จีนทำวิจัย หายาต้านไวรัสโควิด พบเฟอเรทอาจถูกใช้ทดลองวัคซีน

ผลวิจัยสถาบันวิจัยสัตวแพทย์ฮาร์บิน ชี้ แมวเสี่ยงติดไวรัส-เฟอเรทอาจถูกใช้ทดลองวัคซีนได้ดีสุด

(9 เม.ย.63) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ที่กรุงวอชิงตัน ประเทศ สหรัฐอเมริกา ผลการศึกษาใหม่ที่เผยแพร่ในนิตยสารไซแอนซ์ (Science) ชี้ให้เห็นว่า เฟอเรท สามารถใช้เป็นสัตว์ทดลองสำหรับการประเมินผลของยาต้านไวรัสและวัคซีนต้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ได้

ภาพจากอีจัน

ผลการศึกษาระบุว่า ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 สามารถเพิ่มจำนวนในสุนัข, หมู, ไก่ และเป็ด ได้ไม่ดี เท่าใน เฟอเรทและแมว

เป็นที่เชื่อกันว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ มีต้นกำเนิดมาจากค้างคาว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัดว่าอะไรคือ ‘สัตว์ตัวกลาง’ (intermediate animal) ที่เป็นพาหะนำเชื้อไวรัส มาติดต่อสู่คนอีกทอดหนึ่ง

ยังคงเป็นปัญหาอยู่ว่าสัตว์ชนิดใดที่จะสามารถนำมาใช้เป็นตัวทดลองประสิทธิภาพการควบคุมไวรัสในมนุษย์ได้อย่างแม่นยำที่สุด เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ คณะนักวิจัยนำโดย เฉินฮวาหลาน ศาสตราจารย์ของสถาบันวิจัยสัตวแพทย์ฮาร์บิน สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรของจีน จึงได้ประเมินความไวต่อไวรัสของสัตว์ทดลองต่างๆ รวมถึงสัตว์เลี้ยง

พวกเขาได้ดำเนินการศึกษาใน เฟอเรท, สุนัข, แมว, หมู, ไก่และเป็ด โดยการแยกไวรัสและนำไวรัสไปใส่ในสัตว์ทดลองผ่านทางจมูกหรือหลอดลม จากนั้นจึงวัดปริมาณเชื้อไวรัสที่เพิ่มขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อต่างๆ ของสัตว์

ผลปรากฏว่า นักวิจัยพบ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สามารถเพิ่มจำนวนได้น้อยในสัตว์ทุกชนิดที่ทดลอง ยกเว้นเฟอเรตและแมว โดยพบว่า ไวรัสสามารถเพิ่มจำนวนในทางเดินหายใจส่วนบนของเฟอเรตและแมวอายุมาก ไม่ใช่ในปอด

สำหรับการศึกษาการแพร่กระจายเชื้อทางอากาศ หรือ ละอองฝอยขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน (airborne) พวกเขาพบว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีประสิทธิภาพต่ำในการแพร่กระจายไปยังเฟอเรท แต่สามารถแพร่กระจายผ่านอากาศไปยังแมวได้ โดยเฉพาะแมวอายุน้อย

การวิจัยครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในแง่ของการติดตามลักษณะการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19
เฉิน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัว พร้อมเผยความจริงที่ว่าไวรัส “เพิ่มจำนวนในทางเดินหายใจส่วนบนของตัวเฟอเรท ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้พวกมันกลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับการประเมินฤทธิ์ของยาต้านไวรัสหรือวัคซีน”

การวิจัยยังค้นพบสิ่งพึงระวังเพิ่มเติมที่ว่า เนื่องจากแมวมีความไวต่อเชื้อไวรัสสูง จึงควรมีการตรวจสอบแมวในพื้นที่ที่เกิดการระบาดของโรคอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้พวกแมวกลายเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสตัวใหม่ เฉินกล่าว