ก.ดีอีเอส ร่วมกับ หัวเว่ย มอบ AI ให้ รพ.รามาฯ สู้โควิด-19 เพิ่มประสิทธิภาพตรวจหาไวรัส

กระทรวงดีอีเอส ร่วมกับ หัวเว่ย มอบนวัตกรรม AI ช่วยแพทย์ รพ.รามาฯ สู้โควิด-19 เพิ่มประสิทธิภาพตรวจไวรัส รู้ผลหลักวินาที

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ประสานความร่วมมือกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี ประเทศไทย (จำกัด) นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ส่งมอบโซลูชันผู้ช่วย AI วิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์เชิงปริมาณสำหรับรายงานผลตรวจภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) โควิด-19 ในหลักวินาที ให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้รับมอบ

ภาพจากอีจัน

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ทางกระทรวงดีอีเอส ให้ความสำคัญกับประชาชนและสถานการณ์แพร่กระจายของโควิด-19 มากที่สุด

จึงได้ประสานความร่วมมือกับหัวเว่ย ส่งมอบพร้อมติดตั้งโซลูชัน AI สำหรับการตรวจโควิด-19 ให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นที่เรียบร้อย

ภาพจากอีจัน

ซึ่งเทคโนโลยี AI จาก HUAWEI CLOUD จะทำหน้าที่วิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์เชิงปริมาณจากการตรวจวินิจฉัยทางเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ปอดของผู้ป่วย เพื่อวิเคราะห์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Novel coronavirus, SARS หรือ COV) และผู้ป่วยโควิด-19 (COVID-19) โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและโซลูชันปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence (AI) แพลตฟอร์มที่ได้รับการเทรนจากข้อมูลของผู้ป่วยจริงในประเทศจีน มีประมาณ 20,000 เคส โดยจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่ยืนยันโรคติดเชื้อไวรัส โคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19(COVID-19) มากกว่า 4,000 เคส ซึ่งเป็นการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างแม่นยำ รวดเร็ว และ สามารถวิเคราะห์ผลได้ภายในเวลาเพียง 25 วินาทีต่อ 1 เคส ซึ่งถือว่ามีความแม่นยำในการวินิจฉัยสูงถึง 96% นับว่ามีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง

ภาพจากอีจัน

สำหรับนวัตกรรมนี้จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับความปลอดภัย ลดปริมาณการตรวจสารคัดหลั่ง ลดจำนวนชุดตรวจโควิด ช่วยลดการใช้ PPE และแบ่งเบาภาระให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงช่วยให้บุคลากรหลายๆ ท่านสามารถกระจายตัวไปดูแลเคสผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือสถานการณ์ระบาดในขณะนี้ได้ดียิ่งขึ้น

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
การทำงานเพิ่มเติมของโซลูชันดังกล่าว HUAWEI CLOUD จะใช้คอมพิวเตอร์วิทัศน์และการวิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์เพื่อแยกแยะระหว่างจุดขาวพร่าในปอด (ground glass opacities – GGOs) จำนวนมาก กับการรวมตัวกันของเนื้อปอด (consolidation) แล้ววิเคราะห์ผลเชิงปริมาณจากผลการตรวจ CT ปอดผู้ป่วย กระบวนการดังกล่าวเป็นการรวมข้อมูลทางอายุรกรรมและผลแล็บเพื่อช่วยให้แพทย์ระบุได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้นว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ในระยะเริ่มต้น ระยะลุกลาม หรือระยะรุนแรง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในตอนท้าย