นักวิชาการจีน เผย ไวรัสโคโรนา มีพาหะเงียบแบบไร้อาการ

นักวิชาการจีน เผย 4 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ พาหะเงียบซุกไวรัสโคโรนา แต่ไร้อาการ

(14 เม.ย. 63) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า แม้ว่าจีนมีจำนวนผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ติดโรคภายในประเทศอยู่ในระดับต่ำ อันเป็นผลจากมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด แต่ผู้ป่วยจากต่างประเทศและบรรดาพาหะไร้อาการของโรคนั้นกลับกลายเป็นประเด็นใหญ่ในหมู่ผู้ที่หวั่นวิตก ว่าจะเกิดการติดเชื้อใหญ่ระลอกที่สอง ตัวเลขล่าสุดจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) เมื่อวันอาทิตย์ (12 เม.ย. 63) เปิดเผยว่า จีนแผ่นดินใหญ่มีผู้ป่วยไม่แสดงอาการรายใหม่ 61 ราย ในจำนวนนี้มี 12 ราย มาจากต่างประเทศ ส่วนผู้ป่วยไม่แสดงอาการซึ่งเดินทางจากต่างประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 28 ราย ถูกจัดกลุ่มใหม่ให้อยู่ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยัน ขณะที่ผู้ป่วยไม่แสดงอาการที่ยังอยู่ภายใต้การสังเกตการณ์ทางการแพทย์ มีอยู่ 1,064 ราย เมื่อนับถึงวันอาทิตย์ (12 เม.ย. 63)

ประเด็นสำคัญ 4 ประการ เพื่อทำความเข้าใจผู้ที่เป็นพาหะซึ่งไม่แสดงอาการให้ดียิ่งขึ้น ดังนี้

1. แพร่เชื้อได้มากแค่ไหน?

เว่ยเซิ่ง ศาสตราจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ วิทยาลัยแพทย์ถงจี้ แห่งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหัวจง เผยว่า ความสามารถในการแพร่เชื้อของพาหะที่ไม่แสดงอาการขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป หากพบผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวหลังมีการกักตัวเป็นเวลานานในอู่ฮั่น อัตราการแพร่เชื้อจะอยู่ในระดับต่ำมาก ทว่าหากมีการพบผู้เป็นพาหะที่ไม่แสดงอาการในกลุ่มผู้ที่กลับมาจากที่ที่เกิดการแพร่ระบาดอย่างหนัก อัตราการติดเชื้อจะค่อนข้างสูง

ด้าน ถงจาวฮุย รองประธานโรงพยาบาลปักกิ่งเฉาหยาง ระบุว่า การติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการมีอยู่ 2 สองประเภท ประเภทแรกคือ กลุ่มก่อนเกิดอาการ (pre-symptomatic) หมายถึงผู้ป่วยที่ยังไม่พัฒนาอาการใดๆ แต่ที่จริงแล้วอยู่ในระยะฟักตัว (incubation) คนกลุ่มนี้ต้องถูกแยกออกมาและจัดการในลักษณะเดียวกับผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นโรค ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่ทั้งไม่แสดงอาการและไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิวิทยา (pathological changes) ในผลเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ซึ่งเป็นพาหะที่ไม่แสดงอาการโดยแท้จริง พวกเขาไม่ถูกนับเป็นผู้ป่วย แต่มีผลทดสอบกรดนิวคลีอิกออกมาเป็นบวก

ผลการวิเคราะห์โดยคณะกรรมการฯ เกี่ยวกับผู้ที่เป็น พาหะเงียบ ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่มีการรายงานจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.-8 เม.ย. 63 ชี้ว่าสัดส่วนของพาหะเงียบที่พัฒนาไปสู่ผู้ป่วยยืนยันผลนั้นกำลังลดต่ำลง โดยอัตราส่วนยังคงต่ำกว่าร้อยละ 11.2 หลังจากวันที่ 10 มี.ค. 63 เป็นต้นมา และในบางสถานที่ยังต่ำกว่าร้อยละ 6 อีกด้วย

2. การติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการจะก่อให้เกิดการระบาดซ้ำได้หรือไม่?

