ม.รังสิต รวมพลังนักศึกษาผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ รพ.ทั่วประเทศ

ม.รังสิต เร่งการช่วยเหลือประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ หลังได้รับผลกระทบโควิด

(13 เม.ย.63 ) ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของไวรัส โควิด-19 มหาวิทยาลัยรังสิต มีความห่วงใยและเพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่นักศึกษา เราจึงได้ปรับเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนมาเป็นรูปแบบออนไลน์ในทุกหลักสูตร เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ภาพจากอีจัน

แม้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์จากวิกฤต โควิด -19 ครั้งนี้จะยุติเมื่อใด มหาวิทยาลัยรังสิต จึงขอเป็นอีกหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่ใช้วิชาชีพของพวกเรา คิด ออกแบบ และลงมือทำ โดยมีวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ ผลิตแอลกอฮอล์เจลล้างมือ น้ำยาสำหรับสเปรย์ฆ่าเชื้อบนผิววัสดุ

วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ ร่วมกับวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ จัดทำตู้หัตถการสำหรับผู้ป่วยให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผลิต Low Cost PPE สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา ผลิต หน้ากากป้องกันเชื้อโรค ช่วยเหลือโรงพยาบาลที่อยู่ชายแดน
คณะบริหารธุรกิจ ก็ได้จัดทำพื้นที่ออนไลน์สำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดค้าขายในช่วงนี้ เป็นต้น

ภาพจากอีจัน

1. วิศวกรรมชีวการแพทย์ เตรียมความพร้อมสำรองเครื่องมือแพทย์ช่วย รพ.ต่างๆ
รองศาสตราจารย์นันทชัย ทองแป้น คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ ได้จัดเตรียมความพร้อมของเครื่องมือแพทย์เพื่อให้การช่วยเหลือโรงพยาบาลจากวิกฤต COVID-19 ได้แก่
– งานเตรียมสำรองเครื่องมือแพทย์สำหรับช่วยโรงพยาบาลในกรณีฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมโดยการสำรองเครื่องมือแพทย์ให้พร้อมใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องช่วยหายใจ สำหรับในกรณีฉุกเฉินที่โรงพยาบาลต่างๆ ขาดแคลน เนื่องจากผู้ป่วยมีปริมาณมาก สามารถให้ยืมใช้งานและให้บริการดูแลบำรุงรักษา และให้คำปรึกษาแนะนำแนวทางในการบริหารจัดการการใช้เครื่องมือแพทย์ที่ถูกต้องกับโรงพยาบาลในเขตจังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลอื่นๆ ทั่วประเทศที่ร้องขอ

2. ทีมวิศวะ ม.รังสิต เซฟนักรบเสื้อกาวน์
รองศาสตราจารย์ ดร.ธรรมศักดิ์ รุจิระยรรยง คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า สำหรับวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประดิษฐ์อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อมอบให้ทั่วถึงโรงพยาบาลต่างๆ โดยการเปิดรับบริจาคจากบุคคลทั่วไป นำงบประมาณมาจัดทำอุปกรณ์ป้องกันความเสี่ยง สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่
1. อุปกรณ์ป้องกันความเสี่ยงจากการเก็บสารคัดหลั่งของผู้ป่วยฯ สำหรับแพทย์ (กล่องอะคริลิค) โดยถอดแบบมาจาก รพ.พระมงกุฎเกล้า และแบบโครงอะลูมิเนียม พัฒนาร่วมกับทีมวิสัญญีแพทย์ รพ.กองทัพเรือ
2. อุปกรณ์ป้องกันความเสี่ยงจุดคัดกรองผู้ป่วย และ
3. Face Shield ที่ปริ้นด้วยเครื่อง 3D Printing ของวิทยาลัย ขณะนี้มี รพ.ติดต่อเข้ามาแล้ว 25 แห่ง จำนวน 60 ชุด และ Face Shield จำนวน 500 อัน

3. คณะเภสัชฯ ส่งต่อความรู้ และผลิตภัณฑ์ช่วยประชาชน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกร ธนภัทร ทรงศักดิ์ คณบดีวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า "สร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้แก่สังคม" คือปณิธานของพวกเรา โดยผลิตดังนี้
1. น้ำยาสำหรับสเปรย์ฆ่าเชื้อบนผิววัสดุ
2. ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรชนิดแคปซูล
3. ตลอดจนการให้ความรู้ด้านสมุนไพรที่ถูกต้องกับประชาชนทางเฟซบุ๊ก สื่อออนไลน์ หนังสือพิมพ์ และการปฏิบัติงานของอาจารย์เภสัชกร ณ สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน (ร้านยา) มหาวิทยาลัยรังสิต

4. คณะกายภาพบำบัดฯ ผลิต หน้ากากป้องกันเชื้อ ส่งต่อ รพ.ชายแดน
ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า คณาจารย์คณะกายภาพบำบัดฯ ได้ร่วมกันทำ หน้ากากป้องกันเชื้อ เพื่อส่งต่อให้แก่โรงพยาบาลชายแดน ได้แก่ โรงพยาบาลอุ้มผาง โรงพยาบาลท่าสองยาง จังหวัดตาก มูลนิธิบ้านครูน้ำ นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า โดยตั้งเป้าจำนวน 1,000 ชิ้น

ภาพจากอีจัน

5. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รวมใจสู้ภัย โควิด-19

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้จัดโครงการ ‘ถาปัตย์รังสิตรวมใจสู้ภัย-โควิด ร่วมกับศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เชิญชวนทุกคนรวมพลังไร้ค่ายไร้สีเพื่อระดมทุน ระดมแรง ระดมความร่วมมือ ในการจัดทำและผลิต ห้องกักกันเชื้อ เพื่อส่งให้ทีมบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ โดยทีมงานจิตอาสาแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบประสานกับทางโรงพยาบาลแต่ละภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการรวบรวมข้อมูลและจัดทำ ห้องกักกันเชื้อ ให้ตรงกับความต้องการของโรงพยาบาลตลอดจนส่งมอบให้ได้เร็วที่สุด โดยล่าสุดทางทีมงานได้ส่งมอบ ห้องกักกันเชื้อ ให้แก่โรงพยาบาลบางส่วนเรียบร้อยแล้ว อาทิ
– โรงพยาบาลสวนปรุง
– โรงพยาบาลศรีเทพ
– โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์
– โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
– โรงพยาบาลวิหารแดง

นอกจากนี้ ม.รังสิต ยังได้ผลิตอุโมงค์สเปรย์พ่นฆ่าเชื้อ เพื่อลดความเสี่ยงของไวรัสโควิด-19 โดยพัฒนาต่อยอดจากตู้อบฆ่าเชื้อ โควิด-19 ของประเทศเวียดนาม ซึ่งอุโมงค์ฆ่าเชื้อดังกล่าวจะฉีดพ่นลงไปบนร่างกายของผู้ที่เดินผ่านอุโมงค์ เพื่อทำความสะอาดประมาณ 15 ถึง 20 วินาทีต่อคน โดยสามารถทำความสะอาดและช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสบนร่างกาย และเสื้อผ้า ให้ถูกชะล้างออกไปได้ประมาณ 90% สำหรับหน่วยงานที่สนใจสามารถติดต่อเพื่อขอข้อมูลแบบสำหรับนำไปผลิตใช้งานได้เอง

ภาพจากอีจัน

ในยามวิกฤตแบบนี้ เป็นเรื่องราวที่ดีที่ได้เห็นหน่วยงานต่างๆได้ออกมาช่วยชาติ ช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จันเชื่อว่าเราจะต้องผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน