
ตีลังกาเล่าข่าว โดย กรรณะ
ตลอดห้วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่มีข่าวไหนที่ใหญ่เกินไปกว่าข่าวเรื่อง “หลวงพ่อแย้ม – ทิดแย้ม – ตาแย้ม –สมีแย้ม” แล้วแต่ใครจะขนานนามว่าอย่างไร แต่ที่มิอาจหลีกได้คือความจริงที่ว่าเขาเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง วัดที่มีคนศรัทธามากเป็นลำดับต้นๆของประเทศ และเขาได้ยักยอกเงินวัดไปให้กับ “สีกา” คนหนึ่ง
สังคมไทยเป็นสังคมที่ให้สิทธิประโยชน์กับคนที่บวชเป็นพระอย่างมาก เพราะเชื่อว่าเขาเหล่านั้นคือคนที่สืบทอดพระศาสนา และจะเดินหน้าสู่ทางหลุดพ้นสังสารวัฏ
“พระสงฆ์” ถูกจัดลำดับชั้นอยู่แทบจะบนสุดของสังคม กินต้องกินก่อน กินของดีที่สุด ไปไหนก็ให้เกียรติเดินไปก่อน มีที่นั่งพิเศษ คนนับถือกราบไหว้กันถ้วนหน้า ได้รับการปกป้องในทุกๆเรื่อง
โดยแลกกับการประพฤติปฏิบัติในฐานะ “คนดี” และต้องเป็น “คนดี” ที่เหนือกว่าปุถุชนทั่วไป เพราะเมื่อได้มากก็ย่อมต้องถูกเรียกร้องมาก
และเมื่อละเมิดความคาดหวังสังคมก็จะเอาคืนอย่างสาสมเช่นกัน
แต่วันนี้เราจะมาสวมแว่นการเมือง เพราะเคยมีคำกล่าวว่าทุกเรื่องจะจบที่ “การเมือง” เราจึงจะ ถอดบทเรียนจากข่าว “ตาแย้ม” ว่าเราเห็นอะไรบ้าง และ “การเมือง” ที่ควรจะเป็นที่สิ้นสุดหรืออย่างน้อยก็เป็นเส้นทางของการแก้ปัญหาควรจะมาจัดการอย่างไรกับเรื่องนี้บ้าง เพราะที่สุดแล้ว ความผิดของ“ตาแย้ม” ก็ถูกประกอบสร้างจากสังคมที่ผุพังและต้องการการซ่อมแซมจากสิ่งที่เรียกว่า “การเมือง”
ความท้าทายของกิเลศอันมิเคยได้สัมผัส อันเนื่องมาความขาดแคลน
สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ พระสงฆ์จำนวนมากที่บวชตั้งแต่เด็ก บวชเพราะยากจน เพราะขาดโอกาสในสังคม ขาดทุนทรัพย์ในการเรียนหนังสือและแทบจะไม่มีโอกาสยกระดับทางสังคมเลย
ดังนั้นเราจึงเห็นการ “บวชเรียน” หรือ “บวชหนีจน” กันตั้งแต่เด็ก เพราะนอกจากจะมีข้าวกิน มีหนังสือให้เรียน หากประสบความสำเร็จในความเป็น “พระสงฆ์” พวกเขาก็จะยกระดับฐานะทางสังคมแบบที่พ่อแม่ให้ไม่ได้
พ่อแม่ที่ขัดสนในสมัยก่อนจำนวนหนึ่งจึงเลือกเส้นทางนี้ ทั้ง ๆ ที่การเป็นนักบวช และการดำรงตนเช่นนี้ต้องอาศัยความเชื่อและแรงผลักดันที่จะไปทางพระศาสนาอย่างแท้จริง

“ตาแย้ม” เองก็เช่นกันบวชเรียนตั้งแต่อายุ 12 ขวบ เมื่อเข้ามาสู่โลกแห่งธรรมะ เขาก็เรียนรู้อยู่ในโลกที่มุ่งหวังไปสู่หนทางดับทุกข์ แต่ลืมไปว่าพวกเขาเองก็ยังไม่เห็นทุกข์เช่นกัน และไม่มีใครรู้ว่า เขามีสิทธิเลือกหรือไม่ว่าอยากจะเดินทางนั้นจริงหรือไม่
