กกร. คาดพิษโควิดกระทบเศรษฐกิจไทย หลักล้านล้านบาท คาดส่งออกติดลบ 5-10%

กกร. ชี้ไทยเผชิญวิกฤต #โควิด-19 คาดกระทบเศรษฐกิจ หลักล้านล้านบาท ส่งออกติดลบ 5-10% เงินเฟ้อติดลบ 1.5%

8 เมษายน 2563 มีรายงานว่า นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ (กกร.) ได้มีการประชุมหารือผลกระทบเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยนายสุพันธุ์ เผยว่า จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบภาคเศรษฐกิจหดตัวลงทุกรายการ ทั้งการท่องเที่ยว การส่งออก การผลิตและการลงทุน มีเพียงการบริโภคสินค้าไม่คงทนที่ยังขยายตัว และประเมินว่าจะแย่ลงอย่างต่อเนื่อง

ภาพจากอีจัน

ทั้งนี้ กกร. จะได้มีการประเมินเศรษฐกิจไทยอีกครั้งในเดือนหน้า แต่ในส่วนการส่งออกทั้งปี 2563 ของไทย คาดว่าโอกาส -5% ถึง -10% ขณะที่เงินเฟ้อก็เช่นเดียวกัน จากการลดราคาของน้ำมัน จากการบริโภคที่เบาบางลง การจับจ่ายใช้สอยที่เบาบางลง ผลกระทบของเศรษฐกิจทำให้เงินเฟ้อ มีโอกาสติดลบ 1.5%

แม้ภาครัฐจะมีมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบแต่โดยรวมแล้วก็อาจจะไม่สามารถทดแทนผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจและประชาชน จากการขาดรายได้และการหยุดหรือปิดกิจการ ซึ่งจะเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยมีมูลค่าสูงถึงหลักล้านล้านบาท และกระทบการจ้างงานหลายล้านคน

นายสุพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ทาง กกร. ยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมให้กับภาครัฐ ในแต่ละมาตรการ คือ เริ่มที่ด้านผู้ประกอบการ ขอให้ภาครัฐพิจารณาออกคำสั่งปิดกิจการของรัฐ ให้กับผู้ประกอบการโรงแรมหรืองานบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าข่ายกิจการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการของรัฐ และพนักงานจะได้เงินชดเชยตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด รวมถึงเสนอให้ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ การอัดฉีดวงเงินใหม่ให้กับภาคธุรกิจ ขอให้ บสย. ค้ำประกันวงเงินกู้เพิ่มจาก 40% เป็น 80% ในในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% รวมถึงให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายในการป้องกันการระบาดของโควิด-19 โดยรัฐต้องจัดสรรงบประมาณในการจ้างงาน ซื้อสินค้า จากผู้ผลิตในประเทศในราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องใช้ในช่วงโควิด-19

ภาพจากอีจัน
ขณะที่ มาตรการด้านแรงงานนั้น ทาง กกร. ขอให้ภาครัฐพิจารณามาตรการเพิ่มเติมให้แรงงาน ลูกจ้าง ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ได้รับการชดเชยรายได้ ควรมีมาตรการชดเชยช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคมเป็นการเยียวยา โดยจ่ายเงิน 50% ของค่าจ้าง รวมถึงให้มีการจ้างงานรายชั่วโมง โดยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 325 บาทต่อวัน คิดเป็น ชั่วโมงละ 40-41 บาท เปรียบเทียบ 325 บาทหารด้วย 8 ชั่วโมง ต่อการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง และ ไม่เกิน 8 ชั่วโมง/วัน เสนอให้ลดอัตราเงินสมทบของนายจ้าง จาก 4% เหลือ 1% ให้เท่ากับผู้ประกันตน ตามมาตรา 33

รวมถึงมีการเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาทโดยยังได้รับ เงินเดือน 75% และไม่ตกงาน รวมทั้งช่วยเหลือบริษัทที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ที่มีโอกาสปลดแรงงานออก สามารถที่จะจ่ายเงินเดือนในจำนวนเงิน 75% ของเงินเดือนที่ได้รับปกติ โดยภาครัฐสนับสนุนค่าจ้างเงินเดือน 50% (จากประกันสังคม) และบริษัทเอกชนจ่ายอีก 25% ให้พนักงานและแรงงานที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งบริษัทสามารถนำค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนค่าจ้างแรงงานมาใช้หักภาษีได้ 3 เท่าในช่วงระหว่าง โควิด-19 ระบาด

ส่วนมาตรการด้านสุดท้าย คือด้านโลจิสติกส์ นายสุพันธุ์ เผยว่า ปัจจุบันแต่ละจังหวัดมีการประกาศมาตรการไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดปัญหาในการขนส่ง กกร. จึงขอเสนอให้ ศบค. ประกาศมาตรการจากส่วนกลางเพื่อปฎิบัติเหมือนกันทั่วประเทศ โดยขอให้ กกร. มีส่วนร่วมในมาตรการนั้นด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องโลจิสติกส์