ออมสิน พร้อมคืนเงิน 5,000 #เราไม่ทิ้งกัน หลังระบบหักหนี้อัตโนมัติ ภายใน 3 วัน

ธนาคารออมสิน พร้อมโอนเงินเราไม่ทิ้งกัน 5,000 บาท คืนเข้าบัญชีลูกค้าที่ถูกระบบหักหนี้อัตโนมัติ ภายใน 3 วัน




13 เมษายน 2563 นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่มีผู้ลงทะเบียนมาตรการเยียวยาที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน และได้แจ้งเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคารออมสินในการขอรับเงินโอน ซึ่งต่อมาได้รับอนุมัติเงินเยียวยาและมีเงินโอนเข้าบัญชีครั้งแรก 5,000 บาทแล้ว แต่ปรากฏว่าไม่สามารถเบิกถอนเงินจากบัญชีได้ เนื่องจากระบบธนาคารได้มีการนำไปหักชำระหนี้เงินกู้ที่เป็นหนี้ค้างชำระโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นระบบที่สถาบันการเงินทั่วไปใช้ และที่สำคัญระบบไม่สามารถ ทราบได้ว่ามีลูกค้าท่านใดที่ได้ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ตามมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล จึงต้องขออภัยลูกค้ามา ณ โอกาสนี้

ภาพจากอีจัน
จากกรณีดังกล่าว กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารออมสิน ได้มีการหารือร่วมกัน โดยจะมีขั้นตอนการทำงาน ดังนี้ 1. เร่งดำเนินการคืนเงินเข้าบัญชีให้ลูกค้าที่ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาให้สามารถเบิกถอนเงินได้ 2. ลูกค้าที่ถูกหักเงินในบัญชีดังกล่าวแจ้งเรื่องได้ที่เว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th หรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ โทร.1115 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. 2563 เป็นต้นไป ธนาคารจะเร่งโอนเงินคืนเข้าบัญชีเงินฝากภายใน 3 วัน 3. สำหรับการเบิกจ่ายเงินเยียวยาของลูกค้ากลุ่มดังกล่าวในครั้งต่อไป ธนาคารออมสินได้ประสานกับกระทรวงการคลัง และธนาคารกรุงไทย ในการขอรายชื่อผู้ที่ได้รับอนุมัติรับเงินเยียวยา มาตรวจสอบและไม่นำไปหักบัญชีเพื่อชำระเงินกู้โดยอัตโนมัติอีก ด้าน นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าวว่า ภายหลังจากที่กระทรวงการคลังปรับแก้ไขระบบเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน โดยเพิ่มปุ่มยกเลิกลงทะเบียน เพื่อให้โอกาสกับประชาชนที่อาจจะไม่ได้ตั้งใจกรอกข้อมูลเป็นเท็จให้สามารถไปยกเลิกการลงทะเบียนได้ มียอดผู้ขอลงทะเบียนยกเลิกกว่า 610,000 คน หรือ 76,000 คนต่อวัน ส่วนสาเหตุที่มียอดผู้ยกเลิกลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก อาจเป็นเพราะกระทรวงการคลังได้ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง โดยสั่งการทีมกฎหมายของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ตรวจสอบอย่างเร่งด่วน รวมไปถึงกระทรวงการคลังตั้งทีมกฎหมายติดตามการเผยแพร่ข้อมูลของบุคคลต่างๆในโลกออนไลน์ แบ่งเป็น 2 กรณี 1. คนที่ได้รับเงิน 5,000 บาทจริง และมีการไปโพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ว่าได้เงินมาอย่างที่ไม่ควรได้ ซึ่งคลังจะตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง หากพบขาดคุณสมบัติจะระงับการจ่ายเงินในเดือนต่อไป พร้อมทั้งให้ส่งเงินที่ได้รับกลับคืน รัฐบาลจะไม่ดำเนินคดี 2. ผู้โพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ว่าได้รับเงิน 5,000 บาท แต่ไม่ได้รับจริง ถือเป็นการสร้างความปั่นป่วนกับสังคม จะถูกดำเนินคดีจากการนำเข้าข้อมูลเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
การที่จะได้เงิน 5,000 บาท ต้องได้รับผลกระทบและมีคุณสมบัติตามนโยบายรัฐจริงๆ นะคะ หากใครที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือมีเจตนาปั่นป่วนการทำงานของรัฐ ณ ตอนนี้มีกฎหมายแจ้งจับแล้วนะ #อย่าหาว่าจันไม่เตือน