แพทย์ชี้ ไวรัสโควิด -19 ร้ายแรงแต่ไม่รุนแรง ไม่อยากให้ตื่นกลัวแต่อยากให้เข้าใจ

แพทย์ เผย ไวรัสโควิด -19 ร้ายแรงแต่ไม่รุนแรง ไม่อยากให้ตื่นกลัวแต่อยากให้เข้าใจ ยัน ระบบเฝ้าระวังยังไม่มีรูรั่ว

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 นพ.พิเชษฐ์ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้โพสต์ข้อความ ในเพจเฟซบุ๊ก “นพ.พิเชษฐ์ บัญญัติ” ระบุว่า “#โรคติดต่ออันตรายโควิด-19 การระบาดร้ายแรง แต่ตัวโรคไม่รุนแรง (seriousแต่ไม่severe)
วันนี้ได้ไปตรวจดูความพร้อมของห้องแลปตรวจวิเคราะห์ไวรัสโควิด -19 ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สุราษฎร์ธานี หลังจากได้ไปตรวจเยี่ยมที่สงขลา ภูเก็ต พิษณุโลก เชียงใหม่ มาแล้ว ยืนยันความพร้อมและความมั่นใจในการตรวจวิเคราะห์

ภาพจากอีจัน

เรื่องเล่าวันนี้ ผมไม่อยากให้คนไทย “ตระหนก แต่ให้ตระหนัก” ไม่อยากให้ “ตื่นตูมแต่อยากให้ตื่นตัว” ไม่อยากให้ “ตื่นกลัวแต่อยากให้เข้าใจ”

ขอเน้นคำว่า “ร้ายแรง (serious) แต่ไม่ รุนแรง (severe)” นั่นคือ “ตัวการระบาดของโรค (Epidemic)” ส่งผลกระทบ (impacts) ร้ายแรง (serious) แต่ “ตัวโรคระบาด (Disease)” ไม่รุนแรง (severe) เพราะอัตราป่วยตาย (mortality) ของโรคไวรัสโควิด-19 อยู่แค่ราวๆ 2% ต่ำกว่ารุ่นพี่อย่างซาร์ส (40%) และเมอร์ส (30%) หลายเท่าตัว
จากข่าวสำคัญของวันนี้ “ล่าสุด คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเอกฉันท์ ประกาศโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย เพื่อช่วยการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ย้ำไทยยังไม่เข้าระบาดระยะ 3”

สิ่งที่อยากเขียนเล่าวันนี้ คือ สถานการณ์มันน่ากลัวมากขึ้นหรือจึงมีประกาศนี้ขึ้นมา อยากให้เข้าใจคำว่า “โรคติดต่ออันตราย” กับคำว่า “การระบาดระยะที่ 3”

ตาม พรบ.โรคติดต่อ 2558 ให้คำอธิบายไว้ว่า “โรคติดต่ออันตราย หมายความว่า โรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูงและสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว”

ถ้าดูเฉพาะนิยามนี้ “ความรุนแรงสูง” ไหม ก็จะไม่สูง แต่ถึงตายไหม ก็ถึงตายได้ในบางคน ปกติความรุนแรงของโรค เราดูที่อัตราป่วยตาย คือ ป่วย 100 คน แล้วตายกี่คน แต่ยังไงก็มีตาย และยังไม่ชัวร์เรื่องยารักษา และไม่มีวัคซีน ก็พออนุโลมให้ในเรื่อง “รุนแรง” ไปได้

ปัจจัยเด่นจริงๆ จะมาจากประเด็นที่ 2 มากกว่า คือ “สามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว” อันนี้คงไม่เถียงนะครับ
การกลายพันธุ์ของโคโรนาไวรัสที่ชื่อ โควิด-19 นี้ สามารถแพร่กระจายได้เร็ว ทั้งจากความสามารถในการเกาะติดทางเดินหายใจส่วนบนของคนได้มากกว่าซาร์ส

เมื่อติดเชื้อแล้วมีไข้ไม่ถึง 50% ของผู้ป่วยและอาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการจึงทำให้ผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อสามารถไปโน่นไปนี่ได้เยอะ การตรวจจับด้วยไข้อย่างเดียวจึงหลุดง่าย

ความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อหรือค่า R0 อยู่ที่ 2-4 หมายความว่า การปรากฏตัวของผู้ป่วยหนึ่งครั้งโดยไม่สวมหน้ากากอนามัยป้องกันแพร่เชื้อ จะสามารถทำให้คนอื่นติดเชื้อได้ถึง 2-4 คน ดังนั้น ยิ่งกักกัน (เก็บตัว) ได้เร็วเท่าไหร่ก็ลดการแพร่เชื้อได้มากเท่านั้น

แต่ถ้าเขาไม่ป้องกันตัวเองแพร่เชื้อให้คนอื่นก็อาจกลายเป็น “ยอดมนุษย์แพร่กระจายเชื้อ” หรือ Super spreader เหมือนคุณป้าผู้ป่วยรายที่ 31 ของเกาหลีใต้ได้ จนลากการระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3 ก่อนเราไปแล้ว

การติดต่อสำคัญยังคงเป็นละอองฝอยขนาดใหญ่ (droplets) จากการสัมผัสสารคัดหลังจากน้ำทั้ง 4 คือ น้ำมูก น้ำลาย น้ำตา น้ำเสมหะมิใช่จากลมหายใจ (air born)

ส่วนที่มีคนกังวลการติดจากอุจจาระเพราะพบว่ามีเชื้อลงไปในทางเดินอาหารมีท้องเสีย ผมค่อนข้างมั่นใจว่า ไม่ติดหรือติดยากมากๆๆๆๆๆๆ เพราะ อุจจาระผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อต้องกระเด็นมาเข้าปาก เข้าตา หรือ จมูก หรือ นิ้วมือเราไปสัมผัสอุจจาระเขาแล้วเอามาเข้าปาก แคะจมูก หรือ ขยี้ตา หรือ มีกระบวนการทำให้อุจจาระ/น้ำล้างอุจจาระกระเด็นเป็นฝอยละอองให้คนสูดดมเข้าทางเดินหายใจได้

อีกประเด็นหนึ่ง ผมเชื่อว่าไวรัสโควิด-19 ที่พบในอุจจาระมันตายแล้ว เนื่องจากมันจะอยู่รอดได้ในสภาพความเป็นกรด-เบส (ด่าง) 5-9 ขณะที่ในกระเพาะอาหารเราเป็นกรดถึง pH 1.6-2.5 มันย่อมตายตั้งแต่ในกระเพาะอาหาร พอไปถึงลำไส้เล็กเจอน้ำดีที่เป็นเบส (ด่าง) เจอทั้งกรดและด่างมันไม่น่าจะรอดชีวิตไปได้

ภาพจากอีจัน

การตรวจพบสายพันธุกรรมจำเพาะของไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ที่ใช้กันขณะนี้ตรวจได้ทั้งเชื้อเป็นและเชื้อตาย แต่จะรู้ว่าเป็นหรือตาย ต้องเอามาเพาะเชื้อไวรัสต่อว่าขยายพันธุ์ต่อได้หรือไม่ หรือกรณีหายป่วยแล้วยังตรวจให้ผลบวกอยู่ ก็อาจเป็นเชื้อเป็นหรือตายก็ได้ ที่กรมฯลองเอาบางตัวอย่างมาเพาะเชื้อไวรัส ปรากฏว่า เชื้อไม่ขึ้น จึงน่าจะเป็นเชื้อตาย แต่ยังไม่อยากด่วนสรุปแบบนี้

แต่ถ้ายังกังวลเรื่องติดเชื้อจากอุจจาระ ก็มีคำแนะนำให้ปิดฝาชักโครกก่อนกดชักโครกชำระล้าง จะลดความเสี่ยงจากการฟุ้งกระจายของอนุภาคเล็กๆจำนวนมากที่ลอยฟุ้งขึ้นมา

ด้วยปัจจัยด้านการแพร่กระจายได้ง่าย และเร็ว จึงเป็นเหตุผลให้ต้องประกาศให้โรคไวรัสโควิด-19 เป็น “โรคติดต่ออันตราย” น้องใหม่รายการที่ 14 ของไทย ทั้งที่โรคที่มีผลต่อคนไม่ได้ “รุนแรง” มากขึ้น แต่ผลกระทบต่อคนในชาติอาจส่งผลเสียหาย “ร้ายแรง”

สรุปคือ “โรคไวรัสโควิด-19 ติดง่าย ตายน้อย แพร่กระจายได้มาก” นี่ละครับผมจึงบอกว่า “ร้ายแรงแต่ไม่รุนแรง” หรือ “serious แต่ไม่ severe”

ลองคิดดูสิครับ ถ้าปล่อยให้คนไทยติดเชื้อแล้วป่วยเล็กป่วยน้อย แต่ป่วยกันเยอะๆ เราจะวุ่นวายขนาดไหน แม้จะป่วยแบบไม่ตาย ก็ต้องดูแลรักษาและกักกันโรค จะเอาโรงพยาบาลไปกักกันที่ไหน แพทย์พยาบาลจะมีพอดูแลคนไข้ไหม หยูกยาและเวชภัณฑ์ต่างๆจะพอใช้ไหม…ฯลฯ

นี่ละครับ serious แม้ไม่ severe แต่มันเกิดภาระ(รับมือกับ)โรค หรือ Burden of disease และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความผาสุกของคนในชาติ จะเกิดสภาพป่วยมากหรืออัตราป่วยต่อประชากร (morbidity) มากขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อ “ระบบเฝ้าระวังและควบคุมป้องกันโรค” มีรูรั่ว

ทุกวันนี้ยังไม่รั่วครับ เราถึงยันอยู่ การตรวจเฝ้าระวังควานหากลุ่มเสี่ยง/กลุ่มป่วยยังไม่รอดหูรอดตาเจ้าหน้าที่ การตรวจแลปวินิจฉัยยังวางระบบอย่างเคร่งครัด เราจึงยังอยู่แค่การระบาดระยะที่ 2 ยังไม่เข้าระยะที่ 3

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

“รูรั่ว” ของระบบเฝ้าระวังโรค ที่ผมพูดถึงจะเกิดจากอะไรได้บ้าง พิจารณาดูครับ

1. เจ้าหน้าที่ภาครัฐย่อหย่อนอะลุ่มอล่วยไม่ทำตามหลักเวชศาสตร์ป้องกัน ข้อนี้ผมไม่กังวลเลยครับ ผมเห็นการทำงานของทุกหน่วยในขณะนี้ เราทำกันอย่างสมกับระบบที่ดีอันดับ 6 ของโลกครับ แม้จะเหน็ดเหนื่อยกันแค่ไหนก็ตามทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติ ที่สำคัญต้องยึดมั่นในหลักการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อ (infectios control) อย่างเคร่งครัด เพราะถ้ามีข่าวแพทย์พยาบาลติดเชื้อ จะไปทำให้โรคมันดูน่ากลัวขึ้น ซึ่งไม่จริงทางหลักวิชา แต่มันน่ากลัวในความรู้สึกของผู้คน

2. กลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มป่วย หรือเข้าข่าย PUI ไม่เข้าสู่ระบบการเฝ้าระวัง ไม่ให้ข้อมูลที่แท้จริงกับเจ้าหน้าที่เพราะกลัวถูกกักกัน กลัวถูกรังเกียจ

3. กลุ่มสถานพยาบาลภาคเอกชน จัดบริการตรวจแลปหรือตรวจรักษาผู้เข้าข่ายเฝ้าระวังแต่ไม่ส่งข้อมูลเข้าระบบเฝ้าระวัง อาจจะเพราะเอาใจคนไข้ หรือ ไม่ใส่ใจ เน้นแต่ตรวจรักษาไม่เน้นการเฝ้าระวังควบคุมโรค

4. กลุ่มประชาชนทั่วไป ไม่ใส่ใจดูแลตนเองตามคำแนะนำ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อป่วยหรือเข้าพื้นที่เสี่ยง และการสัมผัสใบหน้าโดยเฉพาะที่ปาก/ตา/จมูก รวมถึงการเชื่อและแชร์ข่าวลวง ข่าวลือ จนสร้างความสับสนวิตกกังวล

อีกอย่างก็ช่วยกันเป็นหูเป็นตาชี้เบาะแสกลุ่มเสี่ยงที่อาจเข้ามาทางช่องทางต่างๆ แต่เน้น “เฝ้าระวังโรค ไม่เฝ้าระแวงคน” นะครับ จะได้ไม่สูญเสียมิตรประเทศ

ประชาชนทุกคน ต้องมี “ความรับผิดชอบ” สำคัญ 2 เรื่องในการยับยั้งการระบาด คือ รับผิดชอบต่อตัวเองไม่ให้ติดโรคหรือแพร่โรค และรับผิดชอบต่อสังคมไม่ให้เกิดการระบาด

5. กลุ่มผู้ประกอบการอาหาร ต้องใส่ใจสุขอนามัยส่วนบุคคลของผู้ปรุง/ผู้เสิร์ฟ/ผู้ขาย และปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาลอาหารอย่างเคร่งครัด เพราะอาหารไทยหลายอย่าง ไม่ได้กินร้อน และหลายอย่างมีผักผลไม้สดมากินประกอบด้วย ง่ายๆก็ “คนที่เกี่ยวข้องอาหารสวมหน้ากากอนามัย อาหารปรุงเสร็จใส่ภาชนะมีฝาปิด”

การประกาศให้ “โรคโควิด-19” เป็นโรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 จะช่วยปิดรูรั่วเหล่านี้ได้มาก ทำให้ระบบการเฝ้าระวังควบคุมโรคของเรามีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากขึ้น

เพราะมาตราที่ 31 กำหนดให้ใครหรือหน่วยไหนก็ตามที่เกี่ยวข้องหรือพบเห็นผู้ป่วยหรือผู้สงสัยต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ในระบบเฝ้าระวัง ถ้าไม่ทำถือว่า มีความผิดตามกฎหมาย เป็นการบังคับใช้กฎหมาย มิใช่แค่การขอความร่วมมือ

ภาพจากอีจัน

ก่อนจบอธิบายเพิ่มเติมเล็กน้อยเกี่ยวกับระยะการระบาดของโรคครับ การแบ่งระยะการระบาด ใช้เพื่อกำหนดมาตรการในการเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรค มิได้หมายถึงความรุนแรงของเชื้อโรคที่กระทำต่อร่างกายมนุษย์ ขออธิบายง่ายๆ ดังนี้ครับ

ระยะที่หนึ่ง คือ พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย แต่เป็นคนจีนติดโรคมาจากจีน (import case)

ระยะที่สอง คือ พบผู้ป่วยคนไทยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ติดจากผู้ป่วยคนจีนที่มาไทย

ระยะที่สาม คือ พบผู้ป่วยคนไทยติดเชื้อจากกันเองโดยไม่เกี่ยวกับหรือไม่ใช่ติดจากผู้ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศ ทำให้มีโอกาสแพร่กระจายเชื้อในประเทศได้มาก

เป้าหมายของเราคือ หยุดหรือชะลอการเข้าสู่ระยะที่สามให้นานที่สุด หรือ ให้เข้าสู่ระยะที่สามแบบป่วยน้อย จบไว ไม่ยืดเยื้อ เรียกว่า curve เตี้ยและแคบ หรือไอเดียลสุดๆคือ ไม่เข้าระยะที่ 3 เลย

ความเห็นผม ถ้าเรายันไปได้ถึง 3 เดือน การระบาดก็จะลดลงและการควบคุมป้องกันโรคก็จะทำได้ง่ายขึ้น เพราะ อาจมียาต้านไวรัสผลิตมาช่วย อาจมีวัคซีนป้องกันโรคมาทัน

แต่ที่แน่ๆ อากาศหน้าร้อนเมืองไทย จะทำให้ไวรัสโควิด-19 หมดฤทธิ์ ตายง่าย และลดความสามารถในการแพร่กระจายหรือทำให้เกิดโรค ยิ่งอุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียและแดดจ้าแดดจัด ความร้อนและรังสีไวโอเลต ช่วยฆ่าเชื้อในสิ่งแวดล้อมได้

รู้สึกว่า จะยาวทุกครั้งที่โพสต์เรื่องนี้ อยากให้สละเวลาไปอ่านโพสต์ก่อนๆด้วยครับ จะเข้าใจมากขึ้นครับ เพราะ

“ความเข้าใจที่ถูกต้อง” และ “ความร่วมมือ” และ “ความรับผิดชอบ” ของประชาชนชาวไทย เป็นหัวใจสู่ความสำเร็จในการยับยั้งการระบาดครับ”

ภาพจากอีจัน