บิ๊กแป๊ะ สั่งตรวจเข้ม ปราบมิจฉาชีพ ฉวยโอกาสซ้ำเติมประชาชน

ผบ.ตร. สั่ง เจ้าหน้าที่ตรวจเข้มและปราบมิจฉาชีพ ฉวยโอกาสซ้ำเติมประชาชน ในช่วงเคอร์ฟิว และโควิด-19

วันนี้ (3 เม.ย. 63) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง โฆษก ตร. กล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 โดยตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 63 ถึงวันที่ 30 เม.ย. 63 ได้ออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. การบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 1) ซึ่งกำหนดข้อห้ามแก่ประชาชน และข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการ เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ได้โดยเร็ว และข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 2) เพื่อให้มีมาตรการต่างๆ เพิ่มขึ้นตามความจำเป็น โดยห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 – 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.63 เป็นตันไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

ภาพจากอีจัน

โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มีหนังสือกำชับการปฏิบัติในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้ผู้บังคับบัญชาระดับ บช. และ บก. เรียกประชุมหน่วยตำรวจในพื้นที่ เช่น บช.ก.(ทล. , ป.) , ทท. , ส. , ปส. และ ตชด. เพื่อร่วมวางแผนจัดกำลังพล อุปกรณ์เครื่องมือ ออกตรวจ ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครอง และภาคีเครือข่าย โดยให้หมั่นออกตรวจตราการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ และหน่วยร่วมปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อให้คำแนะนำและให้กำลังใจแก่ตำรวจ และให้จัดเตรียมแผนป้องกันปราบปรามอาชญากรรม โดยสายตรวจรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ฝ่ายสืบสวน ฝ่ายจราจร จะออกตรวจพื้นที่รับผิดชอบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น สร้างการรับรู้โดยให้คำแนะนำ เรื่องสุขอนามัยตามที่รัฐบาลได้วางแนวทางไว้ พร้อมทั้งใช้เครื่องขยายเสียงให้ประชาชนปฏิบัติตัวตามข้อกำหนด และให้ความรู้คำแนะนำแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ให้ใช้หน้ากากอนามัยตามที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาล Face Shield ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ และรักษาระยะห่างไม่น้อยกว่า 1 เมตร (Social Distancing) โดยจะนำคลิปวิดีโอที่ ตร. จัดทำรูปแบบการปฏิบัติงานมาปรับใช้ ตามแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และไม่ฝ่าฝืนข้อกำหนดประกาศหรือคำสั่ง ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างใกล้ชิด

ภาพจากอีจัน

ทั้งนี้ ยังมีการเพิ่มความเข้มในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนด ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548, ความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 , พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 และ กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการบิดเบือนข้อมูล การหลอกลวง การกักตุนสินค้า การขายสินค้าเกินราคา หรือสินค้าไม่ได้มาตรฐาน เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมประชาชนโดยให้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและหน่วยร่วมปฏิบัติอย่างใกล้ชิด