จับลุงวัย 58 ปี ลักลอบเผาป่า จ.ลำปาง

ป่าไม้แจ้งข้อหาหนัก ลุงวัย 58 ปี ลักลอบเผาป่า จ.ลำปาง

หลังจากเมื่อวันที่ 21กุมภาพันธ์ 2563 เจ้าหน้าที่เหยี่ยวไฟ กรมป่าไม้ นำโดย นายอิศเรศ จิรารัตน์ ผอ.ศูนย์ส่งเสริมควบคุมไฟป่าภาคกลาง ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปดับไฟป่าซึ่งใกล้กับโรงโม่หินศิลาสิน ต.แม่ทะ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง โดยไฟได้ไหม้เป็นบริเวณกว้างมีความเสียหายกว่า 109 ไร่

ภาพจากอีจัน
เมื่อตรวจสอบบริเวณเพิงพักซึ่งห่างจากจุดไฟไหม้ป่าเพียง 10 เมตร พบชนวนจุดไฟซึ่งเป็นวัตถุที่ทำขึ้นเพื่อใช้เป็นต้นเพลิงแบบถ่วงเวลาโดยใช้ไม้ขีดไฟมัดรวมกับแท่งยากันยุงซึ่งหวังผลให้ลุกลามถึงหัวไม้ขีดเพื่อเกิดเปลวไฟเผาไหม้เชื้อเพลิงต่อไป พร้อมกล่องไม้ขีดไฟ และอาวุธปืนแก๊ปยาว 1 กระบอก จึงได้ตรวจยึดไว้เป็นของกลางแจ้งตำรวจ สภ.แม่ทะ มาตรวจสอบที่เกิดเหตุ
ภาพจากอีจัน
เบื้องต้นทราบว่ากระท่อมเพิงพักดังกล่าวเป็นของพนักงานรักษาความปลอดภัยของโรงโม่หินศิลาสิน ชุดปฏิบัติการจึงได้ประสานตำรวจท้องที่ติดตามตัวมาทำการสอบสวนเพื่อดำเนินคดี การลักลอบเผาป่าตามกฎหมาย

ต่อมาวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 พล.ต.ต.อนุชา อ่วมเจริญ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดลำปาง พร้อมพนักงานสอบสวน สภ.แม่ทะ จ.ลำปาง และเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลป 14 (แม่ทะ), ชุดปฎิบัติการเหยี่ยวไฟ ได้นำตัวนายอุดมสินธิ์ ธิธรรมมา อายุ 68 ปี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของ บริษัท โรงโม่หิน ชี้ที่เกิดเหตุบริเวณเพิงพักของผู้ต้องหา กรณีพบวัตถุที่ประกอบด้วยแท่งยากันยุงและไม้ขีดไฟมัดรวมกันจำนวน 3 ชิ้น ซึ่งเป็นลักษณะของวัตถุที่จะนำไปใช้ในการวางเพลิงในพื้นที่ป่า

ภาพจากอีจัน
เบื้องต้นนายอุดมสินธ์ ได้ให้ปากคำว่า แท่งยากันยุงกับไม้ขีดไฟเป็นของตนจริง แต่จะนำไปใช้เผาไร่เผานาของตนเองในพื้นที่อำเภอแม่ทะ และปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นคนจุดไฟเผาป่าในที่เกิดเหตุ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ปักใจเชื่อเพราะให้การมีพิรุธหลายอย่าง

เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลป 14 (แม่ทะ) และพนักงานสอบสวน สภ.แม่ทะ จึงแจ้งข้อกล่าวหากับนายอุดมสินธิ์ ดังนี้
1.พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 และมาตรา 72 ตรี
2.พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 และ มาตรา 31
3.พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 มาตรา25(4) และมาตรา 27 และมาตรา 28
4.พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 97
5.พ.ร.บ.อาวุธปืน

ต่อมาภายหลังนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้ กรมป่าไม้ โดยชุดพยัคฆ์ไพรขยายผลตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ดำเนินการเป็นไปตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ จึงได้สั่งการให้นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้นำชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพร เร่งขยายผลตรวจสอบการลักลอบเผาป่าครั้งนี้ให้ถึงที่สุดทั้งทางอาญาและทางเพ่ง ซึ่งผู้ต้องหารายนี้จะได้รับโทษตามมาตรา 3130 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติปี 2507 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 14 ต้องระวางโทษจําคุกต้ังแต่ 1 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท

ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าได้กระทําเป็นเนื้อที่เกิน 25 ไร่ หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่
(1) ไม้สัก ไม้ยาง ไม้สนเขา หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. ตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้
(2) ไม้อื่นที่เป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกันเกิน 20 ต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกิน 4 ลูกบาศก์เมตร หรือ
(3) ต้นน้ำลําธาร หรือ
(4) พื้นที่ชายฝั่ง

ผู้กระทําความผิดต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 4 ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท บุคคลนั้นยึดถือหรือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ศาลมีอํานาจสั่งให้ผู้กระทําความผิด คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของผู้กระทําความผิด ออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตลอดจนสั่งให้ผู้กระทําความผิดรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง หรือนําสิ่งใด ๆ อันก่อให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติออกจากป่าสงวนแห่งชาติในเวลาที่กำหนด

ภาพจากอีจัน
และให้ดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางเพ่งตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติปี 2535 มาตรา 97 ซึ่งเป็นการฟ้องร้องทางเพ่งเพื่อเรียกร้องความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเผาป่าเฉลี่ยไร่ละ 100,000 บาท รวมค่าเสียหายทางแพ่งไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

ต่อมา วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563 นายชีวะภาพ ชีวะธรรม พร้อมชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ขยายผลตรวจสอบจุดที่เกิดเหตุ พบว่าจุดที่เกิดไฟไหม้ป่าเป็นพื้นที่ขอใช้ประโยชน์ จากกรมป่าไม้ของ บริษัท ศิลาสิน จำกัด ขอใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่จางจำนวน 220-2-01 ไร่ ประกอบกิจการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน ตรวจสอบพบ พื้นที่ถูกไฟไหม้เสียหายทั้งหมด 109 ไร่ พื้นที่ถูกไฟไหม้อยู่ในเขตขอใช้ประโยชน์ ของบริษัท ศิลาสินลำปาง 14-1-32 ไร่ นอกพื้นที่ขอใช้ 94-2-68 ไร่ และเมื่อตรวจสอบเงื่อนไขแนบท้ายหนังสืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ป่าสงวนแห่งชาติระบุไว้ชัดเจนว่า

ภาพจากอีจัน
1.ผู้ที่ได้รับอนุญาต จะต้องไม่สั่งการหรือยินยอมให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด กระทำการ หรือละเว้นการกระทำการใดๆให้เป็นการเสื่อมเสียสภาพป่าหรือของป่า หากมีการกระทำผิด ผู้รับอนุญาตต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆด้วย 2.ต้องคอยสอดส่องตรวจตราระมัดระวังมิให้มีการบุกรุกในพื้นที่ได้รับการอนุญาต ถ้ามีการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ หรือกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ผู้รับอนุญาตต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบทันที หากพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่ามีการเสียหายเกิดขึ้นโดยที่ผู้รับอนุญาตควรจะทราบ แต่ละเลยมิได้แจ้งให้ทราบ ผู้รับอนุญาตต้องรับผิดชอบด้วย และต้องมีการจ่ายฟื้นฟู ดูแล บำรุงรักษาพื้นที่ให้กลับคืนมาดังเดิมให้มากที่สุด 3.ผู้รับอนุญาต ต้องบำรุงดูแลสภาพป่าในบริเวณที่ได้รับอนุญาต และบริเวณติดต่อใกล้เคียงให้มีสภาพป่าคงเดิม กรณีผู้ได้รับอนุญาตผ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ จะมีความผิดตามมาตรา 33/2 และ 33/3 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507

คณะเจ้าหน้าที่ร่วมกันลงความเห็นว่า บริษัท ศิลาสิน จำกัด มีพฤติกรรมผ่าฝืนหรือละเว้นไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จึงได้ทำบันทึกตรวจสอบเพื่อดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ และจะมอบให้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) นำเรื่องราวเสนอให้มีการพักใช้ใบอนุญาตการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติต่อไป

ภาพจากอีจัน
ทั้งนี้ นายชีวะภาพ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าเฉพาะในจังหวัดลำปาง มีพื้นที่ขออนุญาตใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อดำเนินกิจการด้านเหมืองแร่ โรงโม่หินจำนวน 61 โครงการ รวมพื้นที่ประมาณ 48,213ไร่ และเมื่อขยายผลอ่านแปลภาพถ่ายของชุดปฏิบัติการ พบว่า ที่ผ่านมามีร่องรอยการเกิดไฟไหม้ในเขตพื้นที่ได้รับอนุญาตและพื้นที่ติดต่อใกล้เคียงพื้นที่ใช้ประโยชน์จำนวนมาก ซึ่งทำให้เห็นว่าผู้ประกอบการที่ได้ใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อเงื่อนไขที่ ทางราชการกำหนดไว้ถ้าผู้ประกอบการกลุ่มนี้ให้ความสําคัญต่อปัญหาไฟป่าหมอกควัน น่าจะช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นได้มาก

ซึ่งทางชุดปฏิบัติพยัคฆ์ไพร จะเข้าตรวจสอบโครงการอื่นๆ หากตรวจสอบพบการกระทำผิดก็จะดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายให้ถึงที่สุด ตามนโยบายและข้อสั่งการของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเคร่งครัด