
วันนี้ (23 เม.ย.68) จากกรณีข่าว ตำรวจตรวจค้น โกดังเก็บสินค้าอาหารจีน ไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมนำส่งร้านสุกี้หม่าล่าทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ที่หากบริโภคในชีวิตประจำวัน อาจเกิดการสะสมสารต้องห้ามที่ไม่ปลอดภัยต่อการบริโภคได้
นายภาณุโชติ ทองยัง ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาผู้บริโภค แสดงความเห็นว่า การตรวจพบสินค้านำเข้าที่ไม่มีใบอนุญาต อย. และอาจไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบด้านความปลอดภัยและคุณภาพคอย่างเข้มงวด
สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในระบบการควบคุมสินค้านำเข้าที่ยังมีช่องโหว่อยู่ไม่น้อย แม้ว่าตามหลักการแล้ว สินค้าประเภทอาหารหรือผลิตภัณฑ์บริโภคจะต้องผ่านการตรวจสอบจากด่านนำเข้า รวมถึงต้องมีการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง อย.
แต่เมื่อมีการตรวจพบว่าสินค้าบางรายการเล็ดลอดเข้ามาได้โดยไม่มีการอนุญาต ชี้ให้เห็นว่า ระบบตรวจสอบปัจจุบันอาจยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ นำไปสู่ความเสี่ยงโดยตรงต่อผู้บริโภค
“จากการที่ตรวจยึดสินค้าได้กว่า 8,000 ชิ้น สะท้อนให้เห็นว่าอาจมีผู้บริโภคในกรุงเทพหลายพื้นที่ ได้รับความเสี่ยงจากสินค้าเหล่านั้น เพราะสินค้าได้กระจายไปทั่วโดยที่ไม่ได้ระบุให้ผู้บริโภคทราบว่ากระจายไปยังที่ใดบ้าง อีกทั้ง การไม่มีระบบเรียกคืนสินค้า ทำให้ผู้บริโภคตกอยู่ในความเสี่ยงโดยไม่รู้ตัว” นายภาณุโชติกล่าว
นอกจากนี้ การพบโกดังเก็บสินค้าขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ สามารถตั้งข้อสงสัยได้ว่า อาจมีสถานที่ลักษณะเดียวกันกระจายอยู่ในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงความไม่แน่ชัดของระบบติดตามและเฝ้าระวัง และการกระจายสินค้า
ซึ่งการมีระบบเตือนภัย เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย โดยระบบต้องแจ้งเตือนอย่างทันท่วงทีเมื่อตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย ที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ
นอกจากนี้ หากพบว่าผลิตภัณฑ์ใดไม่ปลอดภัย ต้องมีมาตรการเก็บกวาดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวออกจากท้องตลาดโดยเร็วเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภค
นายภาณุโชติ กล่าวอีกว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคควรขยับบทบาทจากการแก้ปัญหาในรูปแบบเดิม ๆ ไปสู่การทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการติดตามผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่กำลังได้รับความนิยมในตลาดและอาจมีความเสี่ยงต่อผู้บริโภค
ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรเปิดพื้นที่ให้เกิดความร่วมมือกับภาคีต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ เพราะการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนจะช่วยสร้างกลไกการแจ้งเบาะแสและเตือนภัยได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
“ที่สำคัญคือสามารถนำข้อมูลมาสื่อสารกับผู้บริโภคได้ทันทีเมื่อพบความเสี่ยง ซึ่งสภาผู้บริโภคเองก็กำลังผลักดันแนวทางนี้ให้เป็นระบบร่วมกันอย่างจริงจัง“นายภาณุโชติกล่าว