วิ่งแล้ว! BMA FEEDER รถเมล์เชื่อมรถไฟฟ้า-นั่งฟรี 6 เดือน

นั่งฟรี 6 เดือน! วิ่งแล้ว BMA FEEDER สายแรก รถเมล์เชื่อมรถไฟฟ้า จากสายใต้ใหม่-BTS บางหว้า

(17 มี.ค. 63) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำทีมทดลองนั่งรถ Shuttle Bus จากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ – สถานี BTS บางหว้า ตามโครงการความร่วมมือทดลองให้บริการเดินรถ Shuttle Bus เพื่อนำส่งผู้โดยสารเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนหลัก (ระบบราง) “BMA FEEDER” ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (สายใต้ใหม่) เขตตลิ่งชัน

ภาพจากอีจัน
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการจราจรและขนส่งร่วมกับภาคเอกชนดำเนินโครงการความร่วมมือทดลองให้บริการเดินรถ Shuttle Bus เพื่อนำส่งผู้โดยสารเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนหลัก (ระบบราง) “BMA FEEDER” เพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนในการเดินทางในเส้นทางที่ระบบขนส่งหลักยังไปไม่ถึง ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และลดปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยกำหนดเดินรถในเส้นทางที่ยังไม่มีบริการขนส่งมวลชนอื่นๆ และหลีกเลี่ยงการทับซ้อนเส้นทางเดินรถขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถสองแถว ที่ให้บริการในปัจจุบัน
ภาพจากอีจัน
เบื้องต้นกำหนดเส้นทางเดินรถไว้ 10 เส้นทาง แต่จะดำเนินการนำร่องก่อน 3 เส้นทาง ได้แก่

1. สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (สายใต้ใหม่) เขตตลิ่งชัน ไปสถานี BTS บางหว้า (B1) เปิดทดลองให้บริการวันที่ 17 มี.ค. 63 ระยะทางรวม 26.5 กิโลเมตร จุดจอดรับ-ส่ง ประกอบด้วย สถานีขนส่งสายใต้ใหม่ – เนติบัณฑิตยสภา – สถานี BTS บางหว้า – ตลาดดอกไม้ – สถานีขนส่งสายใต้ใหม่

2.ชุมชนเคหะร่มเกล้า ไป Airport Rail Link ลาดกระบัง (B3) กำหนดเปิดทดลองให้บริการวันที่ 24 มี.ค. 63 ระยะทางรวม 17.5 กิโลเมตร จุดจอดรับ-ส่ง ประกอบด้วย ชุมชนเคหะร่มเกล้า – สวนเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา – เคหะร่มเกล้า 30 (ตรงข้ามสนามกีฬาเคหะร่มเกล้า) – สถานี ARL ลาดกระบัง – ชุมชนเคหะร่มเกล้า

3.ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง ไปสถานี BTS สนามเป้า (B2) กำหนดเปิดทดลองให้บริการวันที่ 31 มี.ค. 63 ระยะทางรวม 11.7 กิโลเมตร จุดจอดรับ-ส่ง ประกอบด้วย กทม.2 – โรงพยาบาลทหารผ่านศึก – สถานี BTS สนามเป้า – โรงพยาบาลทหารผ่านศึก – โรงเรียนรักษาดินแดน – มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย – กทม.2 โดยกรุงเทพมหานครเปิดให้บริการฟรี และกำหนดจุดจอดรับส่งประชาชนเฉพาะจุดเท่านั้น ระหว่างเวลา 05.00 – 21.00 น. ระยะห่างของช่วงเวลาการเดินรถประมาณ 15 – 30 นาทีต่อคัน ให้บริการฟรี 6 เดือน หลังจากนั้นกรุงเทพมหานครจะมีการประเมินผลการดำเนินงานและผลการตอบรับของประชาชนเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถลงทะเบียนใช้งานและเช็คตำแหน่งรถได้แบบ Real Time เพียงใช้แอปฯ Viabus หรือสแกน QR Code หรือสามารถลงทะเบียนใช้งานผ่านทาง link website ของสำนักการจราจรและขนส่ง http://www.bangkok.go.th/traffic/

ภาพจากอีจัน
ส่วนอีก 7 เส้นทาง ประกอบด้วย

1. พระราม 6 ไปสถานี BTS อารีย์
2. ทองหล่อ ไปเอกมัย
3. ท่าเรือกรุงเทพ เขตคลองเตย ไปสถานี BTS อ่อนนุช
4. ซอยเสนานิคม ไปสถานี BTS เสนานิคม
5. สยามสแควร์ ไปสนามหลวง
6. ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง ไปมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
7. สายไหม ไปสถานี BTS สะพานใหม่

ซึ่งจะมีการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมก่อนที่จะเปิดให้บริการต่อไป

ภาพจากอีจัน
นอกจากนี้จะศึกษาเส้นทางอื่นๆ ที่มีความเหมาะสมสำหรับการเปิดให้บริการเดินรถ Shuttle Bus เพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนระบบรองและระบบหลักได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้นต่อไป
ภาพจากอีจัน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครดำเนินโครงการความร่วมมือทดลองให้บริการเดินรถ Shuttle Bus เพื่อนำส่งผู้โดยสารเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนหลัก (ระบบราง) “BMA FEEDER” เพิ่มทางเลือกและให้บริการเสริมในการเดินทางแก่ประชาชน เบื้องต้นกำหนดให้บริการใน 3 เส้นทาง โดยวันนี้ได้เปิดทดลองให้บริการฟรีแก่ประชาชนแล้ว 1 เส้นทาง คือ สถานีขนส่งสายใต้ใหม่ – สถานี BTS บางหว้า(B1)

จากการทดลองนั่งใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 30 นาที ส่วนขากลับใช้เวลาประมาณ 20 นาที เส้นทางดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อได้ทั้งระบบ ล้อ ราง และเรือ ให้บริการตั้งแต่เวลา 05.00-21.00 น. โดยในเวลาเร่งด่วนระหว่างเวลา 05.00-09.00 น. และเวลา 15.00-19.00 น. รถจะออกทุก 15 นาที ส่วนในช่วงเวลาปกติ เวลา 09.00-15.00 น. และเวลา 19.00-21.00 น. รถจะออกทุก 30 นาที

ภาพจากอีจัน
สำหรับรถ Shuttle Bus ที่ให้บริการเป็นรถบัสปรับอากาศ มีที่นั่งจำนวน 36 ที่ มีที่ยืนพร้อมด้วยราวจับจำนวน 20 ที่ และมีแอลกอฮอล์เจลสำหรับล้างมือไว้บริการ ใช้ก๊าซธรรมชาติ NGV เป็นเชื้อเพลิง
ภาพจากอีจัน
ในอนาคต กทม. มีแผนที่จะเปลี่ยนเป็นระบบไฟฟ้าเพื่อลดปัญหามลพิษด้านอากาศ ลดภาวะโลกร้อน ลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 และมลพิษด้านเสียง ทั้งนี้เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนทุกคน

พร้อมกันนี้ได้มอบหมายสำนักการจราจรและขนส่งจัดทำป้ายแสดงบอกเวลารถเข้าจอดจุดรับ-ส่งที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับทราบเวลาที่รถจะเข้าจอดในแต่ละจุด และมอบหมายสำนักงานเขตพื้นที่ดำเนินการประชาสัมพันธ์การให้บริการรถ shuttle bus ให้แก่ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง