เดือดร้อนหนัก! ช้างป่า 50 ตัว ลุยกินพืชผลชาวบ้าน เสียหายกว่า 2,000 ไร่

ปัญหาช้างหนัก! ช้างป่า 40-50 ตัว บุกกินพืชผลทางการเกษตรชาวบ้าน เสียหายกว่า 2,000 ไร่ นายอำเภอภูกระดึง ประกาศหนีช้าง เร่งรัดเก็บผลผลิต

วันนี้ (1 มี.ค. 66) ทีมข่าวอีจันได้รับรายงานว่า ชาวบ้านท่ายางหมู่ 10 ต.ภูกระดึง อ.ภูกระดึง จ.เลย มีช้างป่าประมาณ 40-50 ตัว ออกจากเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูค้อ ภูกระแต อุทยานแห่งชาติภูกระดึง และอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เข้ามาหากินในเขตของชาวบ้านที่ปลูกไว้ อ.ภูกระดึง รอยต่อกับ อ.ภูหลวง ไม่ว่าจะเป็นอ้อย ยางพารา ต้นไผ่เลี้ยง กล้วย มันสำปะหลังร่วมกว่า 2,000 ไร่ สร้างความเดือดร้อนอย่างหนัก และขยายเพิ่มพื้นที่ออกมากว้างมากขึ้น

โดย นายภูริวัจน์ โชตินพรัตน์ นายอำเภอภูกระดึง เผยว่า ในเรื่องปัญหาช้างในพื้นที่ภูกระดึง ทางอำเภอและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้มีการประชุมมาหลายครั้งแล้ว พร้อมกับมีแนวทางในการดำเนินการ คือได้ตั้งอาสาสมัครเครือข่ายป้องกันช้างป่าในพื้นที่ ต.ห้วยส้ม โดยกระทรวงทรัพย์ฯ ได้ใช้งบกลางเข้ามาให้กับทีมเครือข่ายการเฝ้าระวัง เพื่อที่จะไล่ช้างหรือผลักดันช้างออกนอกพื้นที่

ส่วนเรื่องของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ก็พยายามทำความเข้าใจ เพราะว่าช้างที่ลงมา เพราะเขาติดรสชาติของอาหาร คืออ้อยกับกล้วย ซึ่งปกติธรรมชาติของช้างป่าจะไม่อยู่ในป่าเต็งป่ารัง และโดยประวัติศาสตร์ในป่าภูค้อภูกระแตไม่เคยมีช้างป่าอาศัยอยู่เลยในอดีต แต่เดียวนี้ช้างได้เข้ามาอาศัย

ซึ่งจากการศึกษาพฤติกรรมของช้าง ทุกเย็นประมาณ 16.00 – 18.00 น. ช้างป่าจะออกมาหาอาหาร และจะไม่กินแบบทำลายครั้งเดียว คือกินไปเดินไป จึงสร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง และตอนนี้เราได้แจ้งให้ชาวบ้านเร่งเก็บเกี่ยวอ้อยออกให้หมด ถ้ายังมีอ้อยในพื้นที่เขาก็จะลงมากินและสร้างความเสียหายอย่างอื่นด้วยตามมา

ในขณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ทั้งวันทั้งคืน โดยพบช้างป่า ที่บ้านพองหนีบ จะเป็นอีกโขลงที่อพยพลงมาจากภูกระดึง ในโขลงนี้จะมีอยู่ประมาณ 70 กว่าตัว โดยลงมาเข้ามาหากินหมู่บ้านพองหนีบ ซึ่งมีอาเขตติดกับน้ำหนาว มาหากินอยู่บริเวณนี้ประมาณ 6-7 ตัว เป็นช้างลงจากภูกระดึง

วันนี้ทำยังไงให้คนกับช้างอยู่ร่วมกันได้ ในเมื่อเราเปลี่ยนพฤติกรรมของช้างไม่ได้ เราต้องเปลี่ยนตัวเอง คือในป่าไม่ใช่ว่าไม่อุดมสมบูรณ์ แต่ในพื้นราบมีการปลูกอ้อยแปลงใหญ่ ทำให้มีการดึงดูดเมื่อออกมาและมาลองกิน ก็ติดรสชาติจึงเข้ามาอยู่ถาวร ดังนั้นชาวบ้านต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชใหม่

ทั้งนี้ จึงได้รณรงค์ไม่ปลูกอ้อยในพื้นที่ เขตปลอดการปลูกอ้อย และขั้นตอนต่อไป คงจะมีการทำปลูกอาหารช้างในป่า ทำโป่งเทียมมาขึ้น และให้ชาวบ้านเลี้ยงผึ้งตามหัวไร่ปลายนาก็เป็นทางป้องกันช้างป่าได้อีกทาง

คลิปอีจันแนะนำ
สาวบุรีรัมย์ ช้ำรักหนุ่มนักบอล