เปิดความหมายวัน “สงกรานต์” ให้ฟังอีกที ทั้ง 4 ภาค มีความแตกต่างกันอย่างไร

วันสงกรานต์ ประเพณีขึ้นปีใหม่ของชาวไทย เกิดขึ้นอย่างไร และทั้ง 4 ภาคของไทย มีชื่อเรียกและกิจกรรมแตกต่างกันอย่างไร จันขอสรุปรวมให้ฟัง

วันนี้ (12 เม.ย. 63) วันมหาสงกรานต์ ก่อนอื่นจันต้องขอสวัสดีปีใหม่ไทยกับทุกๆ ท่าน นะคะ แม้ว่าปีนี้อาจจะไม่เหมือนกับทุกปี เพราะเราต้องสู้กับโรคโควิด-19 ให้หมดไปจากประเทศ แต่ถึงอย่างไรประเพณีนี้ถือเป็นประเพณีสำคัญของไทย จันเลยนำเรื่องราวความสำคัญของวันสงกรานต์มาให้อ่านค่ะ

จันขอย้อนไปเมื่อสมัยโบราณ คนไทยถือวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย ซึ่งจะตรงกับช่วงเดือน พฤศจิกายน หรือ ธันวาคม ให้เป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการเปลี่ยนให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ จนต่อมาในปี พ.ศ. 2483 ได้เปลี่ยนวันปีใหม่ให้เป็นวันสากล คือ วันที่ 1 มกราคม แต่ถึงอย่างไร คนโบราณก็ยังคงคุ้นเคยกับวันปีใหม่ไทยในเดือนเมษายน จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยค่ะ

ภาพจากอีจัน
ส่วน กิจกรรมในวันสงกรานต์ ไม่ได้มีเพียงการสาดน้ำเพียงอย่างเดียวนะคะ ยังมีการทำบุญ สรงน้ำพระ หรือ ผู้ใหญ่ที่เคารพ แต่ว่ากิจกรรมวันสงกรานต์ของแต่ละภาคก็จะแตกต่างกันออกไปค่ะ

โดยสงกรานต์ภาคกลาง
13 เมษายน จะเรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” และถือเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติอีกด้วย ลูกหลานมักจะถือเอาวันนี้เป็นวันรดน้ำดำหัวขอพรก่อนวันขึ้นปีใหม่ค่ะ
14 เมษายน จะเรียกว่า “วันเนา” และถือเป็นวันครอบครัว จะเป็นวันที่ญาติๆ ต่างจะพากันมารวมตัวกินข้าว พบปะกัน
15 เมษายน จะเรียกว่า “วันเถลิงศก” ถือว่าเป็นวันเริ่มจุลศักราชใหม่ วันนี้จะเป็นวันที่ทุกคนเริ่มเฉลิมฉลองปีใหม่ด้วยการสาดน้ำสนุกสนานค่ะ

สงกรานต์ภาคเหนือ หรือวัน “ปี๋ใหม่เมือง”
13 เมษายน จะเรียกว่า “วันสงขารล่อง” ความหมายว่า อายุสิ้นปีหมดไปอีกปี วันนี้ประชาชนต่างจะพากันกวาดบ้านปัดเป่าสิ่งไม่ดี
14 เมษายน จะเรียกว่า “วันเน่า” วันที่ห้ามพูดคำหยาบคาย วันนี้คนภาคเหนือจะกันพูดแต่สิ่งดีๆ งามๆ ให้เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และการเริ่มต้นปีใหม่ค่ะ และเข้าวัดทำบุญก่อกองทราย
15 เมษายน จะเรียกว่า “วันพญาวัน” ถือว่าเป็นวันเริ่มจุลศักราชใหม่ วันนี้ก็จะเหมือนกับทางภาคกลางนะคะ คือการเฉลิมฉลองปีใหม่ สาดน้ำ เข้าวัดทำบุญ เป็นต้น

สงกรานต์ภาคใต้
13 เมษายน จะเรียกว่า “เจ้าเมืองเก่า” เชื่อกันว่าวันที่เทวดารักษาบ้านเมืองจะกลับบนสวรรค์ โดยวันนี้จะมีการลอยเคราะห์ลงแม่น้ำ เอาเรื่องราวร้ายๆ ออกจากชีวิต
14 เมษายน จะเรียกว่า “วันว่าง” วันที่ปราศจากเทวดารักษาเมือง วันนี้จะเป็นวันที่ลูกหลานรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ให้คุ้มครอง
15 เมษายน จะเรียกว่า “วันรับเจ้าเมืองใหม่” วันรับเทวดาองค์ใหม่เพื่อดูแลบ้านเมืองแทนองค์เดิม วันนี้ผู้คนต่างจะพากันใส่เสื้อผ้าตัวใหม่ เชื่อว่าให้เกิดสิ่งใหม่ๆ เริ่มต้นใหม่นั้นเอง

สงกรานต์ภาคอีสาน คนอีสานเรียก บุญเดือน 5 จ้า
13 เมษายน จะเรียกว่า “วันสังขารล่วง” คนอีสานจะนำพระในบ้านที่อยู่บนหิ้งพระมาสรงน้ำเอาฤกษ์เอาชัย
14 เมษายน จะเรียกว่า “วันเนา” หรือวันรวมญาติ ก็จะมีกิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ทานข้าวร่วมกัน
15 เมษายน จะเรียกว่า “วันสังขารขึ้น” วันนี้คนจะเข้าวัดทำบุญขอพรให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับชีวิต

ภาพจากอีจัน

อย่างไรก็ตามในปีนี้ ทางรัฐบาลขอความร่วมมือห้ามประชาชนเล่นน้ำหรือแม้แต่การรดน้ำดำหัว เนื่องจากเชื้อไวรัสจะอยู่ตามตัวได้นานในสภาพความชื้น แต่ให้ทุกท่านทำความดีและสรงน้ำพระแทนได้ค่ะ สวัสดีปีใหม่นะคะ