เสิร์ฟใบสั่งถึงบ้าน! เชียงใหม่เขาทำถึง ใช้แนวคิดกล้อง CCTV อัจฉริยะ ตรวจจับคนไม่สวมหมวกกันน็อคจาก Software ที่ติดตั้ง AI

โดนหมดไม่สนลูกใคร!!! ไม่สวมหมวกกันน็อก ใบสั่งถึงบ้าน เชียงใหม่ ดุจริง ใช้แนวคิดกล้อง CCTV อัจฉริยะ ตรวจจับผู้ขับขี่ที่ไม่สวมหมวกนิรภัย #Save สมอง…หมวกกันน็อกสมองไม่น็อก

#Save สมอง…หมวกกันน็อกสมองไม่น็อก 

วันที่ 22 ม.ค.67 ที่ผ่านมาอีจันได้มีโอกาสลงพื้นที่พร้อมทีม สสส. และ สอจร. ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และศูนย์ปฏิบัติการจราจรตำรวจภูธร จ.เชียงใหม่  

โดยมี นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการ กองทุนสสส. คนที่สองและประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. ได้กล่าวว่า ทาง สสส. สนับสนุนภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการร่วมขับเคลื่อน ขยายและยกระดับการทำงานจากประสบการณ์ของพื้นที่ต้นแบบ สู่การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ สร้างวัฒนธรรมการขับขี่ที่ปลอดภัยในระดับพื้นที่

สนับสนุนแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) บูรณาการป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระดับจังหวัด และพื้นที่ ขับเคลื่อน ผลักดันเชิงนโยบาย สร้างมาตรการต่าง ๆ เช่น มาตรการการบังคับใช้กฎหมายด้วยการใช้ กล้อง CCTV ร่วมกับ AI ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัย ลดอัตราเสียชีวิตในกลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์ ขับเคลื่อนกลไกการจัดการความปลอดภัยทางถนนในระดับอำเภอ รวมถึงการขยายผลต้นแบบกลไกการทำงานของจังหวัด และในขยายผลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบปลูกฝังความปลอดภัยทางถนนตั้งแต่วัยเยาว์ และในปี 2567 เดินหน้ารณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 

#Save สมอง…หมวกกันน็อก สมองไม่น็อก เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการสวมหมวกเพิ่มสูงขึ้น 

“สสส.สนับสนุน ภาคีเครือข่ายนักวิชาการ และองค์ความรู้ทางด้านวิชาการ จนทำให้เกิดการขยายผล ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน อย่างต่อเนื่อง ใน 4 ภูมิภาค 13 จังหวัดทั่วประเทศ เกิดตำบลขับขี่ปลอดภัย 21 ตำบล สถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์เรียนรู้ โรงเรียนครอบครัว รวมทั้งหมด 105 แห่ง ซึ่งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลสุเทพ สามารถขับเคลื่อนสร้างวินัยจราจร และปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัยให้แก่เด็กเล็ก และสร้างการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนอย่างยั่งยืน” นพ.สุรเชษฐ์ กล่าว 

นายพศิน อัคเดชธนโชติ นายกเทศมนตรีตำบลสุเทพ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลสุเทพ มีถนนตัดผ่านชุมชนแบ่งถนนระหว่างตำบลออกเป็นสองฝั่ง รวมถึงการขยายเมือง และสถานที่ท่องเที่ยว พบปัจจัยที่เกิดจุดเสี่ยง อาทิ ทางร่วมทางแยกและจุดอับสายตา ขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ซ้อนท้าย 3-4 คน รวมถึงความหลากหลายของชาติพันธุ์ในพื้นที่ที่ทำให้ไม่ชินทาง ไม่เข้าใจภาษา/ป้ายจราจร สสส. เข้ามาสนับสนุน องค์ความรู้จากภาคีเครือข่ายนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเชื่อมประสาน สร้างกลไกการทำงาน หนุนเสริมกระบวนการการเรียนรู้ให้กับครู สามารถร่วมทำงานกับชุมชน องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างกิจกรรมความปลอดภัยทางถนน เกิดต้นแบบด้านวินัยจราจร ส่งผ่านไปยัง ผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง และคนในชุมชน จนทำให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างเป็นรูปธรรม 

และนางอรชีวา อาศนะ ผู้ชำนาญการประจำศูนย์เด็กเล็กเทศบาลตำบลสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของกิจกรรมว่า ในโรงเรียนนักเรียนถึง 157 คนแต่มีเพียง 4 ครอบครัวเท่านั้น ที่ทุกครั้งจะสวมหมวกกันน็อคมาส่งเด็กๆ จากการสอบถามครอบครัวที่ไม่ใส่ก็มีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่าย บ้านใกล้โรงเรียน ทำให้เกิดความเคยชิน จึงมีการสร้างกิจกรรมความปลอดภัยทางถนนที่ทางเทศบาลได้ดำเนินแนวทาง 4 หัวข้อคือ

1. ทำข้อตกลงร่วมกับผู้ปกครอง ให้สวมหมวก-คาดเข็มขัดนิรภัย 100% หากไม่ปฏิบัติตามต้องเสียค่าปรับครั้งละ 20 บาทต่อคน/ครั้ง  

2. ชุมชนสร้างแกนนำอาสาสมัครเฝ้าระวัง ร่วมกันจัดทำป้ายกำจัดจุดเสี่ยง เอาวัสดุเหลือใช้มารีไซเคิลทำเป็นป้ายบอกจุดเสี่ยงในชุมชน  

3. เทศบาลจัดทำเนินชะลอความเร็ว ติดตั้งป้ายจราจร สัญญาณไฟกระพริบ ปิดจุดเสี่ยงอันตรายในชุมชน  

4. จัดการเรียนการสอน มุ่งเน้นสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เรียนรู้ภายในห้องเรียน และสถานการณ์จริง ให้เด็กสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน 

นพ.ธีรวุฒิ โกมุทบุตร ที่ปรึกษา สชจร.ภาคเหนือตอนบน จ.เชียงใหม่ ได้กล่าวสถิติและการนำกล้อง cctv เข้าว่า ข้อมูลสถิติปี 2562 อัตราการบาดเจ็บ และเสียชีวิตกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ใน จ.เชียงใหม่ มีจำนวนมากกว่า 200 คน ส่วนใหญ่เสียชีวิตในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอใกล้เคียง มาจากสภาพแวดล้อม ความมืดทำให้เห็นเส้นทางไม่ชัดเจนในเวลากลางคืน ขับเร็วเกินกว่าหมายกำหนด ดื่มแล้วขับ อัตราการสวมหมวกนิรภัยมีเพียง10-30% จำเป็นต้องสร้างนวัตกรรม และเครื่องมือปรับเปลี่ยนลดพฤติกรรมเสี่ยง ลดอัตราการบาดเจ็บ และเสียชีวิตของกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์

สอจร. ภาคเหนือตอนบน ใช้แนวคิดกล้อง CCTV อัจฉริยะ ตรวจจับผู้ขับขี่ที่ไม่สวมหมวกนิรภัย ใช้ Software โดยติดตั้ง AI โดยกล้องสามารถตรวจจับภาพได้ชัดเจนแม้ในเวลากลางคืน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ภายใน 1 เดือน พบว่า ประชาชนในพื้นที่ใส่หมวกนิรภัยเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ทุกจุด ในพื้นที่ 5 อำเภอเสี่ยง ได้แก่ อ.เมือง อ.สันทราย อ.สารภี อ.หางดง อ.แม่ริม มีผู้สวมหมวกนิรภัยมากถึง 80% นอกจากนี้ได้สร้างการรับรู้ผ่านสื่อทุกรูปแบบ ทั้งสื่อสังคมออนไลน์ สื่อกลางแจ้ง หากไม่ใส่หมวกนิรภัยจะมีใบสั่งปรับถึงบ้าน 

ทำถึงมากค่าเชียงใหม่ อีจันมาเยือนเชียงใหม่รอบนี้เจอแต่คนสวมหมวกกันน็อก และอีกโครงการก็ดี๊ดีซึ่งการเริ่มต้นจากการปลูกฝังกฏจราจร ให้กับเด็กๆ ตั้งแต่ยังเล็กถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีมาก สิ่งนี้จะทำให้ติดเป็นนิสัย