“ตาแย้ม” และ “สามเณร” หรือ “พระสงฆ์” จำนวนมากเรียนรู้กิเลศจากหนังสือ โดยที่อาจจะมีบททดสอบของจริงที่น้อยมาก จึงทำให้เมื่อถูกอำนาจของจิตใจฝ่ายต่ำเข้าครอบงำ หลายรูปจึงต้องกลายจากพระสงฆ์ เป็น “สมี”
ย้อนกลับไป หาก “การเมือง” สามารถจัดสรรสภาพสังคม หรืออย่างน้อยก็เป็นสวัสดิการของเด็กทุกคนให้สามารถเรียนหนังสือแบบ “ฟรี” จริงๆ ได้ ให้มีอาหารกิน ให้ความมั่นใจว่าแม้เขาจะอยู่ในระดับที่ล่างสุดก็ยังพอจะยกระดับชีวิตได้ ไม่ต้องอยู่กับฐานล่างตลอดไปแม้จะพยายามแค่ไหน
หากการเมืองสามารถสร้างสังคมให้มั่นใจแบบนั้นได้ คนที่เข้าสู่การเป็นสาวกของพระศาสดาก็จะถูกคัดกรองให้เหลือเพียงคนที่ตั้งใจ และไม่ได้อยู่ในสภาพตกกระไดพลอยโจน
การจัดการเงินวัด
“วัดไร่ขิง” ก็ไม่ต่างจากที่อื่นคือ มีระบบการจัดการเงินที่ไม่ได้รัดกุมมากนัก แทบทุกวัดอำนาจในการจัดการทรัพย์สินจะอยู่กับ “เจ้าอาวาส” ที่เป็นเหมือนหัวหน้าครอบครัว โดยมี “ไวยาวัจกร” เป็นคนถือเงิน
วัดที่ดีหน่อยก็จะมีคณะกรรมการในการจัดการ แต่ทั้งหมดการรวมศูนย์อำนาจในการสั่งการทรัพย์สิน ก็อยู่ที่เจ้าอาวาส
การขาดระบบการจัดการและการตรวจสอบนี้เอง เป็นการเปิดโอกาสให้ยักยอกหรือทุจริตได้
ลองนึกดูว่า จู่ ๆ พระที่ไม่เคยมีเงิน ก็มีเงินขึ้นมามหาศาล ถือว่าเป็นบททดสอบของกิเลสที่หนักหนา อำนาจในการใช้จ่ายจะอยู่ที่เจ้าอาวาสแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
จริงอยู่ที่จำนวนมากก้าวข้าม แต่ก็มีอีกจำนวนหนึ่งที่ก้าวไม่พ้น
อย่าว่าแต่พระสงฆ์เลย แม้แต่ฆราวาสหากมีอำนาจที่ไม่มีใครตรวจสอบก็เสี่ยงกับการทุจริตทั้งสิ้น
หากเราต้องการตัดกิเลสให้สาวกของพระศาสดาให้มากที่สุด บางครั้งการออกกฎหมายเพื่อควบคุมการใช้จ่ายเงินของวัดก็เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อไม่ให้ท่านต้องมีภาระหรือมาตัดสินใจเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องของการแสวงหาทางพ้นทุกข์
หากวัดไหนไม่มีความสามารถจัดการ ก็ควรมีกฎหมายให้รัฐจัดหาผู้ที่ช่วยเหลือในการจัดการและให้มีคณะกรรมการที่มีอำนาจดูแลและสั่งจ่ายมิใช่ให้ทั้งหมดตกอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าอาวาสแต่เพียงผู้เดียว

พนันออนไลน์ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์
“สีกาเก็น” จุดตายของ “ตาแย้ม” ก็คือหนึ่งในขบวนการพนันออนไลน์ และวิธีที่ใช้ให้ “ตาแย้ม” ยอมโอนเงินให้ก็คือวิธีการของพวกคอลเซ็นเตอร์คือการเล่นกับจุดอ่อนและความกลัวของคน
ปกติคอลเซ็นเตอร์ ที่หลอกคนได้เพราะจะอาศัยจุดอ่อนของแต่ละคนที่มีต่างกัน บางคนกลัวตำรวจกลัวกฎหมาย ก็จะอ้างเป็นตำรวจหรืออ้างว่ากำลังถูกตรวจสอบ บางคนมีจุดอ่อนที่ความโลภก็จะอ้างเรื่องการถูกรางวัล หรือการทำเงิน
“ตาแย้ม” ก็มีจุดอ่อนเรื่องการทำผิดกับ “สีกา” ซึ่งก็มาจากการที่อดใจต่อกิเลศไม่ได้ดังนั้นจึงไม่ยากที่จะถูกแบล็กเมล์ว่าหากปล่อยให้หลักฐานนี้หลุดไป เขาก็จะสูญเสียทุกอย่าง
เท่านี้มีเท่าไหร่ก็ต้องให้ ให้จนเงินหมดวัด จนต้องไปยืมวัดอื่นมา เพื่อปกปิดความผิดทีตัวเองกระทำ
แล้วเรื่องนี้การเมืองจัดการได้อย่างไร หากการเมืองสามารถจัดการกับพนันออนไลน์ได้ก็จะเป็นการตัดตอนของ “สีกาเก็น” รวมถึงสกัดเส้นทางเงินที่ออกนอกประเทศได้
หรือแม้แต่การโอนเงินที่ผิดปกติ หากรัฐเอาจริงเอาจัง ไม่ว่าจะทางไหนก็ต้องไม่สามารถเอาเงินออกไปหลายร้อยล้านได้
ต้องยอมรับกันว่าการโอนเงินระดับหลายร้อยล้าน หรือทีละหลายสิบล้าน จะมีสักกี่คนในประเทศที่สามารถทำได้ แต่รัฐไม่เห็นความผิดปกติกับกรณีเช่นนี้เลยหรือ
การซื้อขายตำแหน่ง
จากความฟอนเฟะ และระบบตรวจสอบที่กลายเป็นอัมพาตของบ้านเรา ทำให้เกิดการทุจริตและการซื้อตำแหน่งในทุกระดับ ไม่เว้นแม้แต่ระดับ “พระสงฆ์”
การจะได้สมณศักดิ์ ก็ต้องซื้อต้องหา และพระสงฆ์จะเอาเงินจากไหนถ้าไม่ใช่เงินบริจาคที่ชาวบ้านเอามาทำบุญ
หากการเมืองสามารถทำให้เชื่อมั่นว่าระบบการแต่งตั้งจะเป็นไปด้วยความสามารถ ความเหมาะสมไม่ได้ตั้งอยู่บนว่าใครตอบแทนผลประโยชน์ให้กันได้มากกว่า เท่านี้ก็จะทำให้เกิดความยั่งยืนกับระบบ ถ้าที่อื่นไม่มี พระสงฆ์ก็จะไม่มีเช่นกัน
ที่สำคัญการเมืองสามารถ แก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 หรือกฎหมายฉบับนี้ถูกเขียนขึ้นมากว่า 60 ปี แม้จะมีการปรับแก้บ้าง แต่ก็ไม่ได้แก้ในหลักสาระสำคัญอะไรบ้าง
ถึงเวลาหรือยังที่ “การเมือง” จะเป็นแกนนำในการศึกษาและแก้ พ.ร.บ.สงฆ์ ให้ทันยุคทันสมัยที่เปลี่ยนไป
เรื่องราวของวัดไร่ขิง หากวิเคราะห์กันจริงๆแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่น่าเซอร์ไพรส์อะไร เพราะนี่คือระบบที่ถูกวางกันอย่างไม่เหมาะสม หรือที่ง่ายกว่านั้นไม่เคยมีรัฐบาลไหนคิดจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างกับเรื่องแบบนี้
และก็เชื่อได้ว่าที่สุดแล้วเรื่องนี้ก็จะเป็นไฟไหม้ฟาง และรอวันเกิดเหตุ “สมี” คนใหม่ต่อไป