นักวิจัยจีนเผย สัมผัส PM 2.5 เป็นเวลานาน เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ

คณะนักวิจัยโรงพยาบาลฟู่ไหว้ ของจีน เผยผลการประเมินการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 เป็นเวลานานเสี่ยงเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น

วานนี้ (19 ก.พ.63) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะนักวิจัยจากโรงพยาบาลฟู่ไหว้ (Fuwai Hospital) ในกรุงปักกิ่ง สังกัดสถาบันบัณฑิตแพทยศาสตร์แห่งชาติจีน ได้ออกมาเปิดเผยหลังทำการประเมินการสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เป็นเวลานาน เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดในหมู่ประชากรจีน

โดยข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการประเมินชาวจีนกว่า 110,000 คน ที่ถูกติดตามสถานะระหว่างปี 2000-2015 ซึ่งใช้เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลผ่านดาวเทียมมาประเมินการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ของผู้เข้าร่วมแต่ละคน

โดยผลการศึกษาพบว่า การสัมผัสฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้นทุก 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในแต่ละปี เชื่อมโยงกับความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 และความเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16

ภาพจากอีจัน
ทั้งนี้ อาการข้างเคียงจากการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 เป็นเวลานาน อาจจะเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และเสียชีวิต จากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลัน โดยความเสี่ยงเพิ่มขึ้นร้อยละ 38 และร้อยละ 52 ตามลำดับ

ทางคณะผู้เชี่ยวชาญยังเผยอีกว่า การวิจัยนี้ เป็นรากฐานสำคัญต่อการประเมินปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือดที่สัมพันธ์กับการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ในระดับโลก รวมถึงการวางแผนนโยบายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องในจีน