบวิทยานิพนธ์ หรือ ดุษฎีนิพนธ์นั่นเอง จะสอบได้หรือตก คณะกรรมการตัดสินผลการสอบในวันนั้นเลย ผู้ที่สอบได้จะได้รับพระราชทานรางวัลไตรจีวรแพร ซึ่งเป็นของมีค่ามากในยุคนั้น ถือว่าเป็นเกียรติประวัติสูงสุดในชีวิต และการสอบแปลด้วยปากนั้นจะกำหนดตามภูมิความรู้ของพระภิกษุสามเณรผู้สอบได้ คือ 

– สอบได้เปรียญ 3 ประโยค   เรียกว่า  “เปรียญตรี” 

– สอบได้เปรียญ 4 – 6 ประโยค เรียกว่า   “เปรียญโท” 

– สอบได้เปรียญ 7 – 9 ประโยค เรียกว่า  “เปรียญเอก”  

โดยผู้สอบได้เปรียญ 9 ประโยค  ชื่อว่า  ผู้สำเร็จการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีชั้นสูงสุด  

ในปี 2451 สามเณรปลด วัดเบญจมบพิตร เข้าสอบไล่เปรียญ 9 ประโยคได้ ต่อหน้าพระที่นั่ง ขณะเป็นสามเณร เล่ากันว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงโปรดปรานมาก ถึงกับตบพระหัตถ์และตรงเข้าทรงอุ้ม และทรงจัดรถหลวงแห่นำส่งถึงวัดเบญจมบพิตร และทรงรับไว้เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งยังคงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติจนถึงทุกวันนี้ว่า สามเณรรูปใด สอบได้ ป.ธ. 9 ทรงรับสามเณรรูปนั้นไว้ให้อุปสมบทนาคหลวงในพระบรมรารูปถัมภ์ นับแต่สมัยรัชกาลที่ 5 คือปี 2451 จนถึงปี 2502 ตลอดระยะเวลา 51 ปี ไม่เคยมีสามเณรสอบได้เปรียญ 9 ประโยคอีกเลย มาปรากฏเมื่อปี 2503 สมัยรัชกาลที่ 9 มีผู้สอบได้เปรียญ 9 รูปแรก คือสามเณรเสฐียรพงษ์ วรรณปก วัดทองนพคุณ รัชกาลที่ 9 ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นเกียรติประวัติแก่วัดทองนพคุณ และมีผู้สอบได้อีกหลายรูป จนถึงแผ่นดินรัชกาลที่ 10 ก็มีสามเณรสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค หลายรูป จากวัดต่างๆ ทั่วประเทศ   

เพิ่มเติมว่าภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณ พุทธศักราช 2488 เป็นต้นมา  พระภิกษุสามเณรสอบได้มากขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในสมัยนั้นก็ทรงพระราชภาระมากขึ้น จึงทรงมอบหมายการทรงตั้งเปรียญ 3 ประโยค ถวายสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ให้ทรงดำเนินการแทนพระองค์  ยกเว้นผู้สอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค และ เปรียญธรรม 9 ประโยค ที่พระองค์ทรงกำหนดพระราชพิธีทรงตั้งเปรียญ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานพัดยศเปรียญ ณ พระบรมมหาราชวังเหมือนเดิม และยังคงมีพระมหากรุณาธิคุณให้รถหลวงนำพระสงฆ์สามเณรที่สอบได้เปรียญ 9 ประโยคไปส่งถึงพระอาราม ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน นับแต่สมัยรัชกาลที่ ๕เป็นต้นมา   

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมหาชนกาธิเบศร มหาภูมิอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินพระทานพัดยศเปรียญให้พระภิกษุสามเณรผู้สอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค และ 9 ประโยค กำหนดจัดขึ้นในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี (ก่อนวันวิสาขบูชา 1 วัน) จวบจนถึงประมาณปี พุทธศักราช 2528 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในพระราชพิธีทรงตั้งเปรียญธรรม 6 ประโยค และ 9 ประโยค สืบมา 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10  เสด็จขึ้นครองราชย์ ในวันที่ 4-6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เนื่องจากเป็นปีแรกที่พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ ในปีเดียวกันนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามมกุฏราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานพัดยศเปรียญธรรม 6 ประโยค และ 9 ประโยค  

ในปีพุทธศักราช 2563 ทั่วโลกได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 พระราชพิธีทรงตั้งพระเปรียญธรรม 6 ประโยค และ 9 ประโยค ได้ถูกเลื่อนออกไปจนถึงวันที่ 19 ตุลาคม พุทธศักราช 2563 จึงได้มีพระราชพิธีอีกครั้ง ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีทรงตั้งพระเปรียญธรรมด้วยพระองค์เอง และเนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ยังไม่ปลอดภัย 100% จึงมีการตรวจ RT PCR ก่อน 1 วัน และตรวจ ATK ในช่วงเช้า ก่อยเข้าพระบรมมหาราชวังในช่วงบ่ายโมง 