คำสั่งปิดการเดินทางขาออกของนครอู่ฮั่น ศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจีน ถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 63 หลังผ่านพ้นการปิดเมืองไป 76 วัน จึงมีการมุ่งความสนใจไปที่ความเสี่ยงของการแพร่เชื้อในที่ทำงานมากขึ้น

ถงจาวฮุย รองประธานโรงพยาบาลปักกิ่งเฉาหยาง ระบุว่า การติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการไม่ใช่อะไรที่พิเศษนักสำหรับโรคโควิด-19 โรคติดเชื้อต่างๆ อาทิ โรคหัด ไข้หวัดใหญ่ และโรคซาร์ส (SARS) ล้วนมีสัดส่วนของผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการในระดับหนึ่ง และไม่มีพาหะเงียบรายใดที่ก่อให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้างในสังคม การตรวจสอบทางระบาดวิทยาเบื้องต้นของทั้งโรคซาร์สและโรคโควิด-19 ได้พิสูจน์แล้วว่าพาหะที่ไม่แสดงอาการจะมีการแพร่เชื้อในระดับที่จำกัดมาก และจะไม่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อเป็นวงกว้าง พร้อมเสริมว่าความเสี่ยงต่างๆ ยังสามารถควบคุมได้อยู่ ตราบเท่าที่ยังมีการบังคับใช้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอย่างเต็มที่

หลี่ฉวิน ผู้อำนวยการศูนย์เหตุฉุกเฉินสาธารณสุข ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน (China CDC) กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการเตรียมการรองรับการกลับไปทำงานและการผลิต เพื่อรับมือกับความเสี่ยงแพร่เชื้อที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินทางของบุคคลที่เพิ่มขึ้น

3. มีการคัดกรองและจัดการพาหะที่ไม่แสดงอาการอย่างไรบ้าง?
แหล่งของพาหะที่ไม่แสดงอาการที่พบในอู่ฮั่นแบ่งเป็น 4 ประเภทหลักๆ ได้แก่ ผู้ติดต่อใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยัน ผู้ป่วยนอกทั่วไป พนักงานที่ผ่านการคัดกรองก่อนเข้าทำงาน และผู้ที่ผ่านการคัดกรองก่อนเดินทางออกจากอู่ฮั่น

หลี่ฉวิน ผู้อำนวยการศูนย์เหตุฉุกเฉินสาธารณสุข ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน (China CDC) ระบุว่า ปกติจะมีการรายงานผู้ป่วยไม่แสดงอาการรายใหม่ต่อศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคในพื้นที่ภายใน 2 ชั่วโมง และจะเสร็จสิ้นการสอบสวนภายใน 24 ชั่วโมง ผู้เป็นพาหะที่ไม่แสดงอาการจะต้องเข้าสู่มาตรการกักตัวและการสังเกตการณ์ทางการแพทย์เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยัน พาหะที่ไม่แสดงอาการนั้นควรอยู่ภายใต้การสังเกตการณ์ทางการแพทย์แบบรวมศูนย์เป็นเวลา 14 วัน หากปรากฏอาการใดๆ พวกเขาจะถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลที่กำหนดทันที และจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยัน ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องมีผลทดสอบกรดนิวคลีอิกออกมาเป็นลบ 2 ครั้ง หลังผ่านการสังเกตการณ์ทางการแพทย์ และจะต้องกลับมาติดตามผลเมื่อผ่านไป 2 สัปดาห์ ส่วนผู้ที่ติดต่อใกล้ชิดกับกลุ่มดังกล่าวจะต้องเข้าสู่ขั้นตอนการสังเกตการณ์ทางการแพทย์แบบรวมศูนย์เป็นเวลา 14 วัน เช่นกัน

4. เราจะทำอะไรได้บ้าง เมื่อเจอพาหะที่ไม่แสดงอาการ?
ถงจาวฮุย รองประธานโรงพยาบาลปักกิ่งเฉาหยาง กล่าวว่า ที่ผ่านมา ผู้เป็นพาหะที่ไม่แสดงอาการส่วนใหญ่ พบได้จากผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยัน “ดังนั้นผู้ที่ไม่เคยสัมผัสกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 จึงไม่น่าจะติดเชื้อและไม่ต้องวิตกกังวล

หลี่ฉวิน ผู้อำนวยการศูนย์เหตุฉุกเฉินสาธารณสุข ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน (China CDC) กล่าวเสริมว่า บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างชี้แจงว่าไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่ผู้ที่ไร้อาการต้องสงสัยหรือไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นโรคโควิด-19 จะต้องเข้ารับการทดสอบกรดนิวคลีอิก พร้อมทั้งเสริมว่าควรรักษานิสัยการรักษาสุขอนามัยที่ดีไว้ แม้จะผ่านพ้นการแพร่ระบาดไปแล้ว เราควรระวังตัวและหลีกเลี่ยงบางพฤติกรรมที่เกิดจากความไม่รู้ตัว เช่น การขยี้ตาหลังจากสัมผัสหน้ากาก

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน