รพร.สระแก้ว เปิดห้องแล็บตรวจโควิด-19 ที่แรกในภาคตะวันออก รู้ผลใน 3 ชม.

โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว เปิดห้องแล็บตรวจโควิด-19 เป็นแห่งแรกในภาคตะวันออก รู้ผลใน 3 ชม.

วันนี้ (7เม.ย. 63) เพจ “สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว” โพสต์ภาพการเปิดห้องแล็บตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 รพร.สระแก้ว ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในภาคตะวันออก ที่เปิดห้องแล็บตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19

ภาพจากอีจัน
นพ.สุรสิทธิ์ จิตรพิทักษ์เลิศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว เปิดเผยว่า ในฐานะที่เป็นโรงพยาบาลหน้าด่าน ที่นอกจากจะให้บริการผู้ป่วยในจังหวัดสระแก้วแล้ว ยังต้องดูแลผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย จึงได้เปิดห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ขึ้น ซึ่งใช้เวลาเตรียมการมาเป็นเดือน โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เดินทางมาดูมาตรฐานของเครื่องมือ ห้องตรวจ และบุคลากร ก่อนที่จะให้เปิดแล็บตรวจหาเชื้อนี้ได้ โดยเมื่อปี 2545 ได้เคยลงนามความร่วมมือด้านสาธารณสุข โครงการโรคติดเชื้ออุบัติใหม่นานาชาติ ระหว่างไทยกับอเมริกาฯ ทำให้มีประสบการณ์ในการดำเนินการพัฒนา เฝ้าระวัง สอบสวนโรค โดยเฉพาะโรคติดต่อใหม่ๆ ซึ่งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ในการตรวจหาเชื้อโรคปอดบวม จึงได้นำมาใช้เครื่องมือชุดนี้มาใช้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของจังหวัดสระแก้ว โดยใช้น้ำยาอีกชนิดหนึ่งในการตรวจ สามารถตรวจได้วันละ 94 ราย ใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมงเศษ
ภาพจากอีจัน

จากปัจจุบันที่ต้องส่งไปตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 จังหวัดชลบุรี และต้องใช้เวลารอผลเกือบ 3 วัน เนื่องจากจังหวัดภาคตะวันออก ต้องส่งตรวจที่นี่ที่เดียว ทำให้ผู้อยู่ในข่ายเฝ้าระวังโรค ต้องนอนรอที่โรงพยาบาล เสียเวลา สิ้นเปลืองทรัพยากร

โดยการที่เราสามารถตรวจหาเชื้อเองได้ ถ้าพบเชื้อก็จะรีบแจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อสั่งการไปยังพื้นที่ให้ควบคุมโรค สอบสวนหาผู้สัมผัสได้เร็ว แล้วเก็บสารคัดหลั่งส่งตรวจ ทำให้สามารถควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ แต่ถ้าไม่พบเชื้อก็ให้กลับบ้านไปกักตัวเฝ้าระวังอาการอีกระยะหนึ่ง

ภาพจากอีจัน
ทั้งนี้ นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า จังหวัดสระแก้วได้พัฒนาระบบตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งเป็นจังหวัดแรกของภาคตะวันออก ช่วยให้สามารถตรวจคัดกรองคัดกรองผู้ป่วยและผู้อยู่ในข่ายเฝ้าระวังโรคได้รวดเร็วขึ้น จะทำให้อัตราการแพร่เชื้อลดลงอย่างมาก ทำให้สามารถบริหารจัดการเตียงเพื่อรับผู้ป่วยไว้ให้การรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น