การนี้ ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย และพระราชศรัทธา ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ภัตตาหารพระราชทานถวายแด่พระภิกษุ สามเณร ตลอดทั้งพระราชทานแด่อุบาสก อุบาสิกา ที่จะเข้ารับการตรวจโควิด ทั้ง 2 วัน รวมทั้งพระราชทานอาหารแก่เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาและผู้เกี่ยวข้อง ญาติ ครอบครัว คณะผู้ติดตาม ที่มาเฝ้ารอที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ก็จะได้รับอาหารพระราชทาน จนอิ่มหนำสำราญ เป็นแขกของพระเจ้าอยู่หัวที่ได้รับการปฏิบัติด้วยอย่างดียิ่ง ในปี 2565 เป็นการรวบยอดพระราชทานพร้อมกัน 2 ปี (2564 และ 2565) ปี 2566 พระราชทานปกติ ก่อนวันวิสาขบูชา 1 วัน ปี 2567 ในวันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2567 

จากที่เล่ามา สะท้อนผลงานเชิงประจักษ์ว่า ในหลวงฯ รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชดำริ พระราชศรัทธา และทรงเห็นความสำคัญ และให้ความสำคัญในการสอบพระบาลีสนามหลวง นับตั้งแต่ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช จนถึงเสด็จขึ้นครองราชย์ในกาลปัจจุบัน ก็ยังทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าทรงมุ่งถวายเป็นพุทธบูชา ธัมมบูชา และสังฆบูชา เป็นพระราชปณิธานที่เด่นชัด และแสดงว่าทรงต้องการถวายกำลังใจ และสร้างแรงบันดาลใจ ให้พระสงฆ์สามเณรสายคันถธุระทุ่มเทมุ่งมั่นเสียสละอุทิศตนเพื่อบวรพระพุทธศาสนาให้จีรังมั่นคงยั่งยืน อย่างแท้จริง   

สำหรับ ผลการสอบบาลีสนามหลวงปี 2567 นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ในรัชกาลของพระองค์ ที่ปีนี้มีสามเณรอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์อายุเพียง 17 ปี สามารถสอบผ่านเปรียญธรรม 9 ประโยค นั่นคือสามเณรภานุวัฒน์ กองทุ่งมน วัดโมลีโลกยาราม  

ในรัชกาลนี้ นับตั้งแต่ปี 2564 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องเขียน อุปกรณ์ ภัตตาหารพระราชทานในวันสอบตั้งแต่บาลีชั้นประโยค 1-2 ป.ธ. 3-9 ปีละประมาณ 30,000 รูป และพระราชทานน้ำปานะแด่คณาจารย์ผู้ตรวจข้อสอบ ณ ศาลาอบรมสงฆ์วัดสามพระยา จนเสร็จสิ้น 

ปี 2565 ได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตีพิมพ์เผยแพร่ “พจนานุกรมพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท” ครบทุกอักษร อ จนถึง ฬ หนา 2 หมื่นหน้า ขนาด A4 จำนวน ๒๓ เล่มจบ พระราชทานกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะปกครองคณะสงฆ์ สำนักบาลีต่างๆ ทั่วประเทศ รวม 1,000 ชุด ซึ่งเป็นพจนานุกรมบาลีเชิงวิเคราะห์จำแนกธาตุปัจจัย ที่วงการบาลีต้องการมาก เป็นชุดแรกในโลก ไม่เคยมีชาติใดๆ ที่นับถือพุทธนิกายเถรวาท ทำได้สำเร็จมาก่อน พระราชปณิธานสำคัญคือมุ่งจัดสร้างเป็นพุทธบูชา ธัมมบูชา สังฆบูชา ทรงแสดงออกให้เห็นถึงการสนพระทัยในการสนับสนุนส่งเสริมศาสนธรรมการค้นคว้าแต่งแปลคัมภีร์บาลี ควบคู่ไปกับการสร้างศาสนทายาท  

นอกจากนี้ในช่วงการเรียนการสอน-บาลี การอบรมบาลีก่อนสอบ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภัตตาหาร ปานะ เป็นกำลังใจแก่สำนักเรียนต่างๆ นับว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 นี้ ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณตั้งแต่ต้นกระบวนการ จนถึง “วันทรงตั้งพระเปรียญ” ครบทุกขั้นตอน