ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยปมเสียบสายชาร์จปลอม แล้วถูกดูดข้อมูลโอนเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงปมปัญหาเสียบสายชาร์จปลอม แล้วถูกดูดข้อมูลโอนเงินไม่มีจริง แต่เกิดจากมิจฉาชีพสุ่มข้อมูลบัตรและนำไปสวมรอยทำธุรกรรม

สืบเนื่องจากตำรวจสอบสวนกลางได้ออกมาเตือนภัยเมื่อไม่นานนี้ เมื่อพบสายชาร์จที่ฝังตัวสัญญาณไร้สาย Access Point เมื่อเราเสียบสายชาร์จเข้ากับอุปกรณ์ หรือโทรศัพท์ จะทำให้ แฮกเกอร์ สามารถเข้าถึงข้อมูลในอุปกรณ์ของเราได้จากระยะทางไกล โดยทำการโจรกรรมข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น เลขบัญชี รหัสธนาคาร รหัสผ่าน หรืออาจส่ง Malware อันตรายเข้ามายังอุปกรณ์มือถือ

เสียบสายชาร์จไม่ระวัง เสี่ยงเป็นเหยื่อมิจฉาชีพดูดข้อมูลโอนเงินหมดบัญชี

ล่าสุดพบผู้เสียหายร้องเรียนในกรณีใช้งานสายชาร์จปลอมแล้วถูกดูดข้อมูลและโอนเงินออกจากบัญชี ด้านธนาคารแห่งประเทศไทยได้หารือสมาคมธนาคารไทย ชี้แจงตรวจสอบกรณีดังกล่าวพบว่ามิได้เกิดจากการใช้งานสายชาร์จปลอม โดยเกิดจากมิจฉาชีพสุ่มข้อมูลบัตรและนำไปสวมรอยทำธุรกรรม โดยพบว่าระหว่างวันที่ 1 – 17 ตุลาคม 2564 มีบัตรของธนาคารจำนวน 10,700 ใบ ถูกนำไปทำธุรกรรมลักษณะดังกล่าว มูลค่ารวมประมาณ 130 ล้านบาท ซึ่งแต่ละธนาคารมีระบบการตรวจจับธุรกรรมที่ผิดปกติตามลักษณะประเภทร้านค้าและประเภทสินค้าอยู่แล้ว จากเหตุการณ์ดังกล่าว ธนาคารจึงได้เพิ่มมาตรการป้องกันและดำเนินการแก้ปัญหา

ธนาคารได้ยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ 

  • ตรวจจับธุรกรรมที่ผิดปกติ ให้ครอบคลุมธุรกรรมที่มีจำนวนเงินต่ำและที่มีความถี่สูง 

  • ติดตามเฝ้าระวังรายการธุรกรรมจากต่างประเทศเป็นพิเศษ 

  • แจ้งเตือนลูกค้าในการทำธุรกรรมทุกรายการตั้งแต่รายการแรก

  •  ประชาสัมพันธ์วิธีการป้องกันความเสี่ยง เช่น การปรับวงเงินในบัตรให้เหมาะสมกับการใช้จ่าย หลีกเลี่ยงการผูกบัตรกับเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มที่ไม่น่าไว้ใจ ทำให้ปริมาณธุรกรรมผิดปกติในลักษณะดังกล่าวลดลงมาก โดยธนาคารจะติดต่อสอบถามลูกค้าเพิ่มเติมกรณีพบรายการต้องสงสัย 

อีกทั้ง ธปท. ยังได้เน้นย้ำให้สถาบันการเงินมีมาตรการดูแลลูกค้าทุกรายอย่างเต็มที่ตามขั้นตอนปฏิบัติที่กำหนด ซึ่งหากได้ตรวจสอบและพิสูจน์พบว่าลูกค้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการให้ข้อมูลส่วนตัว สถาบันการเงินต้องรีบพิจารณาช่วยเหลือและดูแลความเสียหายของลูกค้าโดยจะได้รับการคืนเงินภายใน 5 วันทำการ

ปัจจุบัน มิจฉาชีพมีวิธีหลอกลวงหลายรูปแบบ อาทิ SMS หลอกลวง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และแอปพลิเคชันให้สินเชื่อปลอม เป็นต้น และมีการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดใช้การหลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมที่แฝงมัลแวร์ ซึ่ง ธปท. ได้ดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยการออกมาตรการต่างๆ ให้สถาบันการเงินต้องปฏิบัติ และร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. สำนักงาน ปปง. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการต่าง ๆ ได้แก่

  • ปรับปรุงพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยบน Mobile Banking อย่างต่อเนื่อง

  • ปิดกั้นเว็บไซต์หลอกลวง และตัดการเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มิจฉาชีพใช้ควบคุมเครื่องผู้เสียหายจากระยะไกล

  • แก้ไขปัญหา SMS หลอกลวง ที่แอบอ้างชื่อเป็นสถาบันการเงิน

  • จัดให้มีช่องทางการรับแจ้งความออนไลน์เพื่อให้ประชาชนแจ้งความได้สะดวกและอายัดบัญชีได้รวดเร็วขึ้น

  • ประชาสัมพันธ์สร้างการตระหนักรู้ แจ้งเตือนภัย และให้คำแนะนำประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ระวังตัวป้องกันภัยมิจฉาชีพเบื้องต้น

1. ไม่คลิกลิงก์จาก SMS LINE และ อีเมลที่มีแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักหรือไม่น่าเชื่อถือ

2. ไม่ดาวน์โหลดโปรแกรม นอกเหนือจากแหล่งที่ได้รับการควบคุมและรับรองความปลอดภัยจากผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการที่เป็น Official Store อาทิ Play Store หรือ App Store เท่านั้น

3. อัปเดต Mobile Banking ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดอยู่เสมอ หรือตั้งค่าให้มีการอัปเดตแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะมีมาตรการป้องกันการควบคุมเครื่องทางไกลรวมถึงมีการปรับปรุงพัฒนาระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ

4. ไม่ใช้เครื่องโทรศัพท์มือถือที่ไม่ปลอดภัยมาทำธุรกรรมทางการเงิน อาทิ เครื่องที่ปลดล็อก (root/jailbreak) เพื่อให้สามารถติดตั้งแอปพลิเคชันใด ๆ ก็ได้ หรือใช้เครื่องที่มีระบบปฏิบัติการล้าสมัย เป็นต้น

5. ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้การติดตามแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว และหากลูกค้าธนาคารพบธุรกรรมผิดปกติ สามารถติดต่อคอลเซ็นเตอร์หรือสาขาของธนาคารที่ลูกค้าใช้งาน เพื่อแจ้งตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมในทันที โดยธนาคารจะดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

ข้อมูล ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , ตำรวจสอบสวนกลาง

คลิปอีจันแนะนำ
ชาร์จแบตทิ้งไว้ แต่กลับโดนดูดเงิน เกลี้ยงบัญชี?