ผู้พิทักษ์ป่า กับการปกป้องต้นไม้ของประเทศไทย

ชัยวัฒน์ นำทีม จนท.อช.เขาพระวิหาร ทหาร ลงพื้นที่ป่าถูกบุกรุกใน อช.เขาพระวิหาร พร้อมร่วมมือกัมพูชา เข้มงวด ปชช. ห้ามข้ามเขตมาตัดไม้ บุกรุกพื้นที่ป่า

(29 มี.ค. 63) นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สบอ.9(อุบลราชธานี) เผยกรณีดำเนินการกับกลุ่มลักลอบตัดไม้ ที่เป็นชาวกัมพูชาในพื้นที่ประเทศไทยว่า รู้สึกภูมิใจ มีเกียรติ์ และมีศักดิ์ศรี ที่ได้ทำหน้าที่ “ ผู้พิทักษ์ป่า”

โดย นายชัยวัฒน์ เผยว่า เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 นายปิยะพงศ์ นามโส หน.อช.เขาพระวิหาร รายงานทางลับว่า จนท.ชุด SMART patrol ได้ลาดตระเวน บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ป่าหนองใหญ่ บ้านด่าน ต.ภูผาหมอก อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ พบ บุคคลไม่ทราบสัญชาติ รวมแล้วจำนวนมากกว่า 10 คน โค่นล้มต้นไม้เล็ก-ใหญ่ จำนวนนับร้อยๆ ต้น ซึ่งกินพื้นที่จำนวนหลายสิบไร่ จึงได้ถ่ายรูปประกอบรายงานให้ตนซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาทราบ

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

เมื่อได้รับรายงานและตรวจสอบข้อมูลในเชิงลึก พบว่า บุคคลที่ไม่ทราบสัญชาติ นั้นเป็นชาวกัมพูชา เข้ามาโค่นล้มต้นไม้ใหญ่ รุกล้ำเข้ามาในดินแดนฝั่งไทย และที่สำคัญเป็นพื้นที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ซึ่งบริเวณนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับบริเวณ 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่ไทยกับกัมพูชามีปัญหาระหว่างกัน จึงได้มีข้อสรุปร่วมกันว่า พื้นที่ที่เกิดเหตุนี้ น่าจะเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านเข้ามาบุกรุก ยึดถือครอบครองที่ดิน และมีการทำไม้ออกไปด้วย จึงได้นัดหมายเพื่อลงตรวจสอบพื้นที่ ร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงชายแดน ในวันที่ 29 มีนาคม 2563 เวลา 09.00 น. ณ บริเวณที่เกิดเหตุ

ซึ่งขณะนี้ ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน 63 เป็นช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยทางราชการ หน่วยงานฝ่ายปกครอง หรือแม้แต่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีประกาศสั่งการให้อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่ที่มีการเปิดบริการการท่องเที่ยวทั่วประเทศปิดการท่องเที่ยว เพื่อลดและยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อไวรัส COVID -19 รัฐบาลจึงขอความร่วมมือประชาชนทั้งประเทศหยุดการเคลื่อนไหว ถ้าหยุดเคลื่อนไหว ก็เท่ากับหยุดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้ แต่ต้นไม้เหล่านี้ ไม่สามารถเดินหนี วิ่งหนี หรือกระโจนหนี กลุ่มคนที่ใช้เลื่อยโซ่ยนต์ เข้ามาเลื่อย มาโค่นพวกเขาได้ แม้จะอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ ตน เพื่อนๆ และพี่น้อง ชาวพิทักษ์ป่า จึงต้องตัดสินใจเข้าพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ให้มีการบุกรุกหรือรุกล้ำพื้นที่ป่าไม้ หรือพื้นที่ประเทศไปมากกว่านี้ โดยมีการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัสตามแนวนโยบาย

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

เมื่อเวลา 09.00 น. พ.อ.บุญเสริม บุญบำรุง รอง ผบ.ฉก.1, ร.อ.ธีรพงษ์ พิมพ์นนท์ หัวหน้าฝ่ายการข่าว ฉก.1 และ พ.อ.สุรกิจ กาฬเนตร ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 23 พร้อมกำลังพล มาถึง ณ จุดนัดพบ พร้อมวางแผนการเข้าพื้นที่ การเจรจาต่อรองกับหน่วยทหารของประเทศเพื่อนบ้าน โดยตกลงกันว่า

1.เราจะขอให้หยุดการตัดไม้บริเวณดังกล่าว เนื่องจากอยู่ในข้อตกลงซึ่งมีเงื่อนไขว่า ตามแนวชายแดนที่ยังไม่ได้มีการปักปันเขตแดน ขอให้ทั้งสองประเทศหยุดการทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า

2.เราจะดูเหตุการณ์ในขณะนั้นว่า ทางหน่วยงานประเทศเพื่อนบ้านส่งนายทหารหรือหน่วยใดเข้ามาร่วมสังเกตการณ์ แล้วค่อยตัดสินใจกันอีกที

เมื่อได้เวลาพวกเราผู้พิทักษ์ป่ารวมถึงหน่วยงานทหารพรานที่ 23 พร้อมกำลังพล ออกเดินทางด้วยรถยนต์ โดยตลอดเส้นทางมีหน่วยงานทั้งทหารและจนท.อช. ได้วางกำลังคุ้มกันตลอดแนวป่า ไม่ถึง 10 นาที ก็ถึงจุดหมายพื้นที่บริเวณนี้ ชาวบ้านทั่วไปทั้งฝั่งไทยและกัมพูชา เรียกว่า “ป่าหนองใหญ่” เมื่อลงจากรถ ได้เดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 500 เมตร ระหว่างทางเดิน ก็พบกับสภาพป่าที่ถูกทำลาย ต้นไม้ถูกตัดโค่นจำนวนมาก กินบริเวณพื้นที่ป่าของไทยจำนวนหลายสิบไร่ ต้นไม้ในบริเวณนั้น มีทั้งต้นเล็ก ต้นใหญ่ ถูกตัดโค่นอย่างไม่สนใจว่าต้นไม้เป็นของใคร ใครเป็นเจ้าของและ ไม่สนว่าต้นไม้ที่ถูกโค่นจะมีความสำคัญหรือจะทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพ ความสมบูรณ์ชีวะมลทลหายไปสักแค่ไหน และที่แย่ไปกว่านั้น คือ เมื่อโค่นแล้วเผา เผาจนป่าเดิมถูกไฟป่าลุกลามไหม้ไปทั่วพื้นที่

ระหว่างที่เดินสำรวจกับหน่วยงานทหาร ได้เห็นเตาเผาถ่าน ภาษาภาคกลางเรียก เตาหมุ่น จำนวนที่มองเห็นและนับได้ทั้งหมด ประมาณ 10 เตา เป็นเตาเผาถ่านขนาดกลาง ซึ่งบริเวณที่เรายืนนั้น จนท.ได้แสดงภาพผังแผนที่ เรายืนอยู่ในเขตประเทศเพื่อนบ้านคือประเทศกัมพูชา และเตาเผาถ่าน ก็อยู่ในประเทศกัมพูชาเช่นกัน แต่ไม้ที่ถูกโค่นล้มจำนวนมากนั้น อยู่ในฝั่งประเทศไทย และอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เมื่อมองรอบๆ จะเห็นได้ว่าฝั่งกัมพูชาไม่มีป่า ไม่มีต้นไม้ เหลือเพียงแต่ตอไม้จำนวนมาก เมื่อกวาดสายตาไปทางทิศใต้ เห็นกลุ่มคนเดินเรียงหน้ากระจายเป็นแถวหน้ากระดาน มีสลับฟันปลาบ้าง พบว่าบุคคลที่เดินเข้ามาแต่งกายคล้ายทหารกัมพูชา ซึ่งทุกคนมีอาวุธประจำกายเป็นปืนอาก้าทุกคน

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

เมื่อทั้งสองฝ่ายได้พบกัน และได้ส่งสัญญาณทักทายกัน มีนายทหารบางนาย รู้จักกับทหารกัมพูชาด้วย และทั้งสองฝ่ายต่างกระจายกำลังคุ้มกันกำลังของตน โดยได้พบกับผู้แทนทหารฝ่ายกัมพูชา คือ พ.ต.ก็อก ก๊อกโซวี นายทหารประจำจังหวัดพระวิหาร และ ร.ท.เจียง ฮอน ตำรวจตระเวนชายแดน กองร้อย 793 พร้อมกำลังพลทหารกว่า 40 นาย ต่อมาได้มีการสนทนาผ่านล่าม สรุปใจความสำคัญ เป็นข้อๆ ดังนี้

1.ทั้งสองแนะนำตัวต่อกัน และได้ส่งสัญญาณห้ามจับมือ เป็นคำพูดที่ว่า COVID -19

2.ทหารและตชด. ของกัมพูชา ทราบและรู้ว่ามีชาวบ้านของตนเข้าไปโค่นต้นไม้ตรงจุดนั้น โดยมีการชี้ไปยังจุดที่มีไม้ล้มจำนวนมาก

3.ทหารกัมพูชาทราบและรับทราบว่าจุดที่เจรจานั้นคือ เส้นแนวเขตพรมแดนระหว่างไทย-กัมพูชา

4.พื้นที่ที่ถูกบุกรุกใหม่และมีไม้ถูกโค่นใหม่ๆ นั้นคือ พื้นที่ประเทศไทย

5.เราเสนอว่าขอเจรจาประชุมหารือกับผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจในการบริหารจัดการพื้นที่ที่ถูกบุกรุก ตัดโค่นล้มจำนวนมาก จะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยได้นัดคุยกันวันที่ 30 มีนาคม 63 ณ ศูนย์ประสานงานชายแดนไทย – กัมพูชา (กอไผ่ติดด้านทิศตะวันตกของกองร้อย ทพ. 2303) เวลา 13.00 น.

6.ขอให้ทางฝ่ายกัมพูชา ให้มีการรื้อ ทำลายเตาเผาถ่านหลังการเจรจา เพื่อแสดงความจริงใจ เบื้องต้นในขณะที่เจรจานั้น ทหารฝ่ายกัมพูชาเห็นด้วย และได้บอกเพิ่มเติมอีกว่า วันก่อนได้เข้ามาพบชาวกัมพูชากำลังไปตัดไม้ในพื้นที่ดังกล่าว จนท.ทหารกัมพูชาได้ทำโทษ ตักเตือน กับกลุ่มคนดังกล่าวไปแล้ว และยังบอกอีกว่า ถ้าเข้าไปอีกจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

7.เบื้องต้นฝั่งเราได้เสนอขอปลูกป่าร่วมกันสองประเทศ “โครงการปลูกป่าอาเซียน” เพื่อแสดงความจริงจัง จริงใจต่อกัน

8.จากข้อ 1-7 ทหารกัมพูชา บอกต่อว่า ขอเป็นการเจรจาต่อรอง ตกลงกันในวันที่ 30 มีนาคม 63 เพราะจะมีผู้นำของกัมพูชาเข้าร่วมเจรจาพูดคุยตกลงด้วย

ขณะที่เจรจา การเคลื่อนไหวกำลังเสริมทั้งสองฝ่าย มีการเสริมและเดินหาจุดข่ม หรือ จุดได้เปรียบ ส่วนทหารไทยมีกำลังพลพร้อมอาวุธเต็มกำลังเช่นกัน แต่สถานการณ์ไม่มีเหตุผิดปกติ เป็นไปด้วยความราบรื่น ฉันท์มิตรภาพ ความเข้าใจ ซึ่งกันและกัน

บริเวณจุดนี้ มีทั้งภัยธรรมชาติ ฝนตกน้ำป่าไหลหลาก พื้นที่ลื่นไหล กับระเบิด ขบวนการทำไม้ และล่าสัตว์ และมีความพยายามของชาวบ้านกัมพูชาจะเข้ามายึดพื้นที่ทำกินตลอดแนวเขตพรมแดน โดยเฉพาะบริเวณจุดนี้ ชาวบ้านกัมพูชาจะเข้ามายึดแหล่งน้ำ แอ่งน้ำกลางป่าซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร มายาวนานคือ “หนองใหญ่” จุดนี้ ชาวบ้านอ้างว่า เคยทำนามาก่อน

ทั้งนี้ เรื่อง การเจรจาข้อตกลงระหว่างทหารไทย-กัมพูชา กรณีมีการบุกรุกตัดไม้ในพื้นที่ อช. เขาพระวิหาร ในวันที่ 30 มี.ค. 63 โดยมีผู้แทนชาวกัมพูชา เข้าร่วมเจรจา ดังนี้
1. พล.ต.จัน ดารุน ฝ่ายข่าวสำนักงานนายกรัฐมนตรี
2. พ.อ.เทือม เทียน รอง ผบ. ทปจ.เขาพระวิหาร
3. พ.อ.อ๊ก รา หัวหน้าหน่วยประสานงานชายแดนกัมพูชา-ไทย ประจำพื้นที่ซำแต
4. พ.ต.อ.เจีย ลาย ผบ.ตชด.793
5. พ.ท.พัน ซาแมน รอง ทปอ.จอมกระสาน
พร้อมกำลังพลที่สามารถมองเห็นกว่า 30 นาย และอาจมีที่หลบซ่อนอยู่เพื่อคุ้มกัน ด้วยผู้แทนที่เดินทางมาเป็นผู้บริหารระดับสูง

การเจรจาดำเนินไปอย่างราบรื่น ผ่านล่ามของทั้ง 2 ประเทศ ได้ข้อสรุป ดังนี้
1.ไทยขอให้ไม่มีการตัดไม้บริเวณชายแดนที่ยังไม่ได้มีการปักปันเขตแดน และไม่ให้มีการบุกรุกตัดไม้ในพื้นที่ประเทศไทยอีก ซึ่งผู้แทนชาวกัมพูชาก็ได้รับปากว่าจะเข้มงวดห้ามประชาชนของตนไม่ให้เข้าไปตัดไม้ในพื้นที่ดังกล่าวอีก ทั้งนี้ กัมพูชาได้ทุบเตาเผาถ่าน ในบริเวณใกล้เขตชายแดนฝั่งกัมพูชาของตนเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
2. ไทยขอความร่วมมือให้เคลื่อนย้ายที่พักอาศัยที่สร้างอยู่ใกล้เขตชายแดน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวอีก
3. ไทยเสนอให้มีการจัดโครงการปลูกป่าอาเซียน ในบริเวณพื้นที่ ที่มีการตัดไม้รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทย และในพื้นที่ของประเทศกัมพูชา ในช่วงประมาณ 27-29 พ.ค. 63
4. ไทยเสนออยากให้มีการลาดตระเวรร่วมกัน โดยเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม และเป็นที่ยอมรับกันทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อป้องกันการรุกล้ำของทั้ง 2 ประเทศเองด้วย

ซึ่งในข้อ 2-4 ผู้แทนกัมพูชา เห็นด้วย แต่ทั้งนี้จะขอนำไปนำเรียนผู้บังคับบัญชาเพิ่มเติม

“ วันนี้เป็นวันหนึ่งที่ได้สวมชุดลายพรางป่าไม้ ชุดผู้พิทักษ์ป่า แล้วได้ทำหน้าที่ปกป้องแผ่นดิน ปกป้องป่าไม้ ปกป้องที่อยู่สัตว์ป่า และได้ทำหน้าที่แม้ถึงมันจะเสี่ยง แต่มันก็คุ้ม คุ้มค่าที่จะเสี่ยง ผู้พิทักษ์ป่าไม่เคยทำร้ายใคร ผู้พิทักษ์ป่าทุกนายทำหน้าที่เพื่อรักษาสมดุลระบบนิเวศน์ วันนี้พวกเราได้ทำแล้ว” นายชัยวัฒน์ กล่าว

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน