ตร.จับกุม “ตะวัน-แฟรงค์-สายน้ำ” แยกคุมขัง-ป้องกันเหตุวุ่นวาย

ตร.จับกุม 3 ผู้ต้องหา “ตะวัน-แฟรงค์-สายน้ำ” สอบปากคำ แยกคุมขังป้องกันเหตุวุ่นวาย

กรณีการเคลื่อนไหวของ น.ส.ทานตะวัน หรือ ตะวัน นักกิจกรรมทางการเมือง โพสต์ภาพเกี่ยวกับขบวนเสด็จฯ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และวันนี้ (13 ก.พ.67) ศาลอาญาออกหมายจับ ตะวัน พร้อมเพื่อน แจ้งข้อหาความผิดตามมาตรา 116 หลังมีพฤติกรรมขับรถแซงขบวนเสด็จ บีบแตร ดูหมิ่นเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

เวลา 16.45 น. นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ “ตะวัน“และนายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือ “แฟรงค์“ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาในคดีบีบแตรขบวนเสด็จ พร้อมด้วย นายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือสายน้ำ นักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีพ่นสีกำแพงวัง และมวลชน ได้เดินออกมาจากศาลอาญา รัชดา หลังรอให้ตำรวจเข้ามาจับกุม แต่ยังไม่มีการเข้ามาจับกุมตัว จึงได้ตัดสินใจเดินออกมาบริเวณริมทางเท้าหน้าศาลอาญา เพื่ออกจากเขตอำนาจศาล เพื่อให้ตำรวจเข้ามาแสดงหมายจับ โดยได้มานั่งกันบริเวณหน้าป้ายของศาลอาญา พร้อมกันทั้ง 3 คน พร้อมกับพูดว่า ให้เวลา 15 นาที ถ้าตำรวจไม่มาจับกุม 17.00 น.จะเดินทางกลับบ้าน

จากนั้น 16.50 น. ชุดสืบสวนนครบาล9 ได้มาแสดงหมายจับ พร้อมกับอ่านหมายจับของ สน.ดินแดง เป็นหมายจับของ นางสาวทานตะวัน และนายณัฐนนท์ โดยระบุด้วยว่า ทั้งสองคนมีสิทธิ์ให้การหรือไม่ให้การก็ได้ และมีสิทธิ์ ติดต่อทนายความ ติดต่อผู้ไว้วางใจ มีสิทธิ์รักษาพยาบาลอาการเจ็บป่วย และสามาถให้ผู้ไว้วางใจร่วมเข้าทำการสืบสวนได้

หลังอ่านหมายจับทั้งสองคนเสร็จ ตำรวจสืบสวนนครบาลอีก 1 นาย ได้มาอ่านหมายจับของ สน.พระราชวัง พร้อมแสดงหมายจับกุม นายนภสินธุ์ หรือ สายน้ำ ในข้อหา ร่วมกันสนับสนุนทำลายโบราณสถานฯ พ่นสีกำแพงวัง ระหว่างนั้น นายสายน้ำ ได้ถามตำรวจกลับว่า หมายจับนี้มีมาตั้งแต่เมื่อไร ตำรวจนายดังกล่าวตอบว่า เดือน พ.ค.ปี 2566  ทำให้นายสายน้ำ ได้ตั้งคำถามว่า หมายจับตั้งแต่ปี 2566 ทำไมจึงพึ่งมาจับตนเองตอนนี้

แต่ตำรวจ ระบุว่า ตนเองเป็นเพียงชุดจับกุม ซึ่งผู้ต้องหาสามารถใช้สิทธิ์เรียกร้องให้ตำรวจตรสจสอบได้

จากนั้น นางสาวทานตะวัน ได้พูดอีกครั้งก่อนตำรวจจะคุมตัวไปว่า อย่างที่ตนเองได้เคยตั้งคำถามมาตลอด แต่คำถามที่ถามไป ไม่เคยได้รับคำตอบ แต่ได้รับคำตอบเป็นหมายจับไม่ก็คดี แล้วจะอยู่กับแบบนี้เหรอ หรือจะสร้างพื้นที่ปลอดภัย เพื่อให้มีการถกเถียงและรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และยืนยันย้ำว่า หากมีการจับตนเองเข้าคุกในวันนี้ จะส่งผลใดต่อประชาชนคนอื่น แต่หากมีการถกเถียงกัน จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงมากกว่า ส่วนแนวทางการต่อสู้คดีหลังจากนี้ จะต้องขอปรึกษากับทนายความก่อน

หลังจากให้สัมภาษณ์เสร็จสิ้น ตำรวจควบคุมฝูงชนหญิง ได้นำกำลังประมาณ 3-4 นาย เข้ามาเดินประกบ ตะวัน และแฟรงค์ เพื่อไปขึ้นรถ เดินทางมายัง สน.ดินแดง เพื่อดำเนินคดี  ส่วนนายสายน้ำ ตำรวจคุมตัวเพื่อขึ้นรถไปยัง สน.พระราชวัง ก่อนขึ้นรถทั้ง 3 คน กอดกันเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อให้กำลังใจกัน และมีกลุ่มมวลชนตะโกนเป็นระยะว่า ‘ปล่อยเพื่อนเรา ปล่อยเพื่อนเรา’

เวลา 17.20 น.ตำรวจคุมตัว ตะวัน และแฟรงค์ มาถึงที่ สน.ดินแดง โดยลงรถทั้ง 2 คน ชู 3 นิ้ว จากนั้นคุมตัวเข้าห้องสอบปากคำทันที โดยมีกำลังตำรวจควบคุมฝูงชนกว่า 1กองร้อยตรึงกำลัง บริเวณหน้า สน.ดินแดง เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย และไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปภายในพื้นที่บริเวณ สน. ซึ่งมีมวลชน ตามมาให้กำลังใจ ทั้ง 2 ผู้ต้องหาด้วย และมีการตะโกนให้กำลังใจตะวัน และแฟรงค์ เป็นระยะ

จากนั้น ทนายความได้เข้าไปพูดคุยกับผู้ต้องหา พร้อมบอกว่า คดีนี้เดิมเป็นคดีลหุโทษที่ตอนแรกออกหมายเรียกไป แล้วแจ้งข้อเลื่อน แต่ไป ๆ มา ๆ มีการแจ้ง ม.116 จึงมีการออกหมายจับ แล้วจับกุมในวันนี้ ซึ่งผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ และทนายความ อยากประกันตัวในชั้นสอบสวน แต่ทราบว่าจะมีการเอาตัวไปฝากขังในวันพรุ่งนี้ ก็จะไปยื่นประกันตัวในชั้นศาล

ทั้งนี้ มีรายงานว่า หากเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว ตำรวจจะนำตัวทั้ง 3 คน แยกคุมขัง เพื่อป้องกันเหตุความวุ่นวาย ซึ่งนางสาวทานตะวัน จะไปคุมขังที่ สน.ฉลองกรุง นายณัฐนนท์ ตำรวจจะไปคุมขังที่ สน.ดินแดง ส่วนนายนภสินธุ์ จะพาไปทำบันทึกจับกุมที่ สน.พระราชวัง จากนั้นจะไปคุมขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง

สำหรับข้อหาที่ชัดเจนของนางสาวทานตะวัน ถูกจับในความผิด 3 ข้อหา คือ ความผิดตาม พรบ.คอมฯ, มาตรา 116 ยุยง ปลุกปั่น และก่อความเดือดรำคาญในที่สาธารณะฯ ส่วนนายณัฐนนท์ โดน 5 ข้อหา คือ มาตรา 116, พรบ.คอมฯ, ดูหมิ่นเจ้าพนักงานฯ, บีบแตรฯ โดยไม่มีเหตุอันควร ตาม พรบ.จราจร และก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะฯ

ขณะที่นายนภสินธุ์ ถูกจับในคดีเก่าเมื่อปี 2566 ในความผิด 2 ข้อหา คือ เป็นผู้สนับสนุน ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน และขีดเขียน พ่นสี หรือทำปรากฎด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ ที่กำแพงที่ติดกับถนน หรืออยู่ในที่สาธารณะ