
โคราชไม่ธรรมดา! ขุดแนวกำแพงเมืองเก่า หวังเจอโบราณสถาน สมปรารถนาเจอเลย “โครงกระดูกมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์” 11 โครง อายุ 3,000 ปี แถมยังฝังซ้อน 2 ยุค!
พระครูวรนายกสิทธาคม (พระมหาต่อ) เผยว่า จุดที่ขุดพบอยู่แถวประตูพลล้าน ทางทิศตะวันออกของเมืองโคราช แต่เดิมตั้งใจขุดสำรวจแนวกำแพงเมืองเก่า แต่ขุดไปขุดมา กลับไปเจอโครงกระดูกมนุษย์แทน! และไม่ใช่แค่โครงเดียว แต่มีถึง 11 โครง ฝังกันมา 2 ยุค คือ ยุคพิมายดำ (ตื้นกว่า) กับ ยุคสำริด (ลึกกว่า) โดยแบ่งแยกยุคจากหม้อและเครื่องใช้ที่ฝังรวมกับศพ

แต่ที่พีคสุด! เมื่อปีที่แล้วที่ขุดพบโครกระดูก 3 โครง หนึ่งในนั้นมีแหวนทองคำสวมอยู่ที่นิ้ว ซึ่งทองคำในสมัยนั้นไม่ได้หากันง่ายๆ แต่โครงกระดูกที่ค้นพบในปีนี้มีเพียงแค่หม้อที่วางอยู่เหนือศรีษะ และวางอยู่ปลายเท้า รวมถึงบริเวณข้างๆ โครงกระดูกยังมีเครื่องใช้โบราณทั้งกระดองเต่า เศษหอย กำไลสำริด กำไลหิน และกำไลเหล็ก

พระมหาต่อ เล่าว่า วันที่ไปเปิดหลุม ได้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้วิญญาณที่อยากให้พบ ปรากฏขึ้นมา ไม่เกิน 2 เมตรก็เจอเลย! และที่น่าทึ่งคือ โครงกระดูกถูกฝังเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ตรงนี้เคยเป็นแหล่งอาศัยของมนุษย์โบราณมานานกว่า 3,000 ปีแล้ว!

การค้นพบครั้งนี้เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ไปทันที! เพราะมันพิสูจน์ว่า โคราชมีผู้คนอาศัยอยู่ก่อนยุคกรุงศรีอยุธยา ไม่ใช่เมืองที่ถูกอพยพมาตั้งใหม่ แต่เป็นแผ่นดินดั้งเดิมของคนโคราชตั้งแต่ยุคโบราณ

ล่าสุด (10 ก.พ. 68) ทางกรมศิลปากร ได้ขนย้ายโครงกระดูกทั้งหมดไปที่กรมศิลปากร พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พิมาย นครราชสีมา เพื่อทำการศึกษาต่อไป

การค้นพบครั้งนี้ไม่เพียงแค่เผยให้เห็นอดีตของโคราช แต่ยังเปิดเผยถึงการดำรงชีวิตของผู้คนในยุคโบราณที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ของเมืองโคราชไปตลอดกาล!