สรุปมหากาพย์ อาม่าฮวย VS ลูกสาวฮุบเงิน สู้กัน 10 ปี จนอาม่าชนะคดี

สรุปมหากาพย์ต้นจนจบ อาม่าฮวย VS ลูกสาว พิมพ์ลายนิ้วมือตอนป่วย ยักยอกเงิน 24.7 ล้าน สุดท้ายศาลคืนความยุติธรรมให้อาม่า ฎีกายืนจำคุกลูกสาว 12 ปี ไม่รอลงอาญา

สรุปคดีอาม่าฮวย VS ลูกสาว หลังคดียืดเยื้อนาน 10 ปี เกิดอะไรขึ้นบ้าง จนถึงวันนี้ (3 เม.ย. 67) ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุกลูกสาว “อาม่าฮวย” 12 ปี โดยไม่รอลงอาญา ฉวยโอกาสช่วงแม่ป่วย ถอนเงินในบัญชีของแม่ 24 ล้าน เอาไปเข้าบัญชีตัวเอง คืนความยุติธรรมให้อาม่าฮวย

เรื่องนี้ สังคมให้ความสนใจไม่น้อยเลยค่ะ เพราะเป็นมหากาพย์ศึกสายเลือดที่มีเรื่องของ “เงิน” มาเกี่ยวข้อง อาม่าฮวย ศรีวิรัตน์ พบว่าเงินของตัวเองหายไปจากธนาคาร แต่สุดท้ายคนที่ยักยอกทรัพย์ไปนั้น กลับไม่ใช่คนอื่นไกล แต่เป็นลูกสาวแท้ๆ ลูกสาวในไส้ของอาม่านั่นเอง

อาม่าฮวย คือใคร?
อาม่าฮวย ศรีวิรัตน์ มีลูกทั้งหมด 3 คน หนึ่งในนั้นคือ นางมาวดี ลูกสาว ที่ดูแลเรื่องบัญชีและการเงินให้ โดยได้รับเงินเดือนเดือนละประมาณ 30,000 บาท ซึ่งเมื่อก่อนอาม่าทำธุรกิจเกี่ยวกับชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และต่อมาก็ได้นำเงินไปลงทุนเกี่ยวกับกองทุนต่างๆ กระทั่งเงินงอกเงยจำนวนมาก

จุดเริ่มต้นของการยักยอกเงินอาม่าฮวย

อาม่าฮวย ออกจากโรงพยาบาลก็พบพิรุธ
หลังออกจากโรงพยาบาล อาม่าฮวยในขณะนั้นอายุ 76 ปี กลับมาที่บ้านก็ตรวจสอบทรัพย์สินต่างๆ ของตัวเองว่าอยู่ครบหรือไม่

แต่เมื่อเปิดตู้เซฟดูกลับพบว่าสมุดบัญชีของตัวเองหายไป พออาม่าไปสอบถามกับธนาคาร พนักงานก็ไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้อาม่าแปลกใจ

จนท้ายที่สุดอาม่า มารู้ว่าเงินในบัญชี 24.7 ล้าน ถูกโอนออกไปหลายร้อยครั้งจนเกลี้ยงบัญชี จากฝีมือของลูกสาวที่ร่วมมือกับพนักงานธนาคาร โดยแอบพิมพ์ลายนิ้วมือขณะที่อาม่านอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล นั่นเอง!!!

และนี่คือจุดเริ่มต้นของการที่ แม่แจ้งความจับลูกในไส้ อาม่าฮวย ไปแจ้งความที่ สน.อุดมสุข ในปี 2557 แต่กลายเป็นว่าคดีไม่มีความคืบหน้า ทางอาม่า ญาติๆ จึงได้ติดต่อทนายอนันต์ชัย ไชยเดช เพื่อขอความช่วยเหลือ โดยทนายอนันต์ชัย ได้ติดตามเรื่องให้จนคดีมีความคืบหน้าไปมาก

ต่อมาวันที่ 30 ต.ค. 62 พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาพระโขนง 3 ศาลอาญาพระโขนง ได้ฟ้องคดีลูกสาวและพนักงานธนาคาร จำนวน 4 คน เป็นคดีอาญา ข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ในระหว่างที่คดียังไม่ไปถึงไหน อาม่าฮวย ก็พบว่า เงินที่ฝากไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์ อีกจำนวน 24 ล้านบาท นางมาวดีได้ถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวไปซื้อกองทุน ซื้อประกันชีวิต และโอนเข้าบัญชีตัวเอง อาม่าฮวยจึงฟ้องลูกสาวอีกในข้อหาลักทรัพย์

ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน 2562 นางมาวดี ลูกสาวของอาม่าฮวย ก็ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าว แบบหนังคนละม้วน โดยยืนยันความบริสุทธิ์ว่าตนเอง ไม่ได้โกงเงินแม่ เรื่องทั้งหมดมาจากบุคคลที่สาม คือครอบครัวของพี่ชาย

แต่ยอมรับว่า มีการเชิญพนักงานธนาคารมาที่โรงพยาบาล เพื่อเปลี่ยนเงื่อนไขการเบิกถอนเงิน จากเดิมที่ใช้เพียงลายเซ็นของอาม่า มาเป็นการพิมพ์ลายนิ้วมือ และเปลี่ยนจากบัญชีของอาม่า มาเป็นบัญชีร่วมกับตน เพื่อที่ตนจะได้มีสิทธิ์ในการเบิกถอนเงินในบัญชีนั้นได้ด้วย เพื่อความสะดวกในการนำเงินดังกล่าวไปซื้อกองทุนเพิ่มเพื่อเก็งกำไร

ซึ่งทุกขั้นตอนมารดา รับทราบและรู้ตัวตลอด มีสติสัมปชัญญะ ซึ่งการถอนเงินจากบัญชีร่วม ทำทั้งหมด 4 ครั้ง รวมจำนวนทั้งหมด กว่า 100 ล้านบาท โดยหลังจากเปิดบัญชีร่วม เมื่อปี 57 พวกตนก็ได้มีแบ่งเงินกับพี่ชาย คนละ 30 ล้านบาท ที่เหลือใช้สำหรับดูแลรักษามารดา และ ใช้จ่ายในครอบครัว บัญชีดังกล่าวจึงปิดไป

ในตอนนั้น นางมาวดี ยังยืนว่าไม่เคยคิดเนรคุณแม่ และไม่คิดว่าแม่จะฟ้องร้องตนเอง พร้อมกับบอกว่าเสียใจมาก ตนเองไม่มีโอกาสปรับความเข้าใจหรืออธิบายเรื่องราวให้กับแม่ฟังเลยเพราะครอบครัวพี่ชายไม่ให้พบหน้า พร้อมทั้งเชื่อว่าเรื่องที่เกิดขึ้นตนถูกใส่ร้าย เพราะพี่ชายอยากจะได้มรดกที่แบ่งกันแล้วเอาไว้คนเดียว

ต่อมา ในวันที่ 9 ธ.ค. 62 อาม่าฮวย พร้อมครอบครัว แถลงข่าวโต้นางมาวดี ยืนยันว่า ตนเองมีหลักฐานทั้งหมด รวมถึงยังมีการเปิดเผยว่า บัญชีเงินฝากของอาม่า ที่เปิดมาตั้งแต่ปี 2547 เงื่อนไขการเบิกเงินคือ อาม่า เซ็นชื่อ แต่ต่อมา อาม่าป่วยเมื่อปี 2557 ได้มีใบรับรองแพทย์ และนำใบดังกล่าวไปให้ธนาคาร เปลี่ยนเงื่อนไขจากเซ็นเป็นปั๊มลายนิ้วมือ อาม่าตั้งคำถามว่า เจ้าหน้าที่ที่รับรองลายนิ้วมืออยู่ในเหตุการณ์หรือไม่ ซึ่งตนได้ฟ้องธนาคารว่าทำผิดหน้าที่

อาม่าฮวย ยืนยันอีกด้วยว่า ตนเองไม่เคยยินยอมให้ลูกสาวดูแลเงิน และยังไม่ได้แบ่งมรดกตามที่อีกฝั่งกล่าวอ้าง ที่ตนไปแจ้งความลูกสาวและเอาผิดกับธนาคารนั้น เป็นความตั้งใจของตนเอง

ต่อมาวันที่ 17 ส.ค. 64 ศาลอาญาพระโขนง อ่านคำพิพากษาและตัดสินนางมาวดี มีความผิดมาตรา 334 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้จำคุก 6 กระทง กระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 12 ปี โดยการกระทำความผิดของจำเลย เป็นการกระทำต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุพการี โดยใช้โอกาสที่จำเลยเป็นผู้ดูแลระหว่างโจทก์เจ็บป่วย ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ อีกทั้งเงินที่จำเลยลักไปเป็นเงินจำนวนสูง 24.7 ล้านบาท นับเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ก็ไม่เป็นเหตุให้รอการลงโทษ

กระทั่งวันที่ 1 พ.ย. 65 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ลูกสาวอาม่าฮวย ลักทรัพย์ถอนเงิน 24 ล้าน ถ่ายโอนทรัพย์สินขณะที่แม่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ศาลอาญาพระโขนง พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป โดยจำคุกกระทงละ 2 ปี จำนวน 6 กระทง รวมจำคุก 12 ปี พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว การกระทำความผิดของจำเลยเป็นการกระทำต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุพการี โดยใช้โอกาสที่จำเลยเป็นผู้ดูแลระหว่างโจทก์เจ็บป่วย ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ทั้งเงินที่จำเลยลักไปเป็นเงินจำนวนสูงมาก นับเป็นเรื่องร้ายแรง ดังนั้นแม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน กรณีก็ไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ โดยฝ่ายจำเลยยื่นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ก็ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

ส่วนคดีที่อัยการเป็นโจทก์ โดยมีนางฮวย เป็นโจทก์ร่วม ยื่นฟ้องลูกสาวกับพวกรวม 5 คน เป็นจำเลย ในคดียักยอกเงินไปจากธนาคารจำนวนกว่า 200 ล้านบาทนั้น ศาลอาญาพระโขนงนัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 65 ศาลได้อ่านคำพิพากษาว่า การปลอมแปลงเอกสารธนาคาร ทยอยเบิกถอนเงินหลายครั้ง รวมความเสียหาย 238 ล้านบาท ศาลอาญาพระโขนง พิพากษาว่ามีความผิดจริงเช่นกัน สั่งจำคุก นางมาวดี ฐานลักทรัพย์ และปลอมเอกสาร รวม 88 กระทง เป็นเวลา 176 ปี จำคุกจริง 20 ปี ตามกฎหมาย และให้ชดใช้เงินคืนกว่า 123 ล้านบาท

ส่วนพนักงานธนาคาร อีก 4 คน ศาลพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 4 เพียงคนเดียว คือ นางทิพย์ภาพร แดงสวัสดิ์ ที่มีส่วนในการประทับลายนิ้วมือของอาม่าฮวย ให้จำคุก 2 ปี, ส่วนจำเลยที่เหลือยกฟ้อง

จากนั้น ในเดือนมกราคม 2566 อาม่าฮวย ชนะอีกคดี ศาลแพ่งพระโขนงสั่งธนาคาร ลูกสาวอาม่าฮวยกับพวก ร่วมชดใช้เงินกว่า 200 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยคดีปลอมเอกสารเบิกเงินอาม่าฮวย

สำหรับคดีนี้ ศาลได้พิเคราะห์จากการกระทำของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 6 ว่า ได้กระทำการละเมิดสิทธิในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกถอนเงิน โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นหลังจากอาม่าฮวยล้มป่วย ตรวจสอบแล้วพบว่า นางมาวดี ร่วมกับพนักงานธนาคาร จำนวน 2 คน เปลี่ยนแปลง ปลอมแปลง ลายมือชื่อ อาม่าฮวย เพื่อมอบอำนาจให้นางมาวดี มีสิทธิ์เบิกถอนเงินฝากกระแสรายวัน และกองทุนบัญชีของบริษัทหลักทรัพย์จัดการเงินกองทุน อีกทั้งยังพบว่ามีการถอนเงินจากบัญชี และสั่งจ่ายเช็ค รวมถึงถอนเงินจากหน่วยลงทุน เข้าไปที่บัญชีของตัวเอง

คดีนี้ อาม่าฮวย ต่อสู้เพื่อทวงความยุติธรรมให้กับตัวเองมานานถึง 10 ปี (นับตั้งแต่ พ.ศ.2557 ที่มีการแจ้งความ) ในที่สุด ความยุติธรรม ก็มีจริงค่ะ วันนี้ (3 เม.ย. 67) ที่ ศาลอาญาพระโขนง นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความของ อาม่าฮวย ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่ อาม่าฮวย เป็นโจทก์ ฟ้องนางมาวดี กรณีลักเงินอาม่าฮวย จากธนาคาร จำนวน 24,757,400 บาท โดยคดีนี้ศาลชั้นต้น สั่งจำคุกนางมาวดี 12 ปี จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

จากนั้นทนายจำเลย ได้ยื่นฎีกาและขอประกันตัว ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกา ตีราคาประกัน 2.4 ล้านบาท โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไข เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ปี 2565

ซึ่ง นายอนันต์ชัย กล่าวว่า จำเลยขอต่อสู้ในข้อกฎหมาย ประเด็นว่าคดีลักทรัพย์บุพการี เป็นคดียอมความได้ ซึ่งจะต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน

ซึ่งทางอาม่าก็ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน คดีจึงไม่ขาดอายุความ ศาลฎีกาจึงพิพากษายืน จำคุกนางมาดี 12 ปี โดยไม่รอลงอาญา และยังถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ไม่เคยมีฎีกามาก่อน ในคดีเกี่ยวกับการลักทรัพย์บุพการี ที่จะต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน

ซึ่งทางทนายได้แจ้งผลคำพิพากษาให้แก่นางฮวยให้ทราบแล้ว โดยนางฮวยดีใจมาก และไม่กังวลใดๆ

และนี่ ก็คือบทสรุป ศึกสายเลือด ศาลได้คืนความยุติธรรมให้อาม่าฮวยแล้วค่ะ ขอให้ชีวิตอาม่าหลังจากนี้ มีแต่ความสุขนะคะ เพราะสู้กันมายาวนานมากจริงๆ 10 ปีที่ผ่านมา อาม่าคงแสนสุดช้ำ เพราะเรื่องที่เกิดขึ้น กลับเป็นลูกสาวในไส้ ที่ทำกับแม่ได้ลงคอ.