คนไทยป่วยซึมเศร้า เพิ่ม 2 เท่า พีคสุดรอบ 6 ปี ซ้ำ ‘จิตแพทย์’ ก็มีน้อย

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เผย ปี 65 คนไทยป่วยซึมเศร้า เพิ่ม 2 เท่า พีคสุดรอบ 6 ปี ซ้ำ ‘จิตแพทย์’ ยังน้อยกว่ามาตรฐาน

พบข้อมูลที่สะท้อนว่า คนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตสูงขึ้นในทุกๆ ปี โดย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้บอกว่า ในปี 2565 มีผู้ที่มารับการรักษาที่คลินิกจิตเวชและยาเสพติดจำนวน 22,481 ราย โดยส่วนมากมีอาการของโรคจิต ซึมเศร้า และวิตกกังวล

ซึ่งสวนทางกับจำนวนบุคลากรทางด้านสุขภาพจิต เช่น จิตแพทย์ และนักจิตวิทยา ที่ลดลง เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ดังนั้น การให้ความรู้ การส่งเสริม ป้องกันเกี่ยวกับการเข้ารับการดูแลรักษาสุขภาพจิตใจ จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยจำเป็นต้องมีภาคประชาสังคม รวมถึงประชาชน

ด้าน ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า สถานการณ์ของปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทยนั้น มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ที่ต้องรับการรักษาเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และยังคาดว่าจะยังเพิ่มขึ้นอีก

แต่ทั้งนี้ เนื่องจากคนไทยมีความรู้ และการตอบรับที่ดีต่อการรักษาสุขภาพจิตมากขึ้น เข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ จึงมีความกังวลในเรื่องของจำนวนจิตแพทย์ที่ไม่เพียงพอ โดยปัจจุบันสัดส่วนของจิตแพทย์ในไทยอยู่ที่ประมาณ 1.25 คนต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งน้อยกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำที่ 1.7 คนต่อประชากร 100,000 คน

สำหรับประเทศไทย สาขาของจิตแพทย์ในอดีตไม่ได้รับความนิยมและไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ และแม้ว่าในปัจจุบันจะมีคนที่สนใจศึกษาในสาขาของจิตแพทย์มากขึ้น แต่ก็ยังคงขาดแคลนบุคลากรที่จะทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้สอน ซึ่งสถานการณ์นี้ไม่ต่างจากบางประเทศในอาเซียน

ดังนั้น เราควรสร้างความเข้าใจให้กับสังคมว่า ไม่ทุกปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตจำเป็นต้องไปพบจิตแพทย์ทันที หากปัญหายังไม่รุนแรงมากนัก อาจสามารถหาคำปรึกษาและความช่วยเหลือจากแหล่งอื่นๆ ได้ เช่น การปรึกษากับอาสาสมัคร คนใกล้ชิด หรือคนที่เราไว้วางใจ นอกจากนี้ ยังสามารถปรึกษากับนักจิตวิทยาการปรึกษา หรือนักจิตวิทยาคลินิกก่อนที่จะขยับขึ้นไปพบกับจิตแพทย์

โดยการทำแบบนี้ จะช่วยให้บุคลากรทางด้านสุขภาพจิตมีการกระจายภาระที่เหมาะสมมากขึ้น นอกจากนั้น กรมสุขภาพจิตยังให้ความสำคัญในการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต โดยมีการใช้เครื่องมือในการประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น เช่น การให้บริการ “MENTAL HEALTH CHECK IN” เพื่อช่วยให้คนสามารถเช็คและดูแลสุขภาพจิตของตนเองได้เบื้องต้นและอย่างต่อเนื่อง

การรักษาสุขภาพจิตเป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ผ่านระบบบริการสุขภาพของรัฐในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิหลักประกันสุขภาพ 30 บาท ประกันสังคม หรือสิทธิข้าราชการ แต่ปัญหาคือ ไม่ทุกโรงพยาบาลมีจิตแพทย์ประจำ ทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับใบส่งตัวจากโรงพยาบาลที่เขาสังกัด และอาจต้องเผชิญกับความยุ่งยากในการเดินทางและรอคอย

ด้วยเหตุผลนี้ หลายคนเลือกที่จะเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลเอกชนที่มีจำนวนผู้ป่วยน้อยกว่า และเวลาที่ใช้รอคอยสั้นลง แต่ก็ต้องเตรียมเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับการรักษาในระบบของรัฐ