คุยให้รู้กับปัญหาการหย่าร้าง จบจริงหรือยิ่งสร้างปัญหา

การหย่าร้าง เป็นคำตอบของความสัมพันธ์จริงเหรอ? แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะจบปัญหาได้ทั้งสองฝ่าย กับมุมมองนักกฎหมายที่จะมาช่วยคลายข้อสงสัย

ด้วยสภาพสังคม ณ ปัจจุบันการหย่าร้างเป็นปัญหาที่พบมากขึ้นทุกปี ทั้งในประเทศและต่างประเทศเด็กที่ครอบครัวมีการหย่าร้างเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างน่าตกใจ ในระยะหลายปีที่ผ่านมาเกิดปัญหาการหย่าร้างมากขึ้น รวมถึงความเข้าใจผิดถ้าจะถือว่าการหย่าร้างเป็นเพียงเหตุการณ์ธรรมดาเสี้ยวหนึ่งของชีวิต ซึ่งความจริงแล้วการหย่าร้างเป็นกระบวนการที่ยาวนานหลายระดับ เริ่มต้นด้วยความขัดแย้งในคู่สมรสซึ่งอาจดำเนินมาเป็นแรมปี ไปจนถึงการแยกทางกันซึ่งนำผลกระทบมาสู่ทุกฝ่าย แม้การแต่งงานใหม่จะดูเหมือนเป็นการสิ้นสุดของปัญหา แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ยังมีผลต่อไปอีกมากมาย

เราเลยอยากหยิบยกมุมมองของปัญหาการหย่าร้างในเชิงกฎหมาย ให้คลายสงสัยผ่านมุมมองของนักกฎหมาย โดยทนายเจมส์ ทนายสุดหล่อของเราจะมาเล่ามาบอกปัญหาที่ใครหลายคนยังไม่รู้ แล้วจะมีอะไรบ้างที่เตรียมตัวถ้าจะต้องเลือกวิธีนี้ในการจบความสัมพันธ์

เหตุแห่งการฟ้องหย่ามีอะไรบ้าง ?

สาเหตุที่จะฟ้องหย่ามี 10 เหตุ ด้วยกันตามประมวลหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

        (1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

        (2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

        (ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง

        (ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ

        (ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ

        อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

        (3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง  ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

        (4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

        (4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

        (4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

 (5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

        (6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง  ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

        (7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

        (8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

        (9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

        (10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

การขอหย่าจากปัญหาครอบครัว เช่น ติดการพนัน ติดสุรา หรือ ทำร้ายร่างกาย ทำได้หรือไม่ ?

กรณีดังกล่าวถือเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นเหตุฟ้องหย่าได้ โดยอาศัยเหตุตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

        (ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง

        (ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ

        (ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ

        อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

        (3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง  ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

การขอหย่าเพราะการมีชู้ จะขอรับผลประโยชน์อะไรได้บ้าง ?

สำหรับปัญหานี้ฝ่ายสามีหรือภรรยาที่เป็นโจทก์ฟ้องหย่ามีสิทธิ์ที่จะเรียกค่าทดแทนจากกรณีที่สามีหรือภรรยามีชู้ ส่วนจะได้ค่าทดแทนเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับการตกลงกันของทั้งสองฝ่าย แต่หากตกลงกันไม่ได้ ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดว่าสมควรได้รับค่าทดแทนเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ โดยศาลจะพิจารณาจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชื่อเสียง ตำแหน่งหน้าที่การงาน ฐานะทางการเงิน ฐานะทางสังคม รายได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ และ มาตรา 1523 เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น

สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้ ถ้าสามีหรือภริยายินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำการตามมาตรา 1516 (1) หรือให้ผู้อื่นกระทำการตามวรรคสอง สามีหรือภริยานั้นจะเรียกค่าทดแทนไม่ได้

ทำอย่างไรถึงจะจบปัญหา อย่างลงตัวทั้งสองฝ่าย 

เมื่อมีปัญหาครอบครัว ทั้งสองฝ่ายควรวางความโกรธและความต้องการเอาชนะ ลงก่อน เพื่อหาทางยุติข้อพิพาทโดยเร็ว เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสมประโยชน์ทั้งคู่ เริ่มต้นชีวิตใหม่ได้โดยลำพัง หากเป็นครอบครัวที่มีบุตร ควรจะหาข้อยุติในช่องทางที่บุตรได้รับประโยชน์สูงสุด 

ไม่ว่าความสัมพันธ์ของสามีภรรยาจะจบลงในรูปแบบใดก็ตาม  แต่คำว่า พ่อแม่ลูกจะยังคงดำรงอยู่ตลอดไป ไม่สามารถที่จะลาออกจากตำแหน่งนี้ได้ และ แม้ว่าสามีภรรยาจะไม่สามารถรักษาความรักเอาไว้ได้ แต่ยังคงทำหน้าที่พ่อแม่ที่ดีสำหรับลูกได้ตลอดไป

ขอบคุณ ทนายเจมส์

คลิปแนะนำอีจัน
เปิดนาทีบุกรวบ “บังมัส” มาเฟียพัสดุยานรก