ผู้ว่าฯ ภูเก็ต สั่งปิด ต.กะทู้ ชี้ เป็นพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19

ผู้ว่าฯ ภูเก็ต สั่งปิด ต.กะทู้ จ.ภูเก็ต ในห้ามออก นอกห้ามเข้า ชี้ เป็นพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 มีผล 7 เมษายน 2563

หนังสือคำสั่งจากผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต สั่งปิด ต.กะทู้ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2563

ระบุว่า “ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตออกคำสั่งปิด ต.กะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส โควิด-19 เพื่อป้องกันมิให้โรคนั้นแพร่ระบาดโดยทางตรงหรือทางอ้อมไปยังผู้อื่น จึงห้ามประชาชนเข้าไปหรือออกจากพื้นที่ดังกล่าว
เว้นแต่ ยานพาหนะ สำหรับการขนส่งสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค แก๊สหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องมือแพทย์ ยานพาหนะกู้ชีพ กู้ภัยรถพยาบาล รถฉุกเฉินทางการแพทย์ รถที่ใช้สำหรับภารกิจของทางราชการ รถขนส่งพัสดุและสิ่งพิมพ์

ทั้งนี้ผู้ได้รับอนุญาตยกเว้นหรือผ่อนผันต้องปฏิบัติตามคำสั่งของ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อโดยเคร่งครัด

ภาพจากอีจัน

นอกจากนี้ยังมีคำสั่งอื่นๆ สำหรับ มาตรการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ของจังหวัด คือ คำสั่งการกำหนดจุดตรวจคัดกรองโควิด-19

คำสั่งให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ พิจารณาตรวจคัดกรองบุคคลที่ผ่านจุดตรวจคัดกรอง ตามข้อที่สอง เพื่อป้องกันและควบคุมโรค ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

คำสั่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับอำเภอกะทู้ และเทศบาลเมืองกะทู้จัดบุคลากรเข้าไปตรวจวัดไข้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ตำบลกะทู้ ทุกคน หากพบผู้ใดที่มีอาการที่เข้าข่ายต้องเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะต้องถูกส่งไปแยกกักกัน เพื่อควบคุมและสังเกตอาการยังสถานที่ที่จังหวัดจัดให้

ภาพจากอีจัน

คำสั่งให้เทศบาลเมืองกะทู้ทำความสะอาดที่สาธารณะ ถนน บ้านพักอาศัย ร้านค้า ในเขตพื้นที่ตำบลกะทู้ โดยการฉีดฆ่าเชื้อทั้งหมดทุกหลังคาเรือน

และตามที่จังหวัดได้มีการสั่งปิดโรงแรมแล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 หากโรงแรมใดในพื้นที่ตำบลกะทู้ จำเป็นจะต้องให้พนักงานเข้าไปปฏิบัติงานด้านการบัญชี การซ่อมบำรุงหรืออื่นๆ ให้โรงแรมจัดหาที่พักภายในโรงแรมให้พนักงานจนกว่าจะปฏิบัติหน้าที่แล้วเสร็จ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายพนักงาน ซึ่งอาจจะเป็นพาหะในการกระจายของโรค

และขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่มิให้ออกนอกเคหสถานหรือบริเวณที่พำนักของตนเพื่อป้องกันตนเองจากการรับเชื้อและอาจเป็นพาหะในการกระจายเชื้อโควิด-19 ไปยังบุคคลอื่น

หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้อาจเป็นความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจได้รับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตามข้อกำหนดในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 (ฉบับที่ 1)

คำสั่งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